รีวิวหนังสือ : The Blind Side – เรื่องราวของชนชั้นที่เล่าผ่านโลกกีฬา

The Blind Side by Michael Lewis

หลังจากจบหนังสือเล่มล่าสุดของพี่ชาติ กอบจิตติ ไป (อ่านได้ที่นี่ครับ) ผมหยิบเล่มนี้มาอ่าน The Blind Side ของคุณพี่ Michael Lewis คนเดียวกับที่เขียน Flash Boys แต่เล่มนี้ออกมาก่อนหลายปีแล้ว เปิดดูที่จดไว้ถึงเห็นว่าซื้อมาตั้งแต่ปี ๕๒ นี่ปาเข้าไปปี ๕๙ แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจที่เห็นข้อความบนปกว่า กำลังจะเอาไปสร้างเป็นหนัง เล่มนี้ซื้อมาตั้งแต่ก่อนสร้างหนังอีกนะฮะ

ต้องบอกก่อนว่าผมยังไม่ได้ดูหนังที่สร้างจากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่รู้ว่าทีมงานมีการดัดแปลงบทไปจากเนื้อเรื่องแค่ไหน มีเก็บรายละเอียดประเด็นย่อยไปด้วยมั้ย ในที่นี้ก็เลยจะพูดถึงตัวหนังสืออย่างเดียวนะฮะ

พี่ Lewis เป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้น่าสนใจมากในทุกเล่มที่แกเขียน วันก่อนฟัง podcast สัมภาษณ์ Malcolm Gladwell (ซึ่งเป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องเก่งมากอีกคนนึง พี่แกสามารถเอาเรื่องยากมาย่อยให้เข้าใจได้ง่าย ๆ โคตรเทพอ่ะ) คนสัมภาษณ์ถามว่า ในความเห็นของ Gladwell ใครเป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้ดี แกตอบทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยว่า Michael Lewis แกบอกว่าอยากเล่าให้ได้แบบพี่ Lewis เลยนะฮะ นี่ขนาดมือระดับ Gladwell นะ

เล่มนี้ Lewis เล่าเรื่องเด็กวัยรุ่นผิวดำยากจนคนนึงที่บังเอิญสรีระเอื้อต่อการเล่นอเมริกันฟุตบอลในตำแหน่ง Left Tackle ซึ่งเป็นตำแหน่งที่คอยระวังป้องกันด้านซ้ายของควอเตอร์แบ็ค (ผู้เปรียบเสมือนแม่ทัพในเกมรุก) และด้วยความที่ควอเตอร์แบ็คส่วนมากจะถนัดขวา เวลาเล่นก็มักจะมองไปทางด้านขวา ทำให้ด้านซ้ายเป็นมุมบอด หรือ blind side อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือนี่เอง

ทีนี้ลำพังถ้าอยู่ของมันเองเด็กคนนี้ก็คงไปไม่ถึงไหน แต่บังเอิญมีครอบครัวอเมริกันผิวขาว ฐานะดี มีสถานภาพทางสังคมรับมาเลี้ยง ให้ที่อยู่ มีข้าวให้กิน หาเสื้อผ้าให้ใส่ ดูแลเรื่องการเรียนด้วย ทำให้ชีวิตของเด็กที่ดูแล้วไม่น่าจะไปไหนได้ไกล เพราะขนาดโตแล้วยังอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ กลับมีอนาคตขึ้นมา

ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่แค่เรื่องราวของเด็กหนุ่มคนนี้เท่านั้น แต่เฮีย Lewis ยังอธิบายให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเกมบุกและเกมรับของอเมริกันฟุตบอล รวมไปถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางข้อของ NFL (หน่วยงานกำกับดูแลและจัดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล เทียบได้กับ FIFA ในกีฬาฟุตบอลนะฮะ) เพื่อให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า ทำไมควอเตอร์แบ็คถึงมีความสำคัญมากขึ้นในเกมบุกของอเมริกันฟุตบอล และทำไมผู้เล่นในตำแหน่ง left tackle ถึงสำคัญ (และมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก) ซึ่งโยงต่อมาถึงว่า ทำไมไอ้เด็กวัยรุ่นคนนี้มันถึงเป็นที่ต้องการจากมหาวิทยาลัยทั่วทั้งสหรัฐฯ

เอาแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็สนุกแล้ว แต่ Lewis ยังแฝงประเด็นรอง (หรือจริง ๆ เป็นประเด็นหลักวะ?) คือเรื่องของชนชั้นเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ระหว่างที่อ่านเรื่องราวของวัยรุ่นผิวดำคนนี้เฮีย Lewis ก็จะแทรกเรื่องของเด็กคนอื่นให้เห็นว่า ถึงจะมีศักยภาพทางกีฬาแค่ไหน โดดเด่นแค่ไหน แต่การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี รวมถึงไม่ได้รับการสนับสนุน ผลักดัน หรือไม่มีคนเปิดประตูโอกาสให้ ก็ยากที่จะก้าวไปถึงฝั่งฝันได้

อ่านไปอ่านมาเล่มนี้กลายเป็นเรื่องของประเด็นใหญ่ทางสังคมที่น่าสนใจมาก ๆ โดยที่ใช้เรื่องของวัยรุ่นผิวดำเป็นตัวเล่าเรื่อง

โดยส่วนตัวผมอ่านเล่มนี้แล้วชอบมาก ประการแรก เรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการของอเมริกันฟุตบอลที่นำมาเล่าในเล่มนี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับตอนที่ผมดูกีฬานี้อยู่พอดี เวลาที่ Lewis พูดถึงโค้ชคนนั้น นักกีฬาคนนี้ ผมนึกภาพตามได้ไม่ยาก แถมที่สำคัญยังช่วยไขให้เข้าใจได้ว่า ทำไม Joe Montana ถึงเป็นควอเตอร์แบ็คที่ประสบความสำเร็จ ทำไม Steve Young ที่มาแทน Montana ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งที่สองคนนี้ไม่ได้มีพลังแขนโดดเด่นเท่ากับควอเตอร์แบ็คคนอื่นในยุคเดียวกันเลย รวมไปถึงได้เข้าใจว่า West Coast offense ที่เห็นบ่อย ๆ เวลาอ่านบทความหรือตอนผู้บรรยายพูดถึงเนี่ย มันคืออะไร (สำหรับคนที่สนใจ เรื่องนี้อยู่ที่หน้า ๑๑๗ นะฮะ)

ประการที่สอง เรื่องราวเด็กวัยรุ่นที่เป็นตัวเอกของเรื่องนี้น่าสนใจมากว่า จะไปได้ถึงไหน เพราะ Lewis เขียนชวนให้เราติดตาม (และลุ้น) ไปตลอดว่า อุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (ซึ่งมีเยอะด้วย) จะหยุดชีวิตของเด็กคนนี้เอาไว้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่

ประการที่สาม ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมและโอกาสที่ได้รับ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของคนแต่ละคน เรื่องนี้ไม่ต้องดูที่ไหนไกล ในประเทศไทยนี่ก็มี ข่าวคราวคนรวยทำผิดกฎหมายแต่ไม่ผิด ไม่ได้รับโทษมีอยู่บ่อยมาก ข่าวเด็กเรียนดีสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะดี ๆ ได้ แต่ไม่มีเงินเรียน เรื่องราวแบบนี้มีให้เห็นทุกปี และก็คงมีต่อไปอีกหลายปี

สิ่งที่ยากที่สุดในการอ่านหนังสือเล่มนี้สำหรับผมก็คือ การหักห้ามใจที่จะไม่เสิร์ชอินเทอร์เน็ตดูว่าชีวิตเด็กคนนี้ตอนนี้เป็นยังไง เพราะถ้าเสิร์ชดูนี่เท่ากับว่ารู้ตอนจบเลย เหมือนอ่านนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวนแต่ดันรู้ก่อนซะแล้วว่าใครเป็นคนฆ่า ความสนุกของการลุ้นระหว่างที่อ่านหมดกันพอดี ถ้าใครจะอ่านเล่มนี้ผมแนะนำไว้ก่อนเลยว่า อย่าเสิร์ชดูเด็ดขาด

สำหรับคนที่กลัวว่าไม่ได้ดูอเมริกันฟุตบอล ไม่รู้จักอเมริกันฟุตบอลแล้วจะอ่านไม่สนุก ไม่ต้องกลัวครับ อ่านแค่พอให้เข้าใจภาพรวมก็ยังสนุกได้ครับ

ขอให้มีความสุขกับการอ่านครับ ❤

 

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไปแล้วบ้าง

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๙ : Flash Boys
หนังสือเล่มที่สองของปี ๒๕๕๙ : facebook โลกอันซ้อนกันอยู่

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/

Advertisement

2 thoughts on “รีวิวหนังสือ : The Blind Side – เรื่องราวของชนชั้นที่เล่าผ่านโลกกีฬา

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s