What We Read: กุศลิน ศิริสนธิ

Kusalin
ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : กุศลิน ศิริสนธิ

อาชีพ : บรรณาธิการเว็บไซต์รีวิวร้านอาหาร OpenRice.com

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ส่วนใหญ่ชอบอ่านหนังสือช่วงก่อนนอน เพราะรู้สึกว่าเป็นเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง บรรยากาศเงียบๆ ทำให้มีสมาธิ บางทีนอนไม่หลับก็จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเพื่อให้หลับ แต่ถ้าเจอหนังสือดีๆ ก็จะกลายเป็นว่าอ่านหนังสือจนไม่ได้นอนแทน 555 หรือถ้าเสาร์อาทิตย์ไหนมีเวลาว่างๆ ชิลล์ๆ ก็จะหยิบหนังสือไปนั่งอ่านในร้านกาแฟบ้างเหมือนกัน (แอบมีไลฟ์สไตล์ฮิปสเตอร์เบาๆ) ถ้าไม่ได้มีหนังสือที่อ่านค้างไว้หรือกำลังติดพันเล่มไหนเป็นพิเศษ เวลาออกไปร้านกาแฟก็จะดูนิตยสารน่าสนใจที่มีในร้านมาอ่าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเลือกอ่านนิตยสารแฟชั่น ท่องเที่ยว และอาหาร ตามปกที่ตัวเองสนใจแต่ด้วยความที่ทำงานเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ ต้องมีไอเดียเพื่อเป็น output เยอะ บางครั้งก็จะนั่งอ่านนิตยสารอาหารต่างๆ ในเวลาทำงานเหมือนกัน เวลาที่คิดงานไม่ออก ไม่มีไอเดีย เริ่มตัน ก็จะหยิบนิตยสารอาหารมาอ่านค่ะ รวมถึงพวก Free Copy ต่างๆ ที่เจอแล้วเก็บมาด้วย

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
อยากบอกว่าเป็นคนอ่านหนังสือตามอารมณ์มากกกกก หัวเตียงจึงเต็มไปด้วยหนังสือหลายเล่มที่อ่านค้างไว้ คือบางทีเราอารมณ์ชิลล์ๆ ก็อยากอ่านอะไรเบาสมอง วันไหนเครียดก็อยากอ่านอะไรเหงาๆ วันไหนจริงจังก็อยากอ่านหนังสือจริงจังเสียดสีสังคมการเมืองตอนนี้มีอ่านค้างอยู่ ๓ เล่ม คือ อยากให้ลมหนาวหวนมาอีกครั้ง โดย อภิชาติ เพชรลีลา เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว โดย jirabell และ 1984 โดย George Orwell (พูดว่ากำลังอ่านเล่มนี้จะโดนเรียกไปปรับทัศนคติมั้ยเนี่ย แฮ่…) เล่มแรกได้รู้จักจากเพื่อนที่เรียนจบจาก ม.ช. คนนึง ช่วงก่อนหน้านี้ในเฟซบุคฮิตแท็คเพื่อนเพื่อแนะนำ ๑๐ หนังสือในดวงใจของแต่ละคน เราอ่านคำแนะนำที่เพื่อนเขียนไว้ว่าชอบเล่มนี้เพราะอะไรก็ประทับใจ เลยไปซื้อมาอ่านบ้าง

winter

เป็นเรื่องราวชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มนึงผ่านมุมมองการเล่าเรื่องของตัวเอกที่ชื่อ ธันวา อ่านมาได้เกือบๆ ครึ่งเล่มแล้ว ช่วงเวลาในเรื่องน่าจะเป็นยุคเดียวกับที่เราเองเรียนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากรทับแก้วเหมือนกัน จึงค่อนข้างประทับใจเพราะวิถีชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ใกล้เคียงกันมาก  ทั้งเรื่องการเรียน การรับน้อง ชีวิตเด็กหอ ความรักวัยใส แล้วก็เมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้น ส่วนตัวหลงเสน่ห์เชียงใหม่อยู่เป็นทุนเดิม ไปเที่ยวเกือบทุกปี ก็เลยจะพอนึกออกว่าย่านไหนอยู่ตรงไหน ก็เลยทำให้ยิ่งสนุกกับเล่มนี้ไปใหญ่ อีกอย่างที่ชอบคือ มีรูปวาดสีน้ำมันสวยๆ ประกอบแต่ละบทให้เห็นภาพอยู่ตลอดเรื่องด้วย ช่วงนี้เลยมุ่งมั่นอ่านเล่มนี้เป็นพิเศษ พยายามอ่านให้จบอยู่

สำหรับเล่มนี้เป็นความเรียงสั้นๆ ๕๐ เรื่อง พูดถึงเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ นี่ล่ะ ความเหงา ความสูญเสีย ความทรงจำวัยเด็ก อ่านไปก็จะรู้สึกเหมือนนั่งคุยกับเพื่อนถึงเรื่องคนนู้นคนนี้ที่เคยรู้จัก อะไรทำนองนั้น

wearenotalone

จริงๆ ที่ซื้อเล่มนี้มาอ่านเพราะตามทวิตเตอร์ของคนเขียนมาก่อน @jirabell คือรู้สึกว่าเป็นผู้ชายที่มีประเด็นความคิดที่มีเสน่ห์ดี และหลายๆ เรื่องในเล่มนี้ก็แตกประเด็นมาจากทวีตที่เราเคยเห็นผ่านตามาแล้วนี่ล่ะ เหมือนเป็นการขยายความทวีตอีกที แต่เหตุที่อ่านได้ไม่จบซักที เพราะบางทีฟิลในความเรียงมันเหงาๆ อ่านรวดเดียวหลายๆ เรื่องมันก็จะทำให้จิตใจห่อเหี่ยวไปด้วย ก็เลยเอาไว้อ่านเวลาเบื่อๆ เรื่องสองเรื่องก่อนนอนมากกว่า

สุดท้าย หนังสือต้องห้ามแห่งยุคสมัย จริงๆ อ่านมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดการรัฐประหารแล้วนะ แต่ยังอ่านไม่จบซักที อ่านๆ หยุดๆ เพราะเนื้อหาค่อนข้างเครียด อ่านแล้วต้องคิดตามเยอะ และหนังสือค่อนข้างหนา เลือกอ่านฉบับแปลไทยเพราะอยากดูสำนวนการแปลด้วยว่าดีงามมั้ย เพราะเล่มนี้ถือว่าเป็นงานขึ้นหิ้งเลยเรื่องการใช้คำที่สื่อความหมายหลายนัย ซึ่งเท่าที่อ่านสำนวนแปลฉบับนี้ทำได้ดีมากทีเดียว แปลได้เป็นธรรมมชาติและสื่อนัยยะได้ดี

1984

เนื้อหาของหนังสือเกี่ยวกับยุคสมัยหนึ่งที่ผู้ปกครองหรือ Big Brother (พี่เบิ้ม) มีอำนาจสูงสุดต่อทุกชีวิตในสังคม สามารถส่องกล้องดูความประพฤติของทุกคนได้ตลอดเวลา ห้ามทุกคนแสดงออกทางความคิด ต้องทำตามตารางชีวิตที่ทางการขีดเส้นและเขียนบทบาทมาแล้ว ห้ามแม้กระทั่งการมีความรักหรือการมีอารมณ์สุนทรีต่างๆ เรื่องราวเล่าผ่านมุมมองของ วินสตัน ผู้ชายที่คิดจะกบฎเพราะไม่อยากตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพี่เบิ้มอีกต่อไป เขาพยายามจดบันทึก และยังได้ทำผิดกฎอย่างมหันต์ด้วยการลักลอบมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่หญิงของพรรคแรงงานที่มีความคิดหัวกบฏเช่นเดียวกัน

สำหรับเล่มนี้คิดไว้ว่าถ้าอ่านเล่มแรกจบแล้ว จะมาอ่านต่อให้จบเป็นเล่มต่อไป

หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
จริงๆ หนังสือที่อ่านจบเป็นเล่มล่าสุดเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นตาหวานเพ้อฝัน เพราะชอบอ่านเวลาเครียดๆ ทำให้เราเหมือนหลุดไปจากโลกความเป็นจริงได้ชั่วคราว แต่ถ้าเป็นหนังสือจริงจัง เรื่องล่าสุดที่อ่านจบคือ ความไม่เรียบของความรัก โดย ฮิโรมิ คาวาคามิ

lovebump

เป็นเรื่องสั้นโดยนักเขียนญี่ปุ่น เนื้อหาเป็นเรื่องความรักที่ผิดหวังในรูปแบบต่างๆ (ดูจากชื่อก็น่าจะเดาได้ไม่ยาก) อารมณ์เวลาอ่านมันก็เลยจะ เหงา เศร้า ซึม ซะมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของเล่มนี้ รวมถึงเรื่องสั้นญี่ปุ่นหลายๆ เรื่องที่เคยอ่าน คือ ถึงจะเศร้าแต่ก็แฝงด้วยความสุข อ่านจบแล้วมันเลยรู้สึกเต็มตื้น รู้สึกว่า เออ เจอเรื่องแบบนี้มันก็เศร้าแหละ แต่มันก็เป็นความทรงจำที่ดี ใครชอบอ่านเรื่องสั้นแนะนำเลย

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
อย่างที่บอกไปแล้วว่าอ่าน 1984 ค้างไว้ ก็ตั้งใจจะกลับมาอ่านเล่มนี้ให้จบเป็นลำดับถัดไป ยิ่งสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ก็ยิ่งอยากกลับมาอ่าน ไม่ได้อ่านเพื่อนจะลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลหรืออะไร แต่อ่านเพื่อสะท้อนมุมมองทางการเมืองต่างๆ วิเคราะห์เปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน และดูสำนวนการแปลไปพร้อมๆ กันด้วย

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะแต่ละคนก็คงชอบหนังสือคนละแนว แต่ถ้าจะให้แนะนำหนังสือที่น่าจะมีประโยชน์กับทุกคนก็ขอเลือก Tuesdays with Morrie โดย Mitch Albom

tuesdaywithmorrie

จะสังเกตว่าเล่มที่มีเป็นแบบที่ซีรอกซ์มาจากหนังสือจริง เพราะนี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่ใช้เรียนสมัยมหา’ลัย ทุกวันนี้ยังรู้สึกขอบคุณอาจารย์ที่เลือกเล่มนี้มาให้นักศึกษาที่กำลังอยู่ในวัยคะนองอ่าน

เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนและครูมอร์รี่ ผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (โรคที่ช่วงปีที่แล้วทุกคนลุกขึ้นมาทำ Ice Bucket Challenge เพื่อรณรงค์กันนั่นล่ะ) เนื้อหาของหนังสือเป็นสิ่งที่เขาและครูมอร์รี่ได้เรียนรู้จากช่วงสุดท้ายของชีวิตของครูก่อนที่ครูจะเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว

การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เราค้นพบว่า การเรียนรู้ที่จะตายคือแนวทางในการใช้ชีวิตที่ดีที่สุด  นั่นก็คือ เมื่อเราตระหนักถึงความจริงที่ว่าคนเราเนี่ยมันสามารถตายไปได้ทุกเมื่อ เราก็จะรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต อะไรคือสิ่งที่เราควรใส่ใจ อะไรคือสิ่งที่เราควรเลือกทำ จะได้ไม่มัวแต่ยึดติดกับอะไรโง่ๆ แล้วต้องมาเสียดายหรือเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

จริงๆ เนื้อหาและแนวคิดต่างๆ ในเล่มนี้เป็นแนวคิดแบบพุทธมากๆ แต่อ่านแล้วไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อเหมือนอ่านหนังสือธรรมะ และก็ไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดหลักการการทำดีมากมายด้วย อ่านแล้วจะมีความคิดขึ้นมาได้เองว่าเราควรใช้ชีวิตให้มีสติ

เล่มนี้แนะนำสำหรับคนที่อยากฝึกอ่านภาษาอังกฤษด้วยนะ เพราะผู้เขียนเลือกเล่าเรื่องด้วยภาษาง่ายๆ เข้าใจง่าย มีศัพท์เกี่ยวกับโรคที่ยากนิดหน่อย แต่รูปประโยคอื่นๆ เหมาะกับคนเริ่มอ่านภาษาอังกฤษทีเดียว

One thought on “What We Read: กุศลิน ศิริสนธิ

Leave a comment