หนังสือในดวงใจ ๑๐ เล่ม (ตอนที่ ๑)

My desk / September 7, 2014

หมายเหตุ : โพสต์นี้ผมเขียนและโพสต์เอาไว้ในบลอกส่วนตัวตั้งแต่เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๗ แต่เอามาโพสต์ซ้ำอีกครั้งที่นี่เนื่องจากเห็นว่าเนื้อหาเกี่ยวข้องกันครับ

สืบเนื่องจากน้องเมย์ แห่ง Openrice.com ได้แถ่กมาในเรื่อง ๑๐ อันดับหนังสือในดวงใจ หลังจากที่ใช้เวลาพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว (แปลว่า อู้) ก็ได้มาดังรายการต่อไปนี้ครับ

(หมายเหตุ : ไม่ได้เรียงตามลำดับความชอบ ความสำคัญใดๆ ทั้งสิ้น ชอบเท่ากันหมด)

๑. หนังสือแปลของคุณสุวิทย์ ขาวปลอด

ผมได้อ่านหนังสือฝีมือแปลของคุณสุวิทย์ ขาวปลอด มาตั้งแต่ช่วงเรียนมอปลาย อ่านแล้วชอบสไตล์ เรื่องที่พี่เค้าเลือกมาแปลก็ใช่เลย บู๊ ล้างผลาญ เขย่าขวัญ สั่นประสาท อะไรแนวนี้ ตามอ่านได้สักพักมั่นใจว่าใช่แน่ ก็ตัดสินใจสมัครเป็นสมาชิกสำนักพิมพ์วรรณวิภาของคุณพี่ เป็นแบบพรีเพด ส่งเงินไปให้ก่อน (นี่มาก่อนบริษัทมือถืออีกนะ ใครว่าวงการหนังสือเชย) เวลาหนังสือเล่มใหม่ออกก็จะส่งมาให้ที่บ้าน ทางสำนักพิมพ์ก็ตัดยอดเงินไป ให้ส่วนลดด้วย ถ้าจำไม่ผิดน่าจะ ๓๐%

วิธีนี้คนอ่านกับสำนักพิมพ์ซื้อใจกันขนาดที่ว่า คนอ่านไม่ต้องรู้ว่าเล่มหน้าจะเป็นเรื่องอะไร ของนักเขียนคนไหน ขอให้เชื่อมือเชื่อรสนิยมคุณสุวิทย์เถอะว่า ไม่มีผิดหวัง ส่วนสำนักพิมพ์ก็แฟร์ว่า ถ้าส่งไปแล้ว ลองอ่านดูแล้วคิดว่าไม่ใช่แนว ก็ส่งมาคืนได้ ไม่คิดเงินด้วย เชื่อใจกันขนาดนั้นเลย

ผมได้อ่านงานของนักเขียนดังๆ หลายคนในสมัยนั้นก็จากการแปลของคุณสุวิทย์และนักแปลคนอื่นในสำนักพิมพ์นี่เอง อย่าง Stephen King (นี่ไม่ต้องแนะนำ) Michael Crichton (นี่ดังมาตั้งนานก่อนจะมาระเบิดระเบ้อกับ Jurassic Park) Tom Clancy (พี่คนนี้ชอบเหลือเกินกับแนว techno thriller รบกันเนี่ย) ผมอ่านงานแปลของคุณสุวิทย์มาตั้งแต่เรียนมอปลาย เข้ามหา’ลัย จนจบออกมาทำงาน ต่อมาอีกหลายปีจนคิดว่าน่าจะพออ่านงานฉบับภาษาอังกฤษได้แล้วถึงได้เลิกราการอ่านงานแปลของคุณสุวิทย์ไป

ในบรรดาหนังสือแปลของคุณสุวิทย์ ขอเลือกเล่มนี้ เพราะเป็นเล่มแรกๆ ที่ได้อ่าน (ดูสภาพเอาแล้วกันว่านานแค่ไหนแล้ว) และทำให้ซื้ออ่านมาเรื่อยๆ อย่างที่ว่ามาครับ

ท้าสู้ผีนรก / Stephen King - สุวิทย์ ขาวปลอด

๒. On Writing โดย Stephen King

ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน จะมีหนังสืออยู่ประเภทนึงที่ผมมักจะซื้อเก็บไว้ ว่างๆ ก็หยิบมาอ่าน ตอนนี้ก็มีหลายเล่มอยู่ ก็คือหนังสือเกี่ยวกับการเขียน โดยเฉพาะถ้าเป็นนักเขียนมาเขียนเองนี่ชอบมาก แต่ในบรรดาทั้งหลายทั้งปวงที่มีชอบเล่มนี้มากที่สุด

On Writing / Stephen King

ผมได้อ่านงานของ King มานานจากการแปลของคุณสุวิทย์ (ตามที่เล่ามาในข้อ ๑) King เป็นนักเขียนเรื่องสยองขวัญที่ขายดีโคตรๆ (จริงๆ ถ้าใช้สำนวนผม อาจจะหยาบนิดนึงนะ ต้องบอกว่า ขายดีเหี้ยๆ ถ้าเจ๊ J.K. Rowling ไม่ได้พิมพ์ Harry Potter ก็น่าจะยังครองอันดับ ๑ นักเขียนขายดีที่สุดของโลกอยู่) มีนิยายและเรื่องสั้นที่เอาไปทำหนังหลายเรื่อง ที่ติดตาตรึงใจใครหลายๆ คนก็อย่างเช่น Stand By Me หรือ The Shawshank Redemption แต่เล่มนี้ King เขียนเรื่องการเขียนหนังสือบวกกับอัตชีวประวัติตัวเอง จากเด็กที่ชอบเขียนหนังสือจนโตขึ้นมาเป็นนักเขียนที่ดิ้นรนพยายามเลี้ยงชีพตัวเองด้วยงานเขียน จนมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จ

King เขียนหนังสือเล่มนี้หลังจากที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนจนเกือบเสียชีวิตและได้เล่าประสบการณ์เฉียดตายวันนั้นเอาไว้ด้วย

เล่มนี้ครั้งแรกผมซื้อเป็นฉบับปกอ่อนมาก่อน แล้วมีวันนึงไปเจอเล่มปกแข็งที่ร้านหนังสือมือสองเจ้าประจำก็เลยซื้อเก็บไว้อีก

๓. พันธุ์หมาบ้า โดย พี่ชาติ กอบจิตติ

แต่ไหนแต่ไรมาผมเป็นคนไม่อ่านหนังสือแนวเพื่อชีวิต เพื่อสังคม ชีวิตทุกข์ยาก ลำบากลำบน รวมถึงวรรณกรรมเข้มข้น จริงจัง เลยนะครับ จะหยิบอ่านก็ชวนให้หาวเรอเสียทุกครั้งไป ซึ่งพี่ชาติมาแนวนี้ เพราะฉะนั้นวางใจได้ว่าไม่เคยคิดอ่านงานของพี่เค้าเลย ยิ่งพี่เค้าได้ซีไรต์จาก คำพิพากษา ด้วยนะ ผมยิ่งมั่นใจว่าไม่ใช่แนวกูแน่ๆ

พันธุ์หมาบ้า / ชาติ กอบจิตติ

จนกระทั่งพี่เขียนพันธุ์หมาบ้าออกมานี่แหละ ทีแรกก็นึกว่าแนวนั้นแหละ เลยไม่ได้สนใจ จนกระทั่งได้อ่านคำวิจารณ์กับมีคนพูดถึง โดยเฉพาะเรื่อง “กล้วย” และ “เครื่องปอกกล้วย” ก็เลยลองไปพลิกๆ ดูในร้านหนังสือ ถึงได้รู้ว่า เฮ้ย แม่มใช่เลย เกือบพลาดแล้วกู เล่มนี้ก็เลยเป็นงานเขียนเล่มแรกของพี่ชาติที่ได้อ่าน แล้วต่อมาก็ลามไปเล่มอื่น แม้กระทั่งคำพิพากษาที่ทีแรกไม่เอาเลย สุดท้ายก็กลับมาอ่าน รวมไปถึงงานและบทสัมภาษณ์พี่ชาติหลังจากนั้นด้วย

เรียกได้ว่าพันธุ์หมาบ้าเป็นเล่มที่ทำให้ได้อ่านงานพี่ชาติและติดตามมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อสิบกว่าปีก่อนร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์ จะมีจัดงานเสวนาพบนักเขียนทุกบ่ายวันศุกร์ ครั้งนึงเชิญพี่ชาติมา ผมแว่บออกไปฟังแล้วเอาหนังสือให้พี่เค้าเซ็น เป็นการขอลายเซ็นคนครั้งแรกในชีวิตอ่ะ

(หมายเหตุ : มีเรื่องนึงที่สงสัย เด็กยุคนี้ยังอ่านพันธุ์หมาบ้ากันอยู่มั้ย?)

๔. ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน โดย พี่วินทร์ เลียววาริณ

เล่มนี้ซื้อมาแล้ววางไว้ กว่าจะอ่านก็นานมาก เหตุที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองนะครับ แต่พอเริ่มอ่านแล้วสนุกมาก โคตรทึ่งที่พี่วินทร์เอาประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาเป็นแบคกราวน์แล้ววางโครงเรื่องทับซ้อนลงไป แล้วเล่าออกมาได้สนุกขนาดนี้

ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน / วินทร์ เลียววาริณ

ตอนที่อ่าน The Da Vinci Code ของ Dan Brown ยังนึกถึงเล่มนี้อยู่เลยว่ามาสไตล์คล้ายกัน เอาประวัติศาสตร์เป็นพื้นหลังแล้วเขียนเติมเข้าไป อาจจะบิดหรือเติมบางอย่างเข้าไปให้เรื่องสนุกขึ้น เล่มนี้เป็นอีกเล่มนึงที่อ่านแล้วหยิบมาอ่านซ้ำ

๕. งู โดย วิมล ไทรนิ่มนวล

คุณวิมลเป็นอีกคนนึงที่ผมจัดอยู่ในกลุ่มนักเขียนวรรณกรรมเข้มข้น จริงจัง แนวเพื่อชีวิต ก็เลยไม่เคยสนใจจะอ่านงานของพี่เค้าเลย โดยเฉพาะงานก่อนหน้าเล่มนี้คือ คนทรงเจ้า ดูคร่าวๆ แล้วไม่ใช่แนวแน่ๆ แต่เล่มนี้ก็มีเหตุบังเอิญไปเจอในร้านหนังสือแล้วปกสะดุดตาเลยหยิบมาพลิกๆ ดู (เป็นบทเรียนว่า ปกหนังสือ ช่วยกระตุ้นยอดขายได้นะครับ) แล้วเรื่องที่เขียนตรงกับที่ใจคิดพอดี ก็เลยซื้อมาอ่านและชอบมาก สุดท้ายก็กลับไปอ่านคนทรงเจ้าต่อนะ (เหมือนเคสพี่ชาติเลย)

งู / วิมล ไทรนิ่มนวล

งู เป็นเรื่องที่พูดถึงคนในผ้าเหลืองที่สูบกินจากสังคมรอบข้าง โดยอาศัยความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านเป็นเครื่องมือ (ฟังดูคุ้นๆ มั้ย?) จริงๆ มีประเด็นและสาระอื่นอยู่ด้วยนะ แต่ผมอ่านแล้วมีปัญญาจับมาแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว

 

ทีแรกว่าจะเขียนให้ครบทั้ง ๑๐ เล่ม แต่นี่แค่ ๕ เล่มแรกก็ยาวขนาดนี้แล้ว ที่เหลือขอเอาไว้ต่อโพสต์หน้านะจ๊ะ (แปลว่า อู้อีกแล้ว)

One thought on “หนังสือในดวงใจ ๑๐ เล่ม (ตอนที่ ๑)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s