นิตยสาร The Wisdom ฉบับพิเศษ สิงหาคม ๒๕๕๙

นิตยสาร The Wisdom ฉบับพิเศษ สิงหาคม ๒๕๕๙นิตยสาร The Wisdom เป็นนิตยสารรายสามเดือนที่ธนาคารกสิกรไทย ทำแจกให้กับลูกค้าในกลุ่ม Wisdom (แปลว่า รวยโคตร) ตามปกติแล้วจะมีธีมของแต่ละฉบับแตกต่างกันไป แต่ฉบับนี้เป็นฉบับพิเศษในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เนื้อหาในฉบับนี้นอกจากจะมีคอลัมน์ที่เป็นสาระและไลฟ์สไตล์ตามปกติแล้ว จึงมีเพิ่มในส่วนของบทสัมภาษณ์ของผู้คนที่ได้ทำงานใกล้ชิดหรือชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระราชินี อาทิ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการ หรือสมพร ธรรมวงค์ ชาวอาข่าที่จังหวัดเชียงราย และคุณลุงน้อง เปี้ยวน้อย เกษตรกรนาเกลือที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

ใครที่สนใจ The Wisdom ฉบับนี้ ง่ายนิดเดียว สอบถามไปที่ธนาคารกสิกรไทยนะฮะ แต่ถ้าไม่ใช่ลูกค้า Wisdom (แปลว่า รวยโคตร) ไม่รู้เขาจะให้หรือเปล่านะฮะ อันนี้คงต้องลองเอง ❤

หนังสือแนะนำสำหรับคน (เริ่ม) เล่นหุ้น

One Up On Wall Street

มีเพื่อนฝูงรวมไปถึงน้องนุ่งบางคนที่มาถามผมต่างกรรมต่างวาระว่า ถ้าจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ต่อจากนี้จะขอเรียกตามที่ติดปากกันว่า “เล่นหุ้น” นะฮะ) จะเริ่มยังไง? จะหาความรู้ยังไง?

ซึ่งทุกครั้งที่เจอคำถามทำนองนี้ผมจะแนะนำหนังสือให้ไปอ่านสองเล่ม จะอ่านเล่มใดเล่มหนึ่งหรือจะอ่านทั้งสองเล่มก็แล้วแต่ถนัด ถือว่าหนังสือสองเล่มนี้เป็นการประเดิมเริ่มต้น พออ่านจบแล้วจะไปหาเล่มอื่นอ่านต่ออันนี้ก็แล้วแต่ความขยันและเอาจริงของแต่ละคน

หมายเหตุ : บอกไว้ก่อนว่า หนังสือสองเล่มนี้สำหรับคนเริ่มต้น ถ้าใครที่ระดับเซียนเหยียบเมฆหรือเชี่ยวแล้ว ข้ามไปได้เลยครับ อีกประการหนึ่งก็คือ หนังสือสองเล่มนี้มาในแนวทางของปัจจัยพื้นฐาน ไม่ได้ดูกราฟ ไม่มีเครื่องมือทางเทคนิค ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว อะไรทั้งนั้น แถมอ่านแล้วยังไม่ทำให้เป็นเซียนหุ้นขึ้นมาได้ในหนึ่งเดือนหรือสามเดือนด้วย นักลงทุนคนไหนที่ไม่สนใจในแนวปัจจัยพื้นฐาน หรืออยากรวยเร็ว ก็ข้ามไปได้เหมือนกันครับ

เล่มแรก เป็นหนังสือต่างประเทศ ชื่อว่า One Up On Wall Street เล่มนี้ออกมานานมากแล้วคือตั้งแต่ปี ๑๙๘๙ เท่ากับ ๒๗ ปีมาแล้ว เป็นหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นที่คลาสสิกมากเล่มหนึ่ง และเขียนโดยผู้บริหารกองทุนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งด้วย นั่นคือ Peter Lynch

เล่าประวัติพี่ Lynch กันนิดนึง แกเป็นผู้จัดการกองทุนที่ชื่อ Magellan Fund ในสังกัดบริษัท Fidelity Investments เกียรติประวัติของแกก็คือ แกเข้ามาเป็นผู้จัดการกองทุนที่ว่านี้ในปี ๑๙๗๗ ตอนนั้นกองทุนมีสินทรัพย์ให้บริหาร ๑๘ ล้านเหรียญ แต่ในปี ๑๙๙๐ ที่แกลาออกสินทรัพย์ของกองทุนนี้มันเบ่งบานทะยานขึ้นมาเป็น ๑.๔ หมื่นล้านเหรียญ ย้ำ หมื่นล้านนะฮะ

ในขณะที่สถิติการสร้างผลตอบแทนต่อปีของแกทำเอาไว้ที่เฉลี่ยปีละ ๒๙.๒% (เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพ คุณลุง Warren Buffett ซึ่งคนรู้จักกันทั่วโลก มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ ๒๒.๓% จากการลงทุนมารวม ๓๖ ปี) เคยมีคนคำนวณไว้ว่า ถ้าเราลงทุนในกองทุน Magellan ๑,๐๐๐ เหรียญในปีที่พี่ Lynch เริ่มเป็นผู้จัดการกองทุน แล้วขายออกตอนที่พี่ Lynch ลาออก เงิน ๑,๐๐๐ เหรียญที่ว่าจะงอกมาเป็น ๒๘,๐๐๐ เหรียญนะฮะ

นี่ถ้าจะดัดจริต ต้องอุทานว่า โฮลี่ ชิต!! ขี้ศักดิ์สิทธิ์ชัด ๆ

ด้วยเครดิตขนาดนี้ เมื่อพี่ Lynch ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือแนะนำการเล่นหุ้นก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ดังระเบิดระเบ้อ แถมติดอันดับขายดีได้ไม่ยาก ยิ่งกว่านั้นก็คือ เนื้อหาของหนังสือนี่ของแท้แน่นอนมากครับ เพราะแกเขียนหนังสือออกมาเพื่อให้ความรู้กันจริงจัง ไม่ใช่สร้างโพรไฟล์เพื่อเอาไปขายคอร์สอบรมอีกต่อ

ในเล่มนี้ พี่ Lynch บอกว่า นักลงทุนรายย่อยอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็สามารถเล่นหุ้นให้ได้กำไรได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องเป็นพวกมืออาชีพเสมอไป เพียงแต่ต้องรู้จักหลักการที่ถูกต้อง เลือกหุ้นเป็น รู้ว่าจะดูข้อมูลอะไรในแต่ละบริษัท นอกจากนี้ยังจัดประเภทบริษัทให้เข้าใจได้ว่ามันมีหลายแบบ มีทั้งที่เป็นบริษัทโตเร็ว โตช้า พวกยักษ์ใหญ่ บริษัทที่ผลกำไรขึ้นลงเป็นไซเคิล หรือบริษัทที่เคยแย่แต่กำลังจะฟื้น ฯลฯ อะไรพวกนี้ ไปจนกระทั่งหุ้นแบบไหนที่อย่าไปยุ่งกับมันเลย พี่เตือนแล้วนะ

รวมไปถึงพวกความคิดหรือความเข้าใจผิด ๆ บางอย่างที่หลายเรื่องตรงกันเป๊ะกับนักลงทุนรายย่อยของไทยเลยนะฮะ ขอยกตัวอย่างบางประการ เช่น

“หุ้นมันตกมาขนาดนี้แล้ว มันไม่ตกไปมากกว่านี้แล้วล่ะ” – พอช้อนเข้าไปแล้วเป็นไงฮะ ไอ้ที่ว่าถูกแล้วยังมีถูกกว่า

ในทางกลับกัน “หุ้นมันขึ้นมาขนาดนี้แล้ว มันไม่ขึ้นไปมากกว่านี้แล้วล่ะ” – พอขายแล้วเป็นไงฮะ แม่มวิ่งเป็นกระทิงเปลี่ยวเลย ขายหมูชัด ๆ

หรืออารมณ์เสียดายแบบ “โอยยยย ไม่ได้ซื้อตัวนี้ ราคาวิ่งไปแล้ว รู้งี้…” – ใช่ฮะ ถ้ารู้งี้ ถึงได้มีคนบอกว่า รู้อะไร ไม่สู้รู้งี้

เรื่องพวกนี้ พี่ Lynch มีคำอธิบายและมีเคสจริง (จากอเมริกา) ยกมาให้อ่านสั้น ๆ เพื่อความเข้าใจด้วย

เล่มนี้ผมซื้อมานาน ๒๐ กว่าปีแล้ว สภาพกระดาษเหลืองกรอบ ปกก็จะหลุดแหล่มิหลุดแหล่ จะว่าไปนี่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกที่ผมนั่งอ่านจริง ๆ จัง ๆ จนจบเล่ม อ่านไปเปิดดิกฯ ไป ขีดไฮไลต์คำศัพท์ที่ไม่รู้คำแปลจนพรืดไปทั้งหน้า ทำอยู่ได้สามสิบสี่สิบหน้า ไม่ไหวแล้วเว้ย เอาหลักการของคุณชายคึกฤทธิ์มาใช้ดีกว่า คุณชายบอกว่า อ่านไปเลย อย่าไปสะดุดเปิดดิกฯ อ่านไปสักพักมันจะเข้าใจเอง เออ ได้ผลจริงนะฮะ อันนี้ขอแนะนำ

ถึงเล่มนี้จะออกมานานแล้วอย่างที่ว่าแต่หลักการลงทุนก็ยังใช้ได้ในปัจจุบัน ถ้าใครสนใจไม่ต้องกังวลว่าจะไปหาซื้อได้ที่ไหนเพราะมีการพิมพ์ซ้ำออกมาเรื่อย ๆ ในร้านหนังสือภาษาอังกฤษบ้านเราก็เห็นมีอยู่นะฮะ ส่วนใครที่อยากอ่านฉบับภาษาไทยตอนนี้ก็มีแล้วเหมือนกัน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนไทยที่ประสบความสำเร็จมากและมีชื่อเสียงมากแกแปลออกมาแล้ว ไม่แน่ใจว่าใช้ชื่อภาษาไทยว่าอะไร ลองเสิร์ชดูน่าจะเจอได้ไม่ยาก

ถ้าอ่านเล่มนี้จบแล้วอยากอ่านเพิ่ม พี่ Lynch เขียนหนังสือออกมาอีกสองเล่ม ชื่อว่า Beating the Street กับ Learn to Earn ถ้าสนใจลองหาอ่านดูได้ครับ

ตอนแรกตั้งใจว่าจะเขียนแนะนำสองเล่มแต่แค่เล่มแรกนี่ก็ยาวแล้ว อีกเล่มขอยกยอดไปคราวหน้านะครับ

One Up On Wall Street

อ่าน หนังสือแนะนำสำหรับคน (เริ่ม) เล่นหุ้น ตอนที่ ๒ ได้ที่นี่ครับ

 

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog นะครับ ❤

อ่านเล่มไหนดี?

What should I read next?ปกติแล้วหลังจากอ่านหนังสือจบ พอจะหยิบเล่มใหม่มาอ่านถ้าไม่ใช่เล่มต่อจากเล่มก่อนหน้าผมจะเกิดอาการ “เลือกไม่ถูก” ไม่รู้จะหยิบเล่มไหนมาอ่านดี

อาการที่เป็นก็คือ จะหยิบเล่มที่คิดว่าน่าสนใจมาพลิก ๆ ดู แล้ววาง แล้วหยิบเล่มอื่นมาพลิกดู แล้ววาง เป็นอย่างนี้วนลูปไปซักพัก จนตัดสินใจได้ว่า เอาเล่มนี้ล่ะวะ ก็จะหยิบมานั่งอ่านเป็นเรื่องเป็นราว แต่ในช่วงที่เริ่มอ่านถ้าหากสะดุด หรือเกิดอาการ เอ๊ะ ขึ้นมา ก็อาจกลับไปวนลูปที่ว่ามาได้อีก จนกว่าจะได้เล่มที่จะอ่านจริง ๆ ก็จะอ่านไปจนจบ

อาการที่เป็นแบบนี้ทำให้เสียเวลาไปไม่น้อยเหมือนกัน เอาที่เห็นชัด ๆ ก็อย่างตอนนี้ที่อ่าน The Blind Side จบไปได้สักพักแล้ว (อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ) ยังเลือกไม่ได้เลยว่าจะอ่านอะไรต่อ

กองหนังสือที่เห็นในภาพเป็นเล่มที่เลือกมาเป็นเบื้องต้นแล้วแต่ยังรอตัดสินใจขั้นสุดท้ายอีกทีว่าจะเป็นเล่มไหน เกณฑ์อย่างนึงตอนนี้ก็คือตั้งใจว่าจะอ่านเล่มเก่า ๆ ก่อนนะฮะ

อาการนี้มีใครเป็นบ้างมั้ยครับ แล้วแก้ยังไงกัน เล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ…

เยือน The Booksmith นิมมานเหมินท์

Jimmy Liao books

ผมสั่งซื้อหนังสือจาก The Booksmith มาก็ตั้งหลายที แต่ยังไม่เคยไปที่ร้านเลย หลายวันก่อนมีโอกาสไปทำกิจธุระที่เชียงใหม่แล้วพอมีเวลา ก็เลยให้เจ้าถิ่นพาไปร้านที่ถนนนิมมานเหมินท์

ไม่ได้ตั้งใจว่าจะไปซื้ออะไร แค่อยากไปเยือนเฉย ๆ สุดท้ายได้ติดมือกลับมาสองเล่ม นี่เหมือนชะตาต้องกัน เพราะสองเล่มนี่กรุงเทพฯ ก็มีขายเยอะอยู่แต่ไม่ซื้อ ถ่อไปซื้อถึงเชียงใหม่นะครับ ❤

Jimmy Liao books

Jimmy Liao books

รีวิวหนังสือ : The Blind Side – เรื่องราวของชนชั้นที่เล่าผ่านโลกกีฬา

The Blind Side by Michael Lewis

หลังจากจบหนังสือเล่มล่าสุดของพี่ชาติ กอบจิตติ ไป (อ่านได้ที่นี่ครับ) ผมหยิบเล่มนี้มาอ่าน The Blind Side ของคุณพี่ Michael Lewis คนเดียวกับที่เขียน Flash Boys แต่เล่มนี้ออกมาก่อนหลายปีแล้ว เปิดดูที่จดไว้ถึงเห็นว่าซื้อมาตั้งแต่ปี ๕๒ นี่ปาเข้าไปปี ๕๙ แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจที่เห็นข้อความบนปกว่า กำลังจะเอาไปสร้างเป็นหนัง เล่มนี้ซื้อมาตั้งแต่ก่อนสร้างหนังอีกนะฮะ

ต้องบอกก่อนว่าผมยังไม่ได้ดูหนังที่สร้างจากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่รู้ว่าทีมงานมีการดัดแปลงบทไปจากเนื้อเรื่องแค่ไหน มีเก็บรายละเอียดประเด็นย่อยไปด้วยมั้ย ในที่นี้ก็เลยจะพูดถึงตัวหนังสืออย่างเดียวนะฮะ

พี่ Lewis เป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้น่าสนใจมากในทุกเล่มที่แกเขียน วันก่อนฟัง podcast สัมภาษณ์ Malcolm Gladwell (ซึ่งเป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องเก่งมากอีกคนนึง พี่แกสามารถเอาเรื่องยากมาย่อยให้เข้าใจได้ง่าย ๆ โคตรเทพอ่ะ) คนสัมภาษณ์ถามว่า ในความเห็นของ Gladwell ใครเป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้ดี แกตอบทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยว่า Michael Lewis แกบอกว่าอยากเล่าให้ได้แบบพี่ Lewis เลยนะฮะ นี่ขนาดมือระดับ Gladwell นะ

เล่มนี้ Lewis เล่าเรื่องเด็กวัยรุ่นผิวดำยากจนคนนึงที่บังเอิญสรีระเอื้อต่อการเล่นอเมริกันฟุตบอลในตำแหน่ง Left Tackle ซึ่งเป็นตำแหน่งที่คอยระวังป้องกันด้านซ้ายของควอเตอร์แบ็ค (ผู้เปรียบเสมือนแม่ทัพในเกมรุก) และด้วยความที่ควอเตอร์แบ็คส่วนมากจะถนัดขวา เวลาเล่นก็มักจะมองไปทางด้านขวา ทำให้ด้านซ้ายเป็นมุมบอด หรือ blind side อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือนี่เอง

ทีนี้ลำพังถ้าอยู่ของมันเองเด็กคนนี้ก็คงไปไม่ถึงไหน แต่บังเอิญมีครอบครัวอเมริกันผิวขาว ฐานะดี มีสถานภาพทางสังคมรับมาเลี้ยง ให้ที่อยู่ มีข้าวให้กิน หาเสื้อผ้าให้ใส่ ดูแลเรื่องการเรียนด้วย ทำให้ชีวิตของเด็กที่ดูแล้วไม่น่าจะไปไหนได้ไกล เพราะขนาดโตแล้วยังอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ กลับมีอนาคตขึ้นมา

ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่แค่เรื่องราวของเด็กหนุ่มคนนี้เท่านั้น แต่เฮีย Lewis ยังอธิบายให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเกมบุกและเกมรับของอเมริกันฟุตบอล รวมไปถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางข้อของ NFL (หน่วยงานกำกับดูแลและจัดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล เทียบได้กับ FIFA ในกีฬาฟุตบอลนะฮะ) เพื่อให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า ทำไมควอเตอร์แบ็คถึงมีความสำคัญมากขึ้นในเกมบุกของอเมริกันฟุตบอล และทำไมผู้เล่นในตำแหน่ง left tackle ถึงสำคัญ (และมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก) ซึ่งโยงต่อมาถึงว่า ทำไมไอ้เด็กวัยรุ่นคนนี้มันถึงเป็นที่ต้องการจากมหาวิทยาลัยทั่วทั้งสหรัฐฯ

เอาแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็สนุกแล้ว แต่ Lewis ยังแฝงประเด็นรอง (หรือจริง ๆ เป็นประเด็นหลักวะ?) คือเรื่องของชนชั้นเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ระหว่างที่อ่านเรื่องราวของวัยรุ่นผิวดำคนนี้เฮีย Lewis ก็จะแทรกเรื่องของเด็กคนอื่นให้เห็นว่า ถึงจะมีศักยภาพทางกีฬาแค่ไหน โดดเด่นแค่ไหน แต่การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี รวมถึงไม่ได้รับการสนับสนุน ผลักดัน หรือไม่มีคนเปิดประตูโอกาสให้ ก็ยากที่จะก้าวไปถึงฝั่งฝันได้

อ่านไปอ่านมาเล่มนี้กลายเป็นเรื่องของประเด็นใหญ่ทางสังคมที่น่าสนใจมาก ๆ โดยที่ใช้เรื่องของวัยรุ่นผิวดำเป็นตัวเล่าเรื่อง

โดยส่วนตัวผมอ่านเล่มนี้แล้วชอบมาก ประการแรก เรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการของอเมริกันฟุตบอลที่นำมาเล่าในเล่มนี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับตอนที่ผมดูกีฬานี้อยู่พอดี เวลาที่ Lewis พูดถึงโค้ชคนนั้น นักกีฬาคนนี้ ผมนึกภาพตามได้ไม่ยาก แถมที่สำคัญยังช่วยไขให้เข้าใจได้ว่า ทำไม Joe Montana ถึงเป็นควอเตอร์แบ็คที่ประสบความสำเร็จ ทำไม Steve Young ที่มาแทน Montana ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งที่สองคนนี้ไม่ได้มีพลังแขนโดดเด่นเท่ากับควอเตอร์แบ็คคนอื่นในยุคเดียวกันเลย รวมไปถึงได้เข้าใจว่า West Coast offense ที่เห็นบ่อย ๆ เวลาอ่านบทความหรือตอนผู้บรรยายพูดถึงเนี่ย มันคืออะไร (สำหรับคนที่สนใจ เรื่องนี้อยู่ที่หน้า ๑๑๗ นะฮะ)

ประการที่สอง เรื่องราวเด็กวัยรุ่นที่เป็นตัวเอกของเรื่องนี้น่าสนใจมากว่า จะไปได้ถึงไหน เพราะ Lewis เขียนชวนให้เราติดตาม (และลุ้น) ไปตลอดว่า อุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (ซึ่งมีเยอะด้วย) จะหยุดชีวิตของเด็กคนนี้เอาไว้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่

ประการที่สาม ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมและโอกาสที่ได้รับ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของคนแต่ละคน เรื่องนี้ไม่ต้องดูที่ไหนไกล ในประเทศไทยนี่ก็มี ข่าวคราวคนรวยทำผิดกฎหมายแต่ไม่ผิด ไม่ได้รับโทษมีอยู่บ่อยมาก ข่าวเด็กเรียนดีสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะดี ๆ ได้ แต่ไม่มีเงินเรียน เรื่องราวแบบนี้มีให้เห็นทุกปี และก็คงมีต่อไปอีกหลายปี

สิ่งที่ยากที่สุดในการอ่านหนังสือเล่มนี้สำหรับผมก็คือ การหักห้ามใจที่จะไม่เสิร์ชอินเทอร์เน็ตดูว่าชีวิตเด็กคนนี้ตอนนี้เป็นยังไง เพราะถ้าเสิร์ชดูนี่เท่ากับว่ารู้ตอนจบเลย เหมือนอ่านนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวนแต่ดันรู้ก่อนซะแล้วว่าใครเป็นคนฆ่า ความสนุกของการลุ้นระหว่างที่อ่านหมดกันพอดี ถ้าใครจะอ่านเล่มนี้ผมแนะนำไว้ก่อนเลยว่า อย่าเสิร์ชดูเด็ดขาด

สำหรับคนที่กลัวว่าไม่ได้ดูอเมริกันฟุตบอล ไม่รู้จักอเมริกันฟุตบอลแล้วจะอ่านไม่สนุก ไม่ต้องกลัวครับ อ่านแค่พอให้เข้าใจภาพรวมก็ยังสนุกได้ครับ

ขอให้มีความสุขกับการอ่านครับ ❤

 

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไปแล้วบ้าง

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๙ : Flash Boys
หนังสือเล่มที่สองของปี ๒๕๕๙ : facebook โลกอันซ้อนกันอยู่

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/

หนังสือดัง & ขายดีที่คนอ่านไม่จบ

เคยมั้ยครับเวลาที่ยืนเลือกหนังสืออยู่ในร้าน พลิก ๆ ดูแล้ว เออ เล่มนี้น่าสนใจว่ะ น่าอ่านดีนะ แต่พอซื้อไปแล้ว เปิดอ่านไปได้สักหน่อยแล้ววาง อ่านไม่จบ เปลี่ยนไปอ่านเล่มอื่น จะด้วยอะไรก็แล้วแต่ เขียนไม่ดี อ่านยาก เนื้อหาไม่น่าสนใจ อ่านแล้วไม่ชอบ ฯลฯ มีเหตุผลสารพัดนะครับ 

ผมนี่คนนึงล่ะ

ก่อนหน้านี้เราก็ไม่รู้ใช่มั้ยครับว่า มีใครเป็นอย่างเราบ้างมั้ย คนเขียนก็ไม่รู้ สำนักพิมพ์ก็ไม่รู้ แล้วถ้ามี จะมีหนังสือเล่มไหนที่คนซื้อไปแล้วอ่านไม่จบกันมั่งวะ?

ตอนนี้เรารู้ได้แล้วครับ ตั้งแต่ที่มีเรามีอีบุ๊ก โดยเฉพาะ Kindle ของ amazon ที่สามารถเก็บข้อมูลการอ่านพวกนี้ได้ แล้วก็มีนักวิชาการที่ไปเอาข้อมูลจากฐานข้อมูลของ Kindle ที่ว่านี่แหละมารวบรวมวิเคราะห์และแยกแยะแล้วตั้งเป็นดัชนีที่ชื่อว่า Hawking Index เพื่อดูว่าหนังสือแต่ละเล่มมีคนอ่านจนจบมากน้อยแค่ไหน

หนังสือบางเล่มที่อยู่ในรายการนี้เห็นแล้วอาจแปลกใจว่าคนอ่านจบน้อยขนาดนั้นเลยเหรอ มาดูกัน

เล่มแรก Hard Choices ของ Hilary Clinton ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งถ้าทำได้สำเร็จจะสร้างประวัติศาสตร์เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ ด้วย หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกความทรงจำในช่วงที่ฮิลารีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับสามในรัฐบาล รองจากประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เล่มนี้มีคนอ่านจบแค่ ๑.๙% เท่านั้นเอง

เล่มสอง Capital in the Twenty-First Century ของนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศส Thomas Piketty เล่มนี้สร้างปรากฎการณ์ฮือฮาอย่างมากในแวดวงหนังสือ เพราะเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ที่เป็นแนววิชาการ อ่านยาก แถมยังหน้าตั้ง ๗๐๐ หน้า แต่ติดอันดับหนึ่งหนังสือขายดีของ The New York Times ซะงั้น ทำเอาผู้เชี่ยวชาญต้องหาสาเหตุกันยกใหญ่ว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงฮิตขึ้นมาได้ แต่ก็นั่นแหละมีคนอ่านจบไปแค่ ๒.๔% ครับ

เล่มต่อมา Infinite Jest โดย David Foster Wallace มีคนอ่านจบไป ๖.๔%

อันดับสี่ เล่มนี้เลยครับ A Brief History of Time ของ Stephen Hawking ที่มีคนรู้จักกันทั่วโลก ยิ่งปีก่อนมีการเอาชีวิตเฮียมาสร้างเป็นหนังด้วย ยิ่งทำให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นอีก หนังสือเล่มนี้อ่านจบกันไป ๖.๖% ครับ

เล่มที่ห้า Thinking, Fast and Slow ของ Daniel Kahneman เล่มนี้มีคนอ่านจบไปเบ็ดเสร็จ ๖.๘%

เห็นอย่างนี้ใครที่เป็นนักเขียนหรือนักแปลอย่าเพิ่งท้อนะครับ ถ้ามองในแง่ดีอย่างน้อยคนก็ซื้อไปแล้ว วันนี้อาจจะยังไม่อ่าน หรืออ่านไม่จบ แต่วันหน้าอาจจะหยิบมาอ่านจนจบก็ได้ อาการแบบนี้ผมเองก็เป็นบ่อยไป

ขอให้มีความสุขกับการอ่านนะครับ ❤

 

facebook โลกอันซ้อนกันอยู่ – การกลับมาของชาติ กอบจิตติ

facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่ ชาติ กอบจิตติ

ตามที่ตั้งใจไว้เมื่อตอนต้นปีว่า ปีนี้จะอ่านหนังสือ non-fiction เพียว ๆ เลย จะพยายามไม่อ่านนิยาย ทั้งเรื่องไทยเรื่องเทศ เริ่มเล่มแรก (Flash Boys อ่านรายละเอียดได้ที่นี่) ก็ผ่านไปได้สวย ก็ต่อด้วยเล่มสอง แต่พออ่านไปสักพักปรากฎว่า พี่ชาติ กอบจิตติ นักเขียนคนโปรดของผมแกออกหนังสือเล่มใหม่ออกมา ก็เลยต้องวางเล่มนั้นเอาไว้แล้วหยิบเล่มนี้แซงหน้ามาอ่านก่อน

facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่

หนังสือเล่มนี้ถ้าไม่รู้ที่มาที่ไป ดูเผิน ๆ จะนึกว่าพี่ชาติหากินง่าย เอาข้อความที่โพสต์ไว้บนเฟซบุ๊กมารวมเล่มขายแฟน ๆ แต่จริง ๆ มันไม่ง่ายอย่างนั้น (เชื่อว่าต่อให้แกทำจริง แฟน ๆ ก็ยังตามซื้อกันนะ เหนียวแน่นกันซะขนาดนี้) พี่ชาติเล่าความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า แกวางแผนจะทำหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่แรก โดยจะเขียนเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่สนใจและเป็นประเด็นที่อยู่ในใจ (หนึ่งในนั้นคือเรื่อง อี-บุ๊ก) แล้วให้บรรดาเฟรนด์ มาร่วมแสดงความคิดเห็น แชร์ข้อมูลและความรู้ที่แต่ละคนมี แล้วพอครบปีก็จะคัดเลือกและรวบรวมทั้งข้อความของแกเองและคอมเม้นต์ของคนอื่น ๆ มารวมเป็นเล่ม

จากนั้นถึงเปิดเฟซบุ๊กแล้วคัดกรองคนที่จะมาเป็นเฟรนด์ (ประมาณ ๕ พันคน) แล้วก็เริ่มโพสต์ข้อความตามที่คิดเอาไว้ หลายเรื่องเป็นไปตามแผน หลายเรื่องงอกขึ้นมาใหม่จากเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องอี-บุ๊ก การทำนาปา การทำออฟฟิศที่บ้าน เรื่องเสื้อพันธุ์หมาบ้า ฯลฯ

ผมใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้นานอยู่ เพราะไม่ได้อ่านเฉพาะข้อความของพี่ชาติ แต่ละเลียดอ่านคอมเม้นต์ของคนอื่น ๆ ด้วย (ซึ่งก็เป็นความรู้ที่เสริมขึ้นมา เพราะแต่ละคนก็เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ในด้านต่าง ๆ กันไป) ที่แปลกใจตัวเองเรื่องนึงก็คือ ตอนที่อ่านอยู่ มีบางช่วงที่เผลอเอานิ้วไปไถ ๆ สไลด์ ๆ ที่หน้ากระดาษ ด้วยความเคยชิน นึกว่ากำลังอ่านเฟซบุ๊กบนหน้าจออยู่จริง ๆ (อันนี้ไม่รู้มีใครเป็นเหมือนกันบ้างมั้ย)

หนังสือเล่มนี้หนาเอาเรื่องอยู่ (๗๓๔ หน้า) แต่อ่านสนุก ถึงเป็นเรื่องที่คนอ่านไม่มีความรู้มาก่อนก็อ่านสนุก เหมือนเรานั่งฟังพี่ชาติเล่าเรื่องราวของแกหรือเรื่องที่แกสนใจให้เราฟัง แล้วก็มีคนอื่นอยู่ในวงคอยช่วยเสริมให้บทสนทนามันออกรสมากขึ้น บางครั้งพี่ชาติก็สอนประสบการณ์ชีวิตให้เราฟัง ถือเป็นการเรียนลัด เราจะได้ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกเอาเอง

เล่มนี้ถ้าเป็นแฟนพี่ชาตินี่พลาดไม่ได้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นแฟนพี่ชาติก็อ่านได้นะครับ ตอนนี้พิมพ์ครั้งที่สองแล้วด้วย

facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่
ผู้เขียน : ชาติ กอบจิตติ
สำนักพิมพ์ : หอน
ราคา : ๔๐๐ บาท

facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่ โดย ชาติ กอบจิตติ

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไป…

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๙ : Flash Boys

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/ ครับ

นิตยสาร way ฉบับที่ ๑ : ตุลาคม ๒๕๔๙

นิตยสาร way ฉบับที่ ๑ เดือนตุลาคม ๒๕๔๙

สิบปีที่แล้ว หลังจากนิตยสาร a day Weekly ปิดตัวลง แต่ อธิคม คุณาวุฒิ ผู้เป็นบรรณาธิการมีความรู้สึกว่ามันยังไม่จบ ความต้องการทำนิตยสารของเขาเป็นแรงขับให้เกิดนิตยสารหัวใหม่เล่มนี้ขึ้นมา

way

ฉบับแรกออกวางแผงในเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ โดยมีคำโปรยปกว่า MY WAY! ที่เหมือนจะบอกนัยโดยอ้อมถึงจุดยืนหรือทัศนะบางประการของนิตยสารเล่มนี้

เนื้อหาในเล่มมีทั้งที่เป็นคอลัมน์ สกู๊ป และสัมภาษณ์ ในเล่มแรกนี้บทสัมภาษณ์ใหญ่เป็นฝีมือของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ที่พาผู้อ่านไปรู้จักตัวตนและความคิดของ น้อย วงพรู หรือ กฤษฎา สุโกศล แคลปป์ ที่ในวันนั้นเป็นข่าวใหญ่โตขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับ จากกรณีที่ไปมีเรื่องวิวาทกับร็อกเกอร์ เสก โลโซ

ส่วนสัมภาษณ์รองเป็นเจ้าพ่อบันเทิงคดี มาโนช พุฒตาล ที่มาเปิดบ้านพูดคุยกัน

สำหรับคอลัมนิสต์ในเล่มนี้เรียกได้ว่าจัดหนักสำหรับคอสายนี้ เพราะมีทั้ง ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ไชยันต์ ไชยพร สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ พิษณุ นิลกลัด โตมร ศุขปรีชา และคนอื่นอีกมาก

ก่อนจะจบ อยากให้ดูภาพและข้อความในภาพนี้ที่ยกมาจากหน้า ๒๗ สำหรับผม เปิดเจอทีแรกตอนที่จะเขียนโพสต์นี้ ต้องพลิกกลับไปดูเดือนและปีบนหน้าปกใหม่อีกรอบ ให้แน่ใจว่าไม่ใช่เล่มที่เพิ่งออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้

นิตยสาร way ฉบับที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙

ขยายดูกันชัด ๆ

นิตยสาร way ฉบับที่ ๑ เดือนตุลาคม ๒๕๔๙

หมายเหตุ : ติดตาม What We Read Blog ได้อีกหนึ่งช่องทางที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/ นะครับ

ลายเซ็นนักเขียน : ชาติ กอบจิตติ

ชาติ กอบจิตติ

เมื่อซักประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว ร้านนายอินทร์ สาขาท่าพระจันทร์ จัดกิจกรรมทุกช่วงบ่ายของวันศุกร์สุดท้ายของเดือน ด้วยการเชิญนักเขียนมาสนทนาที่บริเวณชั้นสองของร้านแล้วเปิดให้นักอ่านหรือผู้สนใจเข้าฟังได้ฟรี

กิจกรรมนี้จัดอยู่นานแค่ไหนผมจำไม่ได้แล้ว แต่จำได้แม่นว่าไปร่วมฟังอยู่สองครั้ง คือ ตอนที่คุณวาณิช จรุงกิจอนันต์ และคุณชาติ กอบจิตติ มา

ที่ไปฟังพี่ชาติวันนั้นนอกจากจะด้วยชอบงานของพี่เค้าแล้ว (พันธุ์หมาบ้านี่คนที่อ่านแล้วไม่โดนคงมีน้อยนะ) ยังอยากไปเจอและไปฟังตัวเป็น ๆ ของนักเขียนที่ได้ยินกิตติศัพท์ร่ำลือมานานว่าเป็นคนขี้อำ ซึ่งสิ่งที่ได้ยินวันนั้นไม่ผิดไปจากที่ได้ยินมาเลย

สิ่งสำคัญที่เก็บมาจากการไปฟังพี่ชาติวันนั้นและยังจำได้มาถึงวันนี้มีสองเรื่อง เรื่องแรก พี่ชาติให้คำแนะนำกับคนเขียน (หรืออยากเขียน) หนังสือว่า เวลาอ่านหนังสือแกจะอ่านสองรอบ รอบแรกเป็นการอ่านเรื่องราวของหนังสือ แบบที่คนอ่านหนังสือตามปกติ เมื่ออ่านรอบแรกจบแล้วก็กลับมาอ่านรอบสอง แต่รอบนี้ไม่ใช่การอ่านเอาเรื่อง (เพราะรู้เรื่องจากรอบแรกไปแล้ว) แต่เป็นการอ่านเพื่อศึกษาว่า คนเขียนเล่าเรื่องอย่างไร ทำไมตรงนั้นถึงเล่าแบบนั้น หรือสถานการณ์ที่เกิดตรงนี้มันมีการปูเรื่องมาก่อนจากตรงนั้น ฯลฯ เป็นการอ่านเพื่อศึกษา ซึ่งจะช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้

เรื่องที่สอง พี่ชาติบอกว่า คนเป็น (หรืออยากเป็น) นักเขียน ต้องฝึกเขียนอยู่เสมอ และการฝึกนี้ไม่จำเป็นต้องนั่งเขียนออกมาจริง ๆ ก็ได้ สามารถฝึกเขียนในใจได้ ยกตัวอย่างเวลานั่งรถไปไหนมาไหนก็อย่ามัวแต่นั่งเหม่อฝันหวานอะไรอย่างเดียว (ถ้าเป็นสมัยนี้พี่ชาติคงบอกว่า อย่ามัวแต่นั่งก้มหน้าเล่นโทรศัพท์นะพวกมึง) ให้ลองสังเกตสถานที่หรือเหตุการณ์อะไรที่ผ่านตาแล้วลองคิดว่า ถ้าจะต้องเขียนบรรยายออกมาเป็นตัวหนังสือจะเล่ายังไง

พี่ชาติบอกว่า แกใช้วิธีนี้ในการฝึกและเขียนหนังสือของตัวเอง เวลาเขียนหนังสือแกจะคิดจนเสร็จเรียบร้อยอยู่ในหัวแล้วว่าเหตุการณ์จะเป็นยังไง จะเล่ายังไง คิดจนจบแล้วถึงค่อยลงมือเขียนออกมา ตรงนี้แกบอกว่า การคิดเอาไว้แบบนี้มันทำให้พลังมันอัดอยู่ในตัว พอนั่งเขียนจริงก็จะเป็นเหมือนการปล่อยพลังในตัวออกมาทีเดียวแล้วเรื่องจะได้มีพลัง แต่ถ้านั่งเขียนไปเรื่อย ๆ มันจะไม่ค่อยมีพลังเท่าไหร่

หลังจากสนทนาและตอบคำถามแฟน ๆ ที่มานั่งฟังกันเรียบร้อย (วันนั้นพี่ชาติคงจะไปไหนต่อ เพราะยังไม่กินเหล้า 5555) ก็เปิดให้ขอลายเซ็นกันได้ ถึงช่วงนี้เราก็ ชิบหาย อยากได้ลายเซ็นพี่ชาติ (ไม่เคยขอลายเซ็นใครมาก่อนเลย) แต่ไม่ได้เอาหนังสือติดมาด้วย เอาไงดีวะ เดินลงไปชั้นล่างที่วางหนังสือพี่ชาติอยู่ เลือกมาเล่มนึงซึ่งก็คือ เรื่องธรรมดา ตามภาพด้านบน แล้วเดินถือกลับขึ้นไปให้พี่ชาติเซ็น เป็นการขอลายเซ็นคนดังครั้งแรกในชีวิต

ชาติ กอบจิตติ : เรื่องธรรมดานี่เป็นลายเซ็นพี่ชาติเมื่อประมาณ ๒๐ ปีที่แล้ว

ตัดฉับมาปีนี้ ผมมีโอกาสได้ลายเซ็นพี่ชาติอีกครั้ง ในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่ อันเนื่องมาจากที่พี่ชาติมีโปรเจ็กต์เปิด facebook เพื่อจะทำหนังสือ โดยเล่าเรื่องราวสารพัด (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่) แล้วผมเข้าไปคอมเม้นต์ในบางประเด็น แล้วเกิดได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในหนังสือเล่มนี้ด้วย พี่ชาติก็เลยมอบหนังสือเล่มนี้ให้พร้อมด้วยลายเซ็น (ไม่ได้มีผมคนเดียวนะ มีคนอื่นด้วย) อย่างที่เห็นนั่นล่ะฮะ

ชาติ กอบจิตติ : facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่ผลงานล่าสุดของพี่ชาติ

ชาติ กอบจิตติ : facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่

หมายเหตุ : ๒๐ ปีผ่านไป ลายเซ็นพี่ชาติก็เปลี่ยนไป หวังว่าคงไม่ใช่เพราะไปดูหมอมานะพี่นะ 5555 (ขออนุญาตแซวนิดนึงนะครับพี่)