ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ
ชื่อ-นามสกุล : นพพร พวงสมบัติ
อาชีพ : นักวิเคราะห์นโยบายและแผน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ก่อนจะเล่าเรื่องการอ่าน ขอขอดเกล็ดตัวเองนิดนึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนที่โดนคำถามเรื่องการอ่านนี่ก็นึกย้อนมาสงสัยตัวเองเหมือนกันว่า “เฮ้ย! ทำไมกูอ่านหนังสืออย่างนี้วะครับ” เลยนึกย้อนไปถึงสมัยเด็กๆ เพราะคิดว่าเรื่องราวสมัยนู้นมันคงมีส่วนทำให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้นี่แหละ ที่บ้านเป็นครอบครัวข้าราชการระดับล่างๆ มีหนังสือในบ้านก็ไม่มากอะไร แต่ผมจะสนใจไปทำไมเพราะโลกของเด็กคือการออกไปวิ่งเล่นซนกับเพื่อนข้างนอก เล่นดีดลูกแก้ว โยนหุ่น ปีนต้นไม้ ฯลฯ อะไรกันไป หนังสือที่อยู่ในบ้านหากพอจะมีเวลาอ่านผ่านตาบ้าง ก็เป็นพวกหนังสือของพ่อกับแม่ที่ได้อภินันทนาการจากการทำงานหรือใช้ทำงาน ตำรับอาหารนานาชาติ ของแม่นี่เป็นเล่มนึงเลยที่นั่งอ่านมาตั้งแต่เด็ก เคยมีเอามาลองทำขนมกินกันเองด้วย…แต่ไม่สำเร็จเพราะเมนูอาหารนานาชาติไม่เหมาะกับอุปกรณ์ในครัวไทยสไตล์ Local เรื่องที่จำขึ้นใจเรื่องนึงคือ เมนูยำผ้าขี้ริ้ว ก็แบบสงสัยมากประสาเด็กๆ ว่า “เฮ้ย! ผ้าขี้ริ้วที่กูใช้ถูบ้านนี่เอามากินได้ด้วยเหรอวะเนี่ย เอาเหอะใครจะกินก็กิน…กูคนนึงล่ะที่จะไม่กิน” กว่าจะรู้ว่า “ผ้าขี้ริ้ว” ที่ว่าเป็นชิ้นส่วนเครื่องในของวัวก็โตจนนั่งกระดกเหล้ากับเพื่อนแล้วมีผ้าขี้ริ้วลวกจิ้มวางแนมอยู่ข้างวงเหล้าแล้ว อีกเล่มคือหนังสือสุขภาพอะไรซักอย่างที่จดจำเอาท่าโยคะมาฝึกเล่นส่วนตัว โดยเฉพาะท่าศพอาสนะที่เซียนมาก ทำแล้วหลับยาวเลย
ด้วยความที่ไม่ได้เป็นครอบครัวมีตังค์อะไรมาก หนังสือเลยดูเหมือนจะเป็นของใช้ฟุ่มเฟือยขึ้นมาทันที ซื้อหนังสือมาอ่านจึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีอยู่ในหัว แบบว่าถ้ามีตังค์กูซื้อของเล่นก่อน…ฮ่าฮ่าฮ่า นอกจากหนังสือเรียนที่ต้องอ่านสอบแล้ว หนังสือที่ต้องถือว่าเป็นการอ่านแบบนักอ่านในสมัยเด็ก ก็มีมาจากหนังสืออ่านนอกเวลาที่ครูบังคับให้อ่านนั่นแหละ กับหนังสือในห้องสมุดที่ต้องเอามาทำรายงานส่งครู และแม้ว่าโตมาจะชอบไปเดินเล่นที่ร้านหนังสือใหญ่ประจำจังหวัดอยู่บ่อยๆ แต่โซนที่ไปเดินดูกลับเป็นแผนกเครื่องเขียน ส่วนหนังสือเล่มที่ยอมควักกระตังซื้อมาลองอ่านบ้าง จำได้ว่าเป็นพ๊อคเกตบุ๊คชื่อดัง ต่วยตูน เพราะดูชื่อแล้วท่าทางจะมีเรื่องสนุกกับภาพการ์ตูนเยอะ…เออ! ดูมันสิครับ
โตมาจนเข้ามหาวิทยาลัยผมยังหลงระเริงกับการเฮฮาไปเรื่อยเปื่อย ไม่รู้จักโลกแห่งการอ่านอะไรเลย รู้จักชื่อนักเขียนบ้างก็เพราะเคยได้ยินหรืออ่านข่าวคราวในหนังสือพิมพ์-ดูทีวีเท่านั้น เรื่องจะตามอ่านน่ะเรอะ…ไม่มีซะหรอก ก็เชื่อมั้ยเล่าว่าวันที่ได้ย้ายเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อนรักชวนเดินเข้าร้านหนังสือดอกหญ้าท่าพระจันทร์ ผมก็ไม่รู้จะเลือกอ่านอะไร จนเพื่อนมันเลือกหนังสือชุดสามก๊กฉบับวณิพกไปได้ ๓-๔ เล่มแล้วก็จะกลับกันแล้ว สุดท้ายผีห่าก็ดลใจให้ผมหยิบ ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นไซส์พ๊อกเกตบุ๊กพื้นสีเทา มีภาพผู้หญิงผู้ชายตัวสีแดงยืนชี้ไปในท้องฟ้า ไอ้ที่หยิบขึ้นมาก็เพราะคิดว่ามันน่าจะเป็นหนังสือแนว Thriller สมกับชื่อ ปีศาจ เท่านั้นแหละ ไม่ได้คิดเป็นอื่นเล้ย หยิบมานอนอ่านเล่นที่คณะรุ่นพี่ยังแซวว่า “แหม! หัวก้าวหน้าเชียวนะมึง” ก็ไม่ได้ get (เชี่ย) อะไรเลยครับ บอกกลับแค่ว่า “เฮ้ย! พี่ผมอ่านมาเกือบจะครึ่งเล่มแล้วนี่ยังไม่เห็นมีปีศาจซักตัวเลยครับพี่” …ดูเอาเหอะว่าผมนี่แม่งหน่อมแหน้มเรื่องการอ่านขนาดไหน
วันที่ผลักให้ผมดูเหมือนจะเข้าสู่โลกการอ่านอย่างจริงจัง (หมายถึงอ่านในแบบของผม..ไม่ได้เทียบกับใคร) คือ หลังจากวันที่มหาวิทยาลัยสั่งทัณฑ์บนผมไว้จนกว่าจะจบการศึกษาตั้งแต่ปลายๆ ปีที่สอง ผลของการโดนทัณฑ์บนเลยทำให้ผมต้องออกไปจากเวทีกิจกรรมนักศึกษาที่ทำอยู่ (และใช้เวลามากกว่าในห้องเรียน) ผนวกกับวิชาที่เรียนก็ต้องอ่านหนังสือเยอะพอควร ก็เลยได้ฤกษ์เข้าไปฝังตัวในห้องสมุดตั้งแต่นั้น อ่านหนังสือเรียนเบื่อ ก็หาหนังสือนู่นนี่นั่นอ่าน อ่านเล่มนี้เลยเถิดต่อไปถึงเล่มนั้น เพื่อนนักอ่านเปรยๆ ว่าเล่มนั้นดีก็ลองไปหยิบมาอ่านมั่ง อ่านเองตีความเอง เข้าใจเอง อ่านไม่เข้าใจลองไปหาหนังสือวิจารณ์อ่านเพิ่มเติมบ้างว่าที่ว่าดีนั้นยังไง…เอ้อ! ถึงพอได้รู้เลาๆ ว่าโลกหนังสือและวรรณกรรมมันเป็นอย่างนี้เอง
อินโทรกันพอหอมปากหอมคอก็จะขอกลับมาตอบปัญหาดังนี้
คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ไม่ได้จัดสรรจริงจัง แต่พยายามอ่านทุกครั้งที่ว่างจากการงานจิปาถะ ชดเชยการอ่านในวัยเด็กที่เอาเวลาไปบ้าพลังอยู่อย่างเดียว พอดีเป็นคนที่ถ้าได้อ่านแล้วมันสนุก ก็จะตะบี้ตะบันอ่านทุกครั้งที่มีเวลา เคยอ่านนิยายจีนจนกระทั่งเพื่อนบ้านเคยแซวว่า มึงสำเร็จวิทยายุทธ์ขั้นไหนแล้ว แต่ปกติคือจะพยายามอ่านหนังสือ ๑ – ๒ บทก่อนนอน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องพยายามสร้างวินัยฝ่ายดีให้กับตัวเองบ้าง อีกเรื่องที่รู้สึกคืออ่านก่อนนอนนี่เหมือนเป็นการชะลอตัวเองให้นิ่งลง เหมือนสวดมนต์อะไรอย่างนั้นข้อสุดท้ายคือพยายามทำเป็นตัวอย่างให้ไอ้ตัวเล็กในบ้านดูว่า “ก่อนนอนเอ็งไม่ต้องเล่นเกมได้มั้ยเนี่ยเฮ้ย”
ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
ด้วยความที่อ่านหนังสือเรื่อยเปื่อยไร้รูปแบบ และก็พยายามใฝ่ดีอยู่บ้าง..ว่างั้น เลยมีหนังสือที่กำลังอ่านกองไว้ในที่ต่างๆ ให้ใกล้มือ ๒ – ๓ เล่ม เล่มที่อ่านๆ อยู่ช่วงเวลาพักระหว่างวัน คือ เพลงของพอล —หนังสือรวมบทวิจารณ์เพลงของพอล เฮง จากหน้าหนังสือพิมพ์มติชน เป็นคอลัมน์ที่แนะนำเพลงในอัลบั้มของศิลปินต่างๆ
อีกเล่มนึงคือ ไอ้หนูซามูไรวิถีแห่งนักรบ —หนังสือเยาวชนที่เขียนโดยฝรั่งเล่าเรื่องซามูไร แปลโดยคนไทยนามปากกว่า “ธารพายุ” พอดีก่อนหน้านี้อ่านวรรณกรรมเยาวชนเล่มนึงชื่อ หอบช้างหนีสุดแผ่นดิน ที่แปลโดยผู้ใช้นามปากกาเดียวกัน ก็เลยค่อนข้างเชื่อมั่นในคุณภาพของหนังสือที่ผู้แปลเลือกมาและสำนวนการแปลที่อ่านสนุก
อีกเล่มนึงที่อ่านเป็นยานอนหลับก่อนนอน คือ ไวโอลินของไอน์สไตน์ —เป็นบันทึกข้อเขียนทัศนะเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ สังคมและดนตรีของวาทยากรที่สนใจฟิสิกส์ ผู้เขียนชื่อโจเซฟ อีเกอร์ ตัวโปรยหนังสือที่เขียนความในใจของไอน์สไตน์ที่ว่า “หากไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์ผมคงเป็นนักดนตรี” ผมว่าโจเซฟ อีเกอร์คงรำพึงในทางกลับกันว่า “ถ้าไม่ได้เป็นนักดนตรี ผมคงเป็นนักฟิสิกส์” เหมือนกัน ก็คงจะน่าสนุกดีสำหรับผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์ แต่คนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องฟิสิกส์และดนตรีก็ยังจะได้เห็นเรื่องราวบันทึกสังคมในมิติวิทยาศาสตร์และดนตรีได้เพลินอยู่บ้าง แล้วถ้าเผื่อสนใจสนุกกับทฤษฎีฟิสิกส์และประวัติศาสตร์ดนตรี เล่มนี้ก็น่าจะเป็นเชื้อปะทุที่พอใช้ได้เล่มนึง —ทั้งสามเล่มได้มาจากแผงหนังสือลดราคาในวาระต่างๆ แบบว่าอ่านอะไรก็ได้ข้อให้ไม่แพงนักก็พอ.. ฮ่าฮ่า
หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
หนังสือเล่มที่เพิ่งอ่านจบ คือ หูหาเรื่อง ของเผ่าจ้าว กำลังใจดี หนังสือรวมบทวิจารณ์ศิลปิน-ดนตรีในรูปของเรื่องสั้น ได้มาจากกองหนังสือข้างเคียงกันกับหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ จะว่าไปหยิบหนังสือวิจารณ์บันเทิงมาอ่านนี่ก็ดูจะมีเหตุผลลึกๆ อยู่บ้าง คือสมัยเรียนหนังสือนี่มีโอกาสได้อ่านนิตยสารสีสัน เป็นประจำ ก็ได้ใช้ข้อมูลจากสีสัน ในการไปดูหนังฟังเพลงอะไรไปเรื่อยเปื่อย แต่พอชีวิตเข้าสู่วัยทำงานนี่เหมือนจะฟังเพลงอะไรน้อยลง พื้นที่ที่อยู่ก็มีการฟังเพลงอะไรต่างไปจากสมัยเรียน ก็เลยไม่ค่อยได้ติดตามสนใจอะไร ฟังเพลงไปตามกระแสที่เปิดๆ กันเท่านั้น พอเห็นหนังสือแนววิจารณ์เพลงก็ลองหยิบมาอ่านดูบ้างว่าช่วงที่ผ่านๆ มานี่มันมีอะไรที่เราพลาดไปหรือเปล่า ซึ่งก็ดูจะได้ความรู้อะไรเพิ่มเติมมามากกว่าราคาที่จ่ายไปพอควร ตอนนี้เลยมีโอกาสกลับไปหาเพลงในยูทูบจากศิลปินและอัลบั้มที่แนะนำไว้ในหนังสือมาฟังระหว่างทำงานอยู่บ้าง
หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
ที่จริงหนังสือที่ตั้งใจจะอ่าน ก็คือกองหนังสือที่ไปซื้อมาอ่านแล้วยังไม่ได้อ่านนั่นแหละ มีหลายเล่มมากซึ่งบางเล่มก็อ่านๆ ไปแล้วแต่มีอะไรมาขัดจังหวะทำให้อ่านไม่จบซะที ถ้าจะให้เลือกเอามาซักเล่มก็น่าจะเป็น รุกสยามในนามของพระเจ้า เป็นวรรณกรรมขนาดยาวเขียนยั่วล้อประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยใช้ข้อมูลจากบันทึกจดหมายเหตุมาอ้างอิงประกอบด้วย มันสนุกก็ตรงนี้แหละ ตรงที่มันเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์มุมกลับที่เล่นตลกเอากับวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของคนในประวัติศาสตร์ไทย เล่มนี้อ่านไปได้พอควรแล้ว แต่ไปสะดุดความใหญ่ของหนังสือเลยทำให้เอาไปอ่านที่ไหนไม่ค่อยสะดวก ต้องอ่านไปวางไปจนสุดท้ายวางไปมากกว่าอ่านไป เลยไม่จบซักที ถ้าให้แถมอีกเล่มที่คิดจะอ่าน ก็คือเรื่อง สามก๊ก นี่แหละครับ เผอิญช่วงนึงมีโอกาสได้อ่าน โจโฉนายกตลอดกาล ของหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เลยมีแรงกระตุ้นให้อยากกลับไปอ่านสามก๊กที่วางอยู่บนชั้นหนังสือในบ้านมานานแล้ว
หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
สำหรับคนที่เพิ่งมาหัดอ่านหนังสือตอนโตอย่างผม ถ้าให้เลือกหนังสือที่อ่านจบแล้วอยากแนะนำให้คนอื่นอ่านต่อ ก็เป็นร้อยล่ะครับ เพราะชั่วโมงการบินด้านการอ่านน้อยเหลือเกิน คืออ่านเจออะไรดีนิดนึงก็ดีไปหมดทั้งเล่มเลยนั่นแหละ แต่ถ้าจะมีให้เลือกมาบ้างเท่าที่นึกออกก็จะมี
ติสตูนักปลูกต้นไม้ —วรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องของเด็กชายผู้มีมืออันวิเศษสามารถปลูกต้นไม้ให้งอกงามได้อย่างอัศจรรย์ แต่นอกจากต้นไม้ที่ติสตูปลูกแล้วเด็กน้อยยังปลูกความรักในหัวใจของผู้คนด้วย
โต๊ะก็คือโต๊ะ —เรื่องเล่าสำหรับเด็กที่น่าจะมี “วาทกรรม” เยอะที่สุดในโลกนี้ละ เล่มนี้อ่านตอนที่มีโอกาสกลับเข้าชั้นเรียนในช่วงที่โลกสังคมศาสตร์กำลังเข้าสู่ยุคโพสต์ และมีโอกาสรู้จักโรลองด์ บาร์ท (Roland Barthes) ซึ่งได้สร้างความเชื่อชุดใหม่ในหัวผมว่า เฮ้ย!…“อเมริกาไม่มีจริง”
ภูเขาวิหารและโดมแห่งศิลา —ข้อเขียนของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันเป็นรากฐานความขัดแย้งของยูดาห์ คริสต์และอิสลามในเขตตะวันออกกลางผ่านศาสนสถานอันเป็นที่เคารพร่วมกันของทั้งสามศาสนา เล่มนี้มาโนช พุฒตาล บุตรของฯ ยังเอ่ยปากว่าถ้าจะมีหนังสือซักเล่มที่เขียนเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ (ขัดแย้ง) ของยิว-คริสต์-อิสลาม ก็น่าจะเป็นหนังสือเล่มนี้นี่แหละ
ผมเพียงแต่จะบอกว่า —รวมบทบรรณาธิการคัดสรร บ.ก.นิตยสารจีเอ็ม คุณปกรณ์ พงศ์วราภา คือ ถ้าเคยอ่านข้อเขียนในเว็บประเภทสิ่งที่ควรรู้ก่อนตาย สิ่งที่ควรรู้เมื่อวัย ๔๐ รู้งี้ตั้งใจเรียนตั้งแต่เด็กแล้ว ฯลฯ อะไรประมาณนี้ คือเฮียปกรณ์เค้าเขียนบอกไว้เมื่อปีมะโว้แล้วเว้ยเฮ้ย คือแกไม่ได้เขียนอะไรพรรค์อย่างนั้นจริงๆ หรอกนะครับ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่แกเขียนนี่แกได้มาจากประสบการณ์การใช้ชีวิตของแกเองนั่นแหละ และก็ถ่ายทอดด้วยคำง่ายๆ เพื่อบอกคน “หนุ่ม” รุ่นต่อๆ ไปว่า…นะชีวิตมันเป็นของมันอย่างนี้เว้ยเฮ้ยหนุ่มสาว จงใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ที่เหลือก็ไปหาอ่านเอาเองละกัน
จิมกระดุม —เริ่มจากจิมกระดุมกับลูคัสคนขับหัวรถจักร และต่อเนื่องไปยัง จิมกระดุมกับ 13 ป่าเถื่อน คือถ้าจะมีอะไรที่สื่อถึงคุณค่าของ Positive Thinking ล่ะก็ จิมกระดุมนี่คือหนึ่งในเรื่องราวนั้น
ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน (The Alchemist) —-เขียนโดยเปาโล โคเอโย (Paulo Coellho) นักเขียนชาวบราซิล แปลโดย อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เอาแค่ชื่อคนแปลก็คาดหวังได้ว่าท่านจะเชื้อเชิญให้เราออกไปค้นพบ ”ปัญญา” สมกับที่ท่านเป็นโต้โผของโครงการจัดพิมพ์หนังสือและตำรา “คบไฟ” เรื่องเล่าของเด็กหนุ่มที่ออกท่องไปในดินแดนทะเลทราย ซึ่งจะนำเราไปเรียนรู้ ค้นหาความหมายของชีวิตและ….ฯลฯ
ส่งท้าย….ผมเคยอ่านหนังสือจนเกือบเชื่อว่า You are what you read หรือแบบว่า “เฮ้ย! ถ้าคุณมึงอยากรู้จักผมก็เอาหนังสือที่ผมอ่านไปอ่านดู แล้วคุณจะรู้ว่าผมเป็นยังไง” คือ ที่ต้องบอกว่า “เกือบ” นั่นก็เพราะผมเจอมากับตัวเองว่าเพื่อนที่มันนั่งอ่านหนังสือเล่มเดียวกับเราอยู่ มันยังคิดไม่เหมือนกันเลยว่ะเฮ้ย มันก็น่าจะใช่อยู่เหมือนกันนิครับ เราถูกหล่อหลอมเติบโตขึ้นมาต่างกัน วิถีในการรับรู้เข้าใจโลกก็ต่างกัน การตีความสารที่วิ่งพล่านในโลกนี้ก็คงต่างกันไป นะไม่งั้นเราก็คงไม่เถียงกันเรื่องประชาธิปไตยกันจนเอาเป็นเอาตายหน้าดำคร่ำเครียดจนต้องมีคนมาคืนความสุขให้เราอย่างทุกวันนี้
เราไม่ได้ดีเลวเก่งแย่ถ้าไม่หรือเคยอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้หรือเล่มไหนๆ หนังสือมันรับใช้ผู้เขียนแค่เมื่อมันเขียนจบพิมพ์เป็นเล่มเท่านั้นแหละ ส่วนที่ว่ามันจะรับใช้ผู้อ่านอย่างไร ก็เป็นเรื่องของผู้อ่านแต่ละคนจะเลือกตามแนวทางของตนเอง ยังไงก็…ขอให้มีความสุขในการอ่านหนังสือที่คุณเลือกเรื่อยไปขอรับ