นิตยสาร THE WISDOM ฉบับตุลาคม – ธันวาคม ๒๕๖๐

THE WISDOM magazine october - december 2017

นิตยสาร THE WISDOM ที่ธนาคารกสิกรไทยแจกให้กับลูกค้ากลุ่ม Wisdom ฉบับล่าสุด (ตุลาคม – ธันวาคม ๒๕๖๐) ออกแบบปกเป็นรูปในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพิมพ์นูนในบางจุดเพื่อให้ได้ผิวสัมผัสที่แตกต่างเวลาลูบไปบนปก

THE WISDOM magazine october - december 2017

ส่วนเนื้อหาภายในเล่มก็มีส่วนพิเศษที่เป็นการสัมภาษณ์บุคคลในแวดวงต่าง ๆ ที่ได้มีโอกาสถวายงานรับใช้อย่างใกล้ชิด อาทิ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล และปราโมทย์ ไม้กลัด เป็นต้น โดยแต่ละคนได้มาเล่าถึงชีวิตเมื่อครั้งที่ถวายงานรับใช้ รวมไปถึงความประทับใจและข้อคิดต่าง ๆ ที่ได้จากพระองค์

สำหรับเนื้อหาปกติทั้งที่เป็นบทความในด้านเศรษฐกิจ การลงทุน การท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม

ใครสนใจลองสอบถามไปที่ธนาคารกสิกรไทย แต่ถ้าไม่ได้เป็นลูกค้าระดับ Wisdom ก็ไม่รู้ว่าเขาจะให้หรือเปล่านะ ต้องลองเจรจาดู

รีวิวหนังสือ : อย่าหลอกกัน (Fool Me Once) – ใครหลอกใคร?

foolmeonce

หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานล่าสุดของ Harlan Coben ที่มีการแปลออกมาเป็นภาษาไทย โดยคุณมณฑารัตน์ ทรงเผ่า เจ้าเก่าที่แปลงานของคุณพี่ Coben มาแล้วหลายเล่ม ถ้าใครเป็นแฟนประจำก็น่าจะคุ้นเคยกันดีทั้งสไตล์คนเขียนและสำนวนคนแปล

ที่ว่าน่าจะคุ้นเคยสไตล์ของคนเขียนก็คือ อยู่ดี ๆ ตัวเอกของเรื่องมักจะมีเหตุการณ์อะไรซักอย่างหรือสองอย่างมาทำให้เสียศูนย์ โดยที่มักจะเป็นการเสียชีวิตของคนใกล้ตัว หรือบางทีเป็นเรื่องของคนใกล้ตัวที่เสียชีวิตไปสักพักแล้วแต่กลับมีอะไรมาทำให้เกิดสงสัยทำนองว่า เอ๊ะ หรือยังไม่ตาย (วะ)

จากนั้นก็เป็นช่วงตามสืบ ตามไขปริศนา ซึ่งสุดท้ายจะพาไปหาต้นเรื่องที่เป็นฆาตกรหรือจอมบงการ ที่มักจะมีปมอยู่กับเหตุการณ์อะไรซักอย่างในอดีต และที่เป็นทีเด็ดของเรื่องแนวนี้คือ ฆาตกรที่ว่าต้องเซอร์ไพรส์ คาดไม่ถึง เฉลยออกมาแล้วคนอ่านต้องร้อง ว้าว!!

ทีนี้ความยากของคนเขียนก็คือเมื่อคนอ่านรู้อยู่เต็มอกว่า มึงต้องเซอร์ไพรส์กูแน่ ๆ ก็พยายามดักทางเดาตัวฆาตกร ส่วนคนเขียนก็ต้องพยายามวางพล็อตวางปมยังไงก็ได้ให้คนอ่านเดาไม่ได้ เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกันอยู่อย่างนี้จนกว่าจะเบื่อกันไปข้างนึง

เล่มนี้ก็เหมือนกันนะฮะ

ตัวเอกของเรื่องเป็นหญิงสาว อดีตนักบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีของกองทัพสหรัฐฯ ประสบเหตุโดนปล้นในสวนสาธารณะขณะที่อยู่กับสามีและสามีโดนยิงตาย โดยที่ก่อนหน้านี้พี่สาวก็เพิ่งโดนฆ่าในช่วงที่เธอประจำการอยู่ที่ตะวันออกกลาง

ฟังแค่นี้ก็เศร้าแทนแล้ว แต่ยัง ยังไม่พอ พี่ Coben ยังซ้ำเข้าไปอีกเมื่อจู่ ๆ สามีที่เธอเพิ่งไปงานศพมาไม่นานกลับมาโผล่ให้เห็นในกล้องวงจรปิดว่ามาเล่นกับลูกสาวตัวน้อยอยู่ในบ้าน แถมตำรวจยังมาบอกอีกว่า ผลการตรวจสอบกระสุนพบว่า ปืนที่ใช้ฆ่าสามีเธอเป็นกระบอกเดียวกับที่ฆ่าพี่สาวเธอ

ตัวเอกของเรื่องก็เลยต้องตามสืบให้รู้ว่าใครกันที่เป็นฆาตกร ซึ่งแน่นอนว่า ระหว่างนี้คนอ่านก็จะโดนถล่มด้วยข้อมูลที่ท่วมท้น ถูกดึงไปทางโน้นที ทางนี้ที ไปเจอเรื่องในอดีตของคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง แถมด้วยความสงสัยว่า ตกลงสามีมันตายรึยัง? พร้อมกับเดาตัวฆาตกรไปเรื่อย ๆ ว่า ไอ้นี่แน่ อีกสักพักก็ เอ๊ะ หรือไอ้นี่ อีกเดี๋ยวก็ หรือจะเป็นคนนี้ (วะ)

จนกระทั่งเฉลย แล้วเราก็ร้องว่า เหยดดดดดดดดดดด กูนึกไม่ถึง

มิน่า ถึงได้มีข้อความขึ้นบนปกว่า คุณไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนลงมือ

ถ้าเป็นแฟนของ Coben ก็อ่านเถอะครับ แต่ถ้าใครยังไม่เคยอ่านงานของ Coben ก็อยากให้ลองอ่านดู เผื่อจะชอบนะฮะ

ขอให้มีความสุขกับการอ่านครับ ❤

อย่าหลอกกัน (Fool Me Once)
ผู้เขียน : Harlan Coben
ผู้แปล : มณฑารัตน์ ทรงเผ่า
สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์
ราคา : ๒๘๕ บาท

fool me once

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไปแล้วบ้าง

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๙ : Flash Boys
หนังสือเล่มที่สองของปี ๒๕๕๙ : facebook โลกอันซ้อนกันอยู่
หนังสือเล่มที่สามของปี ๒๕๕๙ : The Blind Side

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/

หนังสือแนะนำสำหรับคน (เริ่ม) เล่นหุ้น ตอนที่ ๒

กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ

ตอนที่แล้วแนะนำหนังสือจากผู้เขียนที่เป็นอดีตผู้จัดการกองทุนต่างชาติไปแล้ว (อ่านได้ที่นี่ครับ หนังสือแนะนำสำหรับคน (เริ่ม) เล่นหุ้น) คราวนี้จะแนะนำหนังสือของผู้เขียนชาวไทยกันบ้าง เล่มนี้ชื่อว่า กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ เขียนโดย เทพ รุ่งธนาภิรมย์

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกออกมาในเดือนมีนาคม ๒๕๔๖ ด้วยยอดพิมพ์ ๑๐,๐๐๐ เล่ม ประสบความสำเร็จขายดีจนต้องพิมพ์ครั้งที่สองตามมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันอีก ๑๐,๐๐๐ เล่ม ที่ขายดีขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ และถ้าใครได้ลองหยิบมาพลิกอ่านก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไมถึงขายดี

คุณเทพเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๔๗ (ภาพปกตามรูปด้านล่าง)  ว่า แนวทางการลงทุนของเขาจะเน้นไปที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลในแต่ละปี โดยอย่างน้อยควรจะได้ในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (เพราะถ้าได้น้อยกว่าจะไปเสี่ยงทำไม ฝากเงินเอาก็ได้ ใช่มั้ย?)

ที่เป็นอย่างนี้เพราะเดิมคุณเทพก็เป็นนักลงทุนขาลุยสไตล์รายย่อย (แปลว่า แมงเม่า) ทั่วไปนั่นแหละ แต่หลังจากที่รับประทาน “ต้มยำกุ้ง” หม้อใหญ่เข้าไปในช่วงปี ๒๕๔๐ ทำให้ต้องตัดใจขายขาดทุนไปก้อนโต แกเล่าว่ายังโชคดีที่มีเงินเหลืออยู่บ้าง ก็เลยปรับตัวปรับใจ เอาใหม่ ต้องหาความรู้มากขึ้น

นิตยสาร Corporate Thailand ฉบับสิงหาคม ๒๕๔๗

ประกอบกับคุณเทพตั้งใจว่า หากเกษียณจากการทำงานก็หวังรายได้จากเงินปันผลที่จะเอามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่ต้องไปควักเนื้อเงินก้อนเงินเก็บที่มีอยู่ นี่ก็เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมแกถึงลงทุนโดยตั้งเป้าไปที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลในแต่ละปี

ในการหาความรู้ของคุณเทพ แกอ่านหนังสือหลายเล่มด้วยกัน และสองเล่มในนั้นคือหนังสือที่เขียนโดยคุณพี่ Peter Lynch คือ One Up On Wall Street (ที่เขียนแนะนำไปครั้งที่แล้ว อ่านได้ที่นี่) และ Beating the Street ซึ่งเป็นเล่มที่แอดวานซ์ขึ้นมาอีกหน่อย เล่มนี้รอเวลาเหมาะ ๆ จะมาแนะนำกันอีกที ใครที่อดใจไม่ไหวจะอ่านก่อนเลยก็ยิ่งดีนะฮะ (บอกแล้วว่า พี่ Lynch แกของแท้ ไม่มีโม้ ไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อสร้างโพรไฟล์มาขายคอร์สฝึกอบรม)

หลังจากที่แกเอาวิชาความรู้ที่ได้มาไปปรับใช้เป็นแนวทางตัวเองและพิสูจน์มาแล้วว่า เออ เฮ้ย ทำได้จริงเว้ย เงินปันผลก็ได้ ราคาหุ้นก็ไม่ขาดทุน แกก็สกัดเป็นเคล็ดวิชามาเขียนเป็นหนังสือเล่มนี้นี่แหละ

จุดเด่นที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ ใช้ภาษาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย อันนี้สำคัญ บางเล่มอ่านง่ายก็จริง แต่โคตรเข้าใจยากนะ แล้วก็เน้นตามหลักการลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐาน ไล่เรียงเรื่องที่สำคัญไปทีละหัวข้อ โดยที่บทท้าย ๆ มีตัวอย่างการพิจารณาจริง หุ้นจริง ตัวเลขกำไรและปันผลจริง (แต่เปลี่ยนชื่อหุ้นซะนิดนึง เพื่อไม่ให้เข้าข่ายชี้นำ) เพื่อให้คนอ่านเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น

สรุปสั้น ๆ ว่า ใครที่อยากเล่นหุ้น ใครที่เล่นหุ้นแล้วขาดทุน หรือกำไรมั่งขาดทุนมั่งแล้วแต่ดวง หาหนังสือสองเล่มที่แนะนำมาอ่านได้เลยเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรจากการเล่นหุ้นอย่างยั่งยืนนะฮะ ขนาดนั้น

และถ้าอ่านเล่มนี้จบแล้วชอบใจ อยากอ่านเล่มสองที่แอดวานซ์ขึ้น ขอเชิญเล่มนี้ครับ วิถีแห่งเซียน หุ้นห่านทองคำ จากผู้เขียนคนเดียวกัน

ขอให้โชคดีครับ ❤

กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/ ครับ

นิตยสาร The Wisdom ฉบับพิเศษ สิงหาคม ๒๕๕๙

นิตยสาร The Wisdom ฉบับพิเศษ สิงหาคม ๒๕๕๙นิตยสาร The Wisdom เป็นนิตยสารรายสามเดือนที่ธนาคารกสิกรไทย ทำแจกให้กับลูกค้าในกลุ่ม Wisdom (แปลว่า รวยโคตร) ตามปกติแล้วจะมีธีมของแต่ละฉบับแตกต่างกันไป แต่ฉบับนี้เป็นฉบับพิเศษในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

เนื้อหาในฉบับนี้นอกจากจะมีคอลัมน์ที่เป็นสาระและไลฟ์สไตล์ตามปกติแล้ว จึงมีเพิ่มในส่วนของบทสัมภาษณ์ของผู้คนที่ได้ทำงานใกล้ชิดหรือชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระราชินี อาทิ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รองราชเลขานุการ หรือสมพร ธรรมวงค์ ชาวอาข่าที่จังหวัดเชียงราย และคุณลุงน้อง เปี้ยวน้อย เกษตรกรนาเกลือที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

ใครที่สนใจ The Wisdom ฉบับนี้ ง่ายนิดเดียว สอบถามไปที่ธนาคารกสิกรไทยนะฮะ แต่ถ้าไม่ใช่ลูกค้า Wisdom (แปลว่า รวยโคตร) ไม่รู้เขาจะให้หรือเปล่านะฮะ อันนี้คงต้องลองเอง ❤

หนังสือแนะนำสำหรับคน (เริ่ม) เล่นหุ้น

One Up On Wall Street

มีเพื่อนฝูงรวมไปถึงน้องนุ่งบางคนที่มาถามผมต่างกรรมต่างวาระว่า ถ้าจะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ต่อจากนี้จะขอเรียกตามที่ติดปากกันว่า “เล่นหุ้น” นะฮะ) จะเริ่มยังไง? จะหาความรู้ยังไง?

ซึ่งทุกครั้งที่เจอคำถามทำนองนี้ผมจะแนะนำหนังสือให้ไปอ่านสองเล่ม จะอ่านเล่มใดเล่มหนึ่งหรือจะอ่านทั้งสองเล่มก็แล้วแต่ถนัด ถือว่าหนังสือสองเล่มนี้เป็นการประเดิมเริ่มต้น พออ่านจบแล้วจะไปหาเล่มอื่นอ่านต่ออันนี้ก็แล้วแต่ความขยันและเอาจริงของแต่ละคน

หมายเหตุ : บอกไว้ก่อนว่า หนังสือสองเล่มนี้สำหรับคนเริ่มต้น ถ้าใครที่ระดับเซียนเหยียบเมฆหรือเชี่ยวแล้ว ข้ามไปได้เลยครับ อีกประการหนึ่งก็คือ หนังสือสองเล่มนี้มาในแนวทางของปัจจัยพื้นฐาน ไม่ได้ดูกราฟ ไม่มีเครื่องมือทางเทคนิค ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว อะไรทั้งนั้น แถมอ่านแล้วยังไม่ทำให้เป็นเซียนหุ้นขึ้นมาได้ในหนึ่งเดือนหรือสามเดือนด้วย นักลงทุนคนไหนที่ไม่สนใจในแนวปัจจัยพื้นฐาน หรืออยากรวยเร็ว ก็ข้ามไปได้เหมือนกันครับ

เล่มแรก เป็นหนังสือต่างประเทศ ชื่อว่า One Up On Wall Street เล่มนี้ออกมานานมากแล้วคือตั้งแต่ปี ๑๙๘๙ เท่ากับ ๒๗ ปีมาแล้ว เป็นหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นที่คลาสสิกมากเล่มหนึ่ง และเขียนโดยผู้บริหารกองทุนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งด้วย นั่นคือ Peter Lynch

เล่าประวัติพี่ Lynch กันนิดนึง แกเป็นผู้จัดการกองทุนที่ชื่อ Magellan Fund ในสังกัดบริษัท Fidelity Investments เกียรติประวัติของแกก็คือ แกเข้ามาเป็นผู้จัดการกองทุนที่ว่านี้ในปี ๑๙๗๗ ตอนนั้นกองทุนมีสินทรัพย์ให้บริหาร ๑๘ ล้านเหรียญ แต่ในปี ๑๙๙๐ ที่แกลาออกสินทรัพย์ของกองทุนนี้มันเบ่งบานทะยานขึ้นมาเป็น ๑.๔ หมื่นล้านเหรียญ ย้ำ หมื่นล้านนะฮะ

ในขณะที่สถิติการสร้างผลตอบแทนต่อปีของแกทำเอาไว้ที่เฉลี่ยปีละ ๒๙.๒% (เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพ คุณลุง Warren Buffett ซึ่งคนรู้จักกันทั่วโลก มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ ๒๒.๓% จากการลงทุนมารวม ๓๖ ปี) เคยมีคนคำนวณไว้ว่า ถ้าเราลงทุนในกองทุน Magellan ๑,๐๐๐ เหรียญในปีที่พี่ Lynch เริ่มเป็นผู้จัดการกองทุน แล้วขายออกตอนที่พี่ Lynch ลาออก เงิน ๑,๐๐๐ เหรียญที่ว่าจะงอกมาเป็น ๒๘,๐๐๐ เหรียญนะฮะ

นี่ถ้าจะดัดจริต ต้องอุทานว่า โฮลี่ ชิต!! ขี้ศักดิ์สิทธิ์ชัด ๆ

ด้วยเครดิตขนาดนี้ เมื่อพี่ Lynch ลุกขึ้นมาเขียนหนังสือแนะนำการเล่นหุ้นก็ทำให้หนังสือเล่มนี้ดังระเบิดระเบ้อ แถมติดอันดับขายดีได้ไม่ยาก ยิ่งกว่านั้นก็คือ เนื้อหาของหนังสือนี่ของแท้แน่นอนมากครับ เพราะแกเขียนหนังสือออกมาเพื่อให้ความรู้กันจริงจัง ไม่ใช่สร้างโพรไฟล์เพื่อเอาไปขายคอร์สอบรมอีกต่อ

ในเล่มนี้ พี่ Lynch บอกว่า นักลงทุนรายย่อยอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็สามารถเล่นหุ้นให้ได้กำไรได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องเป็นพวกมืออาชีพเสมอไป เพียงแต่ต้องรู้จักหลักการที่ถูกต้อง เลือกหุ้นเป็น รู้ว่าจะดูข้อมูลอะไรในแต่ละบริษัท นอกจากนี้ยังจัดประเภทบริษัทให้เข้าใจได้ว่ามันมีหลายแบบ มีทั้งที่เป็นบริษัทโตเร็ว โตช้า พวกยักษ์ใหญ่ บริษัทที่ผลกำไรขึ้นลงเป็นไซเคิล หรือบริษัทที่เคยแย่แต่กำลังจะฟื้น ฯลฯ อะไรพวกนี้ ไปจนกระทั่งหุ้นแบบไหนที่อย่าไปยุ่งกับมันเลย พี่เตือนแล้วนะ

รวมไปถึงพวกความคิดหรือความเข้าใจผิด ๆ บางอย่างที่หลายเรื่องตรงกันเป๊ะกับนักลงทุนรายย่อยของไทยเลยนะฮะ ขอยกตัวอย่างบางประการ เช่น

“หุ้นมันตกมาขนาดนี้แล้ว มันไม่ตกไปมากกว่านี้แล้วล่ะ” – พอช้อนเข้าไปแล้วเป็นไงฮะ ไอ้ที่ว่าถูกแล้วยังมีถูกกว่า

ในทางกลับกัน “หุ้นมันขึ้นมาขนาดนี้แล้ว มันไม่ขึ้นไปมากกว่านี้แล้วล่ะ” – พอขายแล้วเป็นไงฮะ แม่มวิ่งเป็นกระทิงเปลี่ยวเลย ขายหมูชัด ๆ

หรืออารมณ์เสียดายแบบ “โอยยยย ไม่ได้ซื้อตัวนี้ ราคาวิ่งไปแล้ว รู้งี้…” – ใช่ฮะ ถ้ารู้งี้ ถึงได้มีคนบอกว่า รู้อะไร ไม่สู้รู้งี้

เรื่องพวกนี้ พี่ Lynch มีคำอธิบายและมีเคสจริง (จากอเมริกา) ยกมาให้อ่านสั้น ๆ เพื่อความเข้าใจด้วย

เล่มนี้ผมซื้อมานาน ๒๐ กว่าปีแล้ว สภาพกระดาษเหลืองกรอบ ปกก็จะหลุดแหล่มิหลุดแหล่ จะว่าไปนี่เป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกที่ผมนั่งอ่านจริง ๆ จัง ๆ จนจบเล่ม อ่านไปเปิดดิกฯ ไป ขีดไฮไลต์คำศัพท์ที่ไม่รู้คำแปลจนพรืดไปทั้งหน้า ทำอยู่ได้สามสิบสี่สิบหน้า ไม่ไหวแล้วเว้ย เอาหลักการของคุณชายคึกฤทธิ์มาใช้ดีกว่า คุณชายบอกว่า อ่านไปเลย อย่าไปสะดุดเปิดดิกฯ อ่านไปสักพักมันจะเข้าใจเอง เออ ได้ผลจริงนะฮะ อันนี้ขอแนะนำ

ถึงเล่มนี้จะออกมานานแล้วอย่างที่ว่าแต่หลักการลงทุนก็ยังใช้ได้ในปัจจุบัน ถ้าใครสนใจไม่ต้องกังวลว่าจะไปหาซื้อได้ที่ไหนเพราะมีการพิมพ์ซ้ำออกมาเรื่อย ๆ ในร้านหนังสือภาษาอังกฤษบ้านเราก็เห็นมีอยู่นะฮะ ส่วนใครที่อยากอ่านฉบับภาษาไทยตอนนี้ก็มีแล้วเหมือนกัน ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนไทยที่ประสบความสำเร็จมากและมีชื่อเสียงมากแกแปลออกมาแล้ว ไม่แน่ใจว่าใช้ชื่อภาษาไทยว่าอะไร ลองเสิร์ชดูน่าจะเจอได้ไม่ยาก

ถ้าอ่านเล่มนี้จบแล้วอยากอ่านเพิ่ม พี่ Lynch เขียนหนังสือออกมาอีกสองเล่ม ชื่อว่า Beating the Street กับ Learn to Earn ถ้าสนใจลองหาอ่านดูได้ครับ

ตอนแรกตั้งใจว่าจะเขียนแนะนำสองเล่มแต่แค่เล่มแรกนี่ก็ยาวแล้ว อีกเล่มขอยกยอดไปคราวหน้านะครับ

One Up On Wall Street

อ่าน หนังสือแนะนำสำหรับคน (เริ่ม) เล่นหุ้น ตอนที่ ๒ ได้ที่นี่ครับ

 

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog นะครับ ❤

รีวิวหนังสือ : The Blind Side – เรื่องราวของชนชั้นที่เล่าผ่านโลกกีฬา

The Blind Side by Michael Lewis

หลังจากจบหนังสือเล่มล่าสุดของพี่ชาติ กอบจิตติ ไป (อ่านได้ที่นี่ครับ) ผมหยิบเล่มนี้มาอ่าน The Blind Side ของคุณพี่ Michael Lewis คนเดียวกับที่เขียน Flash Boys แต่เล่มนี้ออกมาก่อนหลายปีแล้ว เปิดดูที่จดไว้ถึงเห็นว่าซื้อมาตั้งแต่ปี ๕๒ นี่ปาเข้าไปปี ๕๙ แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจที่เห็นข้อความบนปกว่า กำลังจะเอาไปสร้างเป็นหนัง เล่มนี้ซื้อมาตั้งแต่ก่อนสร้างหนังอีกนะฮะ

ต้องบอกก่อนว่าผมยังไม่ได้ดูหนังที่สร้างจากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่รู้ว่าทีมงานมีการดัดแปลงบทไปจากเนื้อเรื่องแค่ไหน มีเก็บรายละเอียดประเด็นย่อยไปด้วยมั้ย ในที่นี้ก็เลยจะพูดถึงตัวหนังสืออย่างเดียวนะฮะ

พี่ Lewis เป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้น่าสนใจมากในทุกเล่มที่แกเขียน วันก่อนฟัง podcast สัมภาษณ์ Malcolm Gladwell (ซึ่งเป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องเก่งมากอีกคนนึง พี่แกสามารถเอาเรื่องยากมาย่อยให้เข้าใจได้ง่าย ๆ โคตรเทพอ่ะ) คนสัมภาษณ์ถามว่า ในความเห็นของ Gladwell ใครเป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้ดี แกตอบทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยว่า Michael Lewis แกบอกว่าอยากเล่าให้ได้แบบพี่ Lewis เลยนะฮะ นี่ขนาดมือระดับ Gladwell นะ

เล่มนี้ Lewis เล่าเรื่องเด็กวัยรุ่นผิวดำยากจนคนนึงที่บังเอิญสรีระเอื้อต่อการเล่นอเมริกันฟุตบอลในตำแหน่ง Left Tackle ซึ่งเป็นตำแหน่งที่คอยระวังป้องกันด้านซ้ายของควอเตอร์แบ็ค (ผู้เปรียบเสมือนแม่ทัพในเกมรุก) และด้วยความที่ควอเตอร์แบ็คส่วนมากจะถนัดขวา เวลาเล่นก็มักจะมองไปทางด้านขวา ทำให้ด้านซ้ายเป็นมุมบอด หรือ blind side อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือนี่เอง

ทีนี้ลำพังถ้าอยู่ของมันเองเด็กคนนี้ก็คงไปไม่ถึงไหน แต่บังเอิญมีครอบครัวอเมริกันผิวขาว ฐานะดี มีสถานภาพทางสังคมรับมาเลี้ยง ให้ที่อยู่ มีข้าวให้กิน หาเสื้อผ้าให้ใส่ ดูแลเรื่องการเรียนด้วย ทำให้ชีวิตของเด็กที่ดูแล้วไม่น่าจะไปไหนได้ไกล เพราะขนาดโตแล้วยังอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ กลับมีอนาคตขึ้นมา

ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่แค่เรื่องราวของเด็กหนุ่มคนนี้เท่านั้น แต่เฮีย Lewis ยังอธิบายให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเกมบุกและเกมรับของอเมริกันฟุตบอล รวมไปถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางข้อของ NFL (หน่วยงานกำกับดูแลและจัดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล เทียบได้กับ FIFA ในกีฬาฟุตบอลนะฮะ) เพื่อให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า ทำไมควอเตอร์แบ็คถึงมีความสำคัญมากขึ้นในเกมบุกของอเมริกันฟุตบอล และทำไมผู้เล่นในตำแหน่ง left tackle ถึงสำคัญ (และมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก) ซึ่งโยงต่อมาถึงว่า ทำไมไอ้เด็กวัยรุ่นคนนี้มันถึงเป็นที่ต้องการจากมหาวิทยาลัยทั่วทั้งสหรัฐฯ

เอาแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็สนุกแล้ว แต่ Lewis ยังแฝงประเด็นรอง (หรือจริง ๆ เป็นประเด็นหลักวะ?) คือเรื่องของชนชั้นเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ระหว่างที่อ่านเรื่องราวของวัยรุ่นผิวดำคนนี้เฮีย Lewis ก็จะแทรกเรื่องของเด็กคนอื่นให้เห็นว่า ถึงจะมีศักยภาพทางกีฬาแค่ไหน โดดเด่นแค่ไหน แต่การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี รวมถึงไม่ได้รับการสนับสนุน ผลักดัน หรือไม่มีคนเปิดประตูโอกาสให้ ก็ยากที่จะก้าวไปถึงฝั่งฝันได้

อ่านไปอ่านมาเล่มนี้กลายเป็นเรื่องของประเด็นใหญ่ทางสังคมที่น่าสนใจมาก ๆ โดยที่ใช้เรื่องของวัยรุ่นผิวดำเป็นตัวเล่าเรื่อง

โดยส่วนตัวผมอ่านเล่มนี้แล้วชอบมาก ประการแรก เรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการของอเมริกันฟุตบอลที่นำมาเล่าในเล่มนี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับตอนที่ผมดูกีฬานี้อยู่พอดี เวลาที่ Lewis พูดถึงโค้ชคนนั้น นักกีฬาคนนี้ ผมนึกภาพตามได้ไม่ยาก แถมที่สำคัญยังช่วยไขให้เข้าใจได้ว่า ทำไม Joe Montana ถึงเป็นควอเตอร์แบ็คที่ประสบความสำเร็จ ทำไม Steve Young ที่มาแทน Montana ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งที่สองคนนี้ไม่ได้มีพลังแขนโดดเด่นเท่ากับควอเตอร์แบ็คคนอื่นในยุคเดียวกันเลย รวมไปถึงได้เข้าใจว่า West Coast offense ที่เห็นบ่อย ๆ เวลาอ่านบทความหรือตอนผู้บรรยายพูดถึงเนี่ย มันคืออะไร (สำหรับคนที่สนใจ เรื่องนี้อยู่ที่หน้า ๑๑๗ นะฮะ)

ประการที่สอง เรื่องราวเด็กวัยรุ่นที่เป็นตัวเอกของเรื่องนี้น่าสนใจมากว่า จะไปได้ถึงไหน เพราะ Lewis เขียนชวนให้เราติดตาม (และลุ้น) ไปตลอดว่า อุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (ซึ่งมีเยอะด้วย) จะหยุดชีวิตของเด็กคนนี้เอาไว้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่

ประการที่สาม ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมและโอกาสที่ได้รับ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของคนแต่ละคน เรื่องนี้ไม่ต้องดูที่ไหนไกล ในประเทศไทยนี่ก็มี ข่าวคราวคนรวยทำผิดกฎหมายแต่ไม่ผิด ไม่ได้รับโทษมีอยู่บ่อยมาก ข่าวเด็กเรียนดีสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะดี ๆ ได้ แต่ไม่มีเงินเรียน เรื่องราวแบบนี้มีให้เห็นทุกปี และก็คงมีต่อไปอีกหลายปี

สิ่งที่ยากที่สุดในการอ่านหนังสือเล่มนี้สำหรับผมก็คือ การหักห้ามใจที่จะไม่เสิร์ชอินเทอร์เน็ตดูว่าชีวิตเด็กคนนี้ตอนนี้เป็นยังไง เพราะถ้าเสิร์ชดูนี่เท่ากับว่ารู้ตอนจบเลย เหมือนอ่านนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวนแต่ดันรู้ก่อนซะแล้วว่าใครเป็นคนฆ่า ความสนุกของการลุ้นระหว่างที่อ่านหมดกันพอดี ถ้าใครจะอ่านเล่มนี้ผมแนะนำไว้ก่อนเลยว่า อย่าเสิร์ชดูเด็ดขาด

สำหรับคนที่กลัวว่าไม่ได้ดูอเมริกันฟุตบอล ไม่รู้จักอเมริกันฟุตบอลแล้วจะอ่านไม่สนุก ไม่ต้องกลัวครับ อ่านแค่พอให้เข้าใจภาพรวมก็ยังสนุกได้ครับ

ขอให้มีความสุขกับการอ่านครับ ❤

 

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไปแล้วบ้าง

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๙ : Flash Boys
หนังสือเล่มที่สองของปี ๒๕๕๙ : facebook โลกอันซ้อนกันอยู่

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/

facebook โลกอันซ้อนกันอยู่ – การกลับมาของชาติ กอบจิตติ

facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่ ชาติ กอบจิตติ

ตามที่ตั้งใจไว้เมื่อตอนต้นปีว่า ปีนี้จะอ่านหนังสือ non-fiction เพียว ๆ เลย จะพยายามไม่อ่านนิยาย ทั้งเรื่องไทยเรื่องเทศ เริ่มเล่มแรก (Flash Boys อ่านรายละเอียดได้ที่นี่) ก็ผ่านไปได้สวย ก็ต่อด้วยเล่มสอง แต่พออ่านไปสักพักปรากฎว่า พี่ชาติ กอบจิตติ นักเขียนคนโปรดของผมแกออกหนังสือเล่มใหม่ออกมา ก็เลยต้องวางเล่มนั้นเอาไว้แล้วหยิบเล่มนี้แซงหน้ามาอ่านก่อน

facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่

หนังสือเล่มนี้ถ้าไม่รู้ที่มาที่ไป ดูเผิน ๆ จะนึกว่าพี่ชาติหากินง่าย เอาข้อความที่โพสต์ไว้บนเฟซบุ๊กมารวมเล่มขายแฟน ๆ แต่จริง ๆ มันไม่ง่ายอย่างนั้น (เชื่อว่าต่อให้แกทำจริง แฟน ๆ ก็ยังตามซื้อกันนะ เหนียวแน่นกันซะขนาดนี้) พี่ชาติเล่าความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า แกวางแผนจะทำหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่แรก โดยจะเขียนเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่สนใจและเป็นประเด็นที่อยู่ในใจ (หนึ่งในนั้นคือเรื่อง อี-บุ๊ก) แล้วให้บรรดาเฟรนด์ มาร่วมแสดงความคิดเห็น แชร์ข้อมูลและความรู้ที่แต่ละคนมี แล้วพอครบปีก็จะคัดเลือกและรวบรวมทั้งข้อความของแกเองและคอมเม้นต์ของคนอื่น ๆ มารวมเป็นเล่ม

จากนั้นถึงเปิดเฟซบุ๊กแล้วคัดกรองคนที่จะมาเป็นเฟรนด์ (ประมาณ ๕ พันคน) แล้วก็เริ่มโพสต์ข้อความตามที่คิดเอาไว้ หลายเรื่องเป็นไปตามแผน หลายเรื่องงอกขึ้นมาใหม่จากเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องอี-บุ๊ก การทำนาปา การทำออฟฟิศที่บ้าน เรื่องเสื้อพันธุ์หมาบ้า ฯลฯ

ผมใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนี้นานอยู่ เพราะไม่ได้อ่านเฉพาะข้อความของพี่ชาติ แต่ละเลียดอ่านคอมเม้นต์ของคนอื่น ๆ ด้วย (ซึ่งก็เป็นความรู้ที่เสริมขึ้นมา เพราะแต่ละคนก็เชี่ยวชาญหรือมีความรู้ในด้านต่าง ๆ กันไป) ที่แปลกใจตัวเองเรื่องนึงก็คือ ตอนที่อ่านอยู่ มีบางช่วงที่เผลอเอานิ้วไปไถ ๆ สไลด์ ๆ ที่หน้ากระดาษ ด้วยความเคยชิน นึกว่ากำลังอ่านเฟซบุ๊กบนหน้าจออยู่จริง ๆ (อันนี้ไม่รู้มีใครเป็นเหมือนกันบ้างมั้ย)

หนังสือเล่มนี้หนาเอาเรื่องอยู่ (๗๓๔ หน้า) แต่อ่านสนุก ถึงเป็นเรื่องที่คนอ่านไม่มีความรู้มาก่อนก็อ่านสนุก เหมือนเรานั่งฟังพี่ชาติเล่าเรื่องราวของแกหรือเรื่องที่แกสนใจให้เราฟัง แล้วก็มีคนอื่นอยู่ในวงคอยช่วยเสริมให้บทสนทนามันออกรสมากขึ้น บางครั้งพี่ชาติก็สอนประสบการณ์ชีวิตให้เราฟัง ถือเป็นการเรียนลัด เราจะได้ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกเอาเอง

เล่มนี้ถ้าเป็นแฟนพี่ชาตินี่พลาดไม่ได้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นแฟนพี่ชาติก็อ่านได้นะครับ ตอนนี้พิมพ์ครั้งที่สองแล้วด้วย

facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่
ผู้เขียน : ชาติ กอบจิตติ
สำนักพิมพ์ : หอน
ราคา : ๔๐๐ บาท

facebook : โลกอันซ้อนกันอยู่ โดย ชาติ กอบจิตติ

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไป…

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๙ : Flash Boys

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/ ครับ

สดุดี (คนอื่น) : หนังสือ (เล่มแรก) ของหม่อมเต่า

สดุดี (คนอื่น) - ปกหน้าปกหน้าดูเรียบ ๆ แต่มีลูกเล่นซ่อนอยู่ (ดูท้ายโพสต์)

ชื่อ หม่อมเต่า (หรือ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล) หายไปจากแวดวงสื่อ ทั้งหน้าหนังสือพิมพ์และทีวีมานานหลายปี แต่ถ้าเป็นคนวัยใกล้ ๆ ๔๐ ขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอยู่ในแวดวงเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง (รวมทั้งสื่อมวลชน) ด้วยแล้วก็น่าจะยังจำกันได้ดีในฐานะที่หม่อมเต่าเป็นหนึ่งในน้อยคน (หรืออาจจะแค่คนเดียว อันนี้ยังไม่ได้เช็ค) ของประเทศไทยที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการแบงก์ชาติ (แต่ไม่ได้นั่งควบพร้อมกันนะฮะ) แล้วก็สร้างผลงานเอาไว้พอสมควร

แต่จะว่าไป ชื่อเสียงที่โดดเด่นนำหน้าและเป็นที่เลื่องลือของหม่อมเต่าน่าจะเป็น ฝีปาก ด้วยเหตุที่เป็นคนพูดตรงและดูเหมือนไม่ค่อยจะเกรงกลัวใคร (กิตติศัพท์เรื่องนี้มี urban legend อยู่หลายเรื่อง ซึ่งบางเรื่องได้รับการคอนเฟิร์มจากเจ้าตัวแล้วว่า จริง นะฮะ) แถมยังไม่ค่อยจะได้ยินหม่อมเต่าชมใครนะ

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อหม่อมเต่าลุกขึ้นมาเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิต ซึ่งตามปกติแล้วคนวัยนี้มักจะเขียน (หรือให้คนอื่นเขียน) เพื่อเล่าถึงประวัติชีวิตและคุณงามความดีของตัวเอง แต่ของหม่อมเต่านี่กลับเป็นการเขียนชมคนอื่นล้วน ๆ ทั้งเล่ม จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่า คนอย่างหม่อมเต่าจะชมใคร?

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุลชีวิตนี้ไม่เคยนึกว่าจะเห็นหม่อมเต่าใน looks นี้

หนังสือ สดุดี (คนอื่น) เล่มนี้มีอยู่ ๑๑ บท ตามด้วยบทสัมภาษณ์พิเศษอีกสองคน ชื่อของแต่ละบทที่ตั้งไว้ไม่สามารถเดาได้เลยว่าจะสดุดีใคร อย่างเช่น จักจั่นที่โรงแรมเคมปินสกี้ ความอิสระของแบงก์ชาติ โชติช่วงชัชวาล และภาษีคนรวย ยกเว้นอยู่บทเดียวที่บอกกันโต้ง ๆ คือ สดุดีคุณธารินทร์ (ซึ่งจะเป็นธารินทร์ไหนไปเสียไม่ได้ นอกจากธารินทร์ นิมมานเหมินท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็หายไปจากแวดวงสื่อแล้วเหมือนกัน)

ส่วนบทอื่นจะเป็นการสดุดีใครบ้างนั้น อันนี้ต้องลองไปเปิดดูเอง

แรงบันดาลใจของหม่อมเต่าในการเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาก็คือ มีคนที่ทำความดีที่สำคัญจำนวนมากที่ไม่ได้รับการรับรู้ ไม่ได้รับการชื่นชมตามสมควร หม่อมเต่าก็เลยเขียนหนังสือขึ้นเพื่อเป็นกำลังใจต่อคนที่ทำความดีทุกคนว่า อย่าท้อกับการทำความดี ถึงอย่างไรก็ต้องมีคนเห็น อย่างที่เอามาเป็นสโลแกนในการโปรโมตหนังสือว่า

ทำความดี อย่าคิดว่าไม่มีใครเห็น

โดยหม่อมเต่าเล่าว่า แต่ละเรื่องที่เขียนขึ้นไม่ได้คิดเอาไว้ก่อนว่าจะสดุดีใคร แต่เลือกเอาจากสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศ แล้วจึงค่อยไปตามหาข้อมูลว่า เรื่องนั้น ๆ ใครเป็นคนทำขึ้นมา แล้วก็สดุดีคนนั้นแหละ ซึ่งในบางเรื่องหากมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งก็สดุดีผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

เนื้อหาหลัก ๆ ของแต่ละบทจะเกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง รวมไปถึงความมั่นคง ซึ่งแทบทุกเรื่องมีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาก้าวหน้า และฝ่าวิกฤติที่สำคัญต่าง ๆ มาจนถึงวันนี้ได้

และด้วยความที่หม่อมเต่าเองมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในเรื่องเหล่านี้ด้วยในฐานะของคนวงใน ที่เข้าใจเหตุผลความเป็นมาของสิ่งที่เกิดขึ้น และเข้าใจความยากลำบากของการที่จะผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นได้ เรื่องเล่าในแต่ละบทจึงสอดแทรกไปด้วยมุมมอง ความคิดเห็น และที่สำคัญคือ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ไม่เคยเปิดเผยออกสู่ภายนอกมาก่อน

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ให้เห็นภาพก็คือ ข้อความที่ปกหลังของหนังสือที่หยิบยกมาจากเนื้อหาภายในเล่ม มีข้อความหนึ่งเขียนว่า

Quote จากสดุดี (คนอื่น)นี่ไม่กล้าพิมพ์เอง กลัวโดนเรียกไปปรับระดับน้ำในหู ก็เลยเอารูปมาลงให้เห็นว่าไม่ได้เขียนเองนะฮะ

หรือ ข้อความนี้

Quote จากสดุดี (คนอื่น)

ถ้าถามถึงจุดขายของหนังสือเล่มนี้ ประการแรกก็คือ ตัวผู้เขียนเอง ที่มีโปรไฟล์เป็นที่รู้จักกันดีทั้งในแง่ชีวิตการทำงานและกิตติศัพท์ส่วนตัว

ประการต่อมา คนที่มีโปรไฟล์ระดับนี้อุตส่าห์เขียนหนังสือเพื่อชมคนอื่นทั้งที ก็น่าสนใจว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครและได้ทำอะไรลงไป

อีกประการหนึ่ง ต่อให้ไม่สนใจว่าผู้เขียนจะชมใคร แต่เรื่องราวที่กล่าวถึงในหนังสือก็เป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทยในช่วง ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมา การได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้จะทำให้เข้าใจได้ว่า ประเทศไทยในวันนี้ส่วนหนึ่งมีที่มาจากอะไร

ประการสุดท้าย คงมีน้อยคนที่อุตส่าห์ลงแรงเขียนหนังสือเพื่อสดุดีคนอื่น แล้วยังออกเงินส่วนตัวเพื่อพิมพ์ออกมาให้คนได้อ่านกัน แถมยังตั้งใจว่าจะเอาเงินทุกบาทที่ได้จากการขายหนังสือเล่มนี้ไปบริจาคเพื่อการกุศลอีกด้วย

นี่ได้ยินว่าพิมพ์ครั้งแรก ๕,๐๐๐ เล่มหมดตั้งแต่ยังไม่เปิดตัวนะ

ขอให้มีความสุขกับการอ่านนะครับ ❤

สดุดี (คนอื่น)ปกหน้าดูตรง ๆ ไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่พอเอียงให้แสงตกกระทบจะเห็นความแวววาวที่เป็นลูกเล่นซ่อนอยู่

 

สดุดี (คนอื่น) - ปกหลัง

 

สดุดี (คนอื่น)
ผู้เขียน : ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
ราคา : ๒๓๕ บาท

 

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/WhatWeReadBlog ครับ

รีวิวหนังสือ : Flash Boys – เมื่อเวลา (เสี้ยววินาที) เป็นของมีค่า (มหาศาล)

Flash Boys

ตามที่เล่าไว้แล้วว่าปีนี้จะมุ่งอ่านหนังสือ non-fiction เป็นหลัก ประเดิมเล่มแรกของปีด้วยเล่มนี้ครับ Flash Boys ที่เคยมีผู้หลักผู้ใหญ่คนนึงแนะนำว่า ดี น่าอ่าน (จากโพสต์นี้ครับ) พอจบเล่มส่งท้ายปีที่แล้วเรียบร้อยก็หยิบเล่มนี้มาต่อเลย

Flash Boys เป็นผลงานของ Michael Lewis พี่คนนี้เป็นหนึ่งในนักเขียนด้านการเงินที่ดีและดังที่สุดคนนึงของโลก เขียนเข้าใจง่าย ใช้ภาษาอ่านสนุก ไม่น่าเบื่อ ผลงานแต่ละเล่มติดระดับเบสต์เซลเลอร์แทบทั้งนั้น เอาที่ดัง ๆ ไล่มาตั้งแต่เล่มแรกที่เป็นผลงานสร้างชื่อ คือ Liar’s Poker ที่เล่าถึงชีวิตการทำงานที่ Salomon Brothers (ซึ่งในวันนั้นเป็นเจ้าพ่อตลาดบอนด์ของโลก) เป็นเล่มแรก ๆ ที่คนวอลล์ สตรีตออกมาเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวในแวดวงวอลล์ สตรีต

เล่มนี้ขายดิบขายดีและดังถึงขนาดที่ว่า ในช่วงทศวรรษ ๑๙๙๐ พูดกันว่า ก่อนเข้าทำงานในวอลล์ สตรีตต้องอ่านหนังสือสองเล่มและดูหนังเรื่องนึงก่อนเพื่อจะได้เข้าใจวัฒนธรรมของวงการนี้ หนังสือสองเล่มที่ว่าก็คือ Liar’ Poker กับ The Bonfire of the Vanities (ของ Tom Wolfe) ส่วนหนังก็แน่นอน Wall Street ของเฮียโอลิเวอร์ สโตน นะฮะ

ผลงานของพี่ลิวอิสยังมี Money Ball เล่มนี้ขายดีระเบิดระเบ้อและมีการสร้างเป็นหนังมีพี่แบรด พิตต์ แสดงนำ

แล้วก็มี The Blind Side ที่เป็นเรื่องราวในแวดวงอเมริกันฟุตบอล ที่เอามาสร้างหนังเหมือนกันแล้วก็ส่งให้ป้าแซนดร้า บูลล็อกได้ออสการ์ไป

ล่าสุดที่เพิ่งเข้าโรงบ้านเราไปไม่นานก็ The Big Short ที่เป็นเรื่องราวของแฮมเบอร์เกอร์ ไครซิสเมื่อหลายปีก่อน หนังสือเล่มนี้ต้องบอกว่า อธิบายที่มาและสาเหตุของวิกฤติครั้งนั้นให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดจากที่อ่านมาหลายเล่ม

(จริง ๆ ยังมีเล่มอื่นอีก แต่แค่นี้ก็คงพอเห็นฝีมือของพี่เค้านะฮะ)

กลับมาที่ Flash Boys เล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของตลาดหุ้นที่สหรัฐฯ ประเด็นก็คือ หลายปีที่ผ่านมานักลงทุนที่สหรัฐฯ เจอปัญหาว่า เวลาส่งคำสั่งซื้อไปที่ตลาดหุ้นแล้ว ปรากฎว่า หุ้นที่เห็น ๆ อยู่ว่ามีออร์เดอร์ขายอยู่เพียบมันกลับหายไปเฉย ๆ หายไปต่อหน้าต่อตาเลย ถ้ายังอยากได้ก็ต้องขยับราคาให้สูงขึ้นถึงจะซื้อได้ ในทางกลับกัน เวลาส่งคำสั่งขายไป ไอ้ยอดบิดที่เห็นอยู่บนจอมันก็หายไปซะงั้น ขายไม่ได้จ้า ถ้าอยากขายต้องลดราคาลงมาอีก เจอแบบนี้กันถ้วนหน้า นี่ว่ากันระดับนักลงทุนสถาบันด้วยนะ ไม่ใช่นักลงทุนรายย่อยแบบเรา ๆ ท่าน ๆ แล้วทุกคนก็หาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้

ในที่สุดก็มีคนกลุ่มนึงที่มานั่งสืบสาวราวเรื่องปะติดปะต่อจนรู้ได้ว่า มันมีนักลงทุนกลุ่มนึงที่สหรัฐฯ เรียกกันว่าพวก High-frequency trading firm (อันนี้จนใจ ไม่รู้จะแปลยังไงครับ ใครมีคำแปลดี ๆ ช่วยบอกมาด้วยละกัน ตอนนี้เท่าที่คิดได้ ขอเรียกว่า นักลงทุนแบบเทรดถี่ คือ จากพฤติกรรมมันเทรดกันถี่ยิบ ก็ตรงตามชื่อว่า high frequency trading นะ) นักลงทุนกลุ่มนี้สามารถนำเอาสัจธรรมที่ว่า “เวลาเป็นของมีค่า” มาทำให้เป็นรูปธรรมได้ แต่เวลาที่ว่านี่ไม่ได้นับกันเป็นนาทีหรือวินาที แต่ว่ากันที่ระดับ หนึ่งในพัน หรือหนึ่งในล้านของวินาที เร็วกว่ากระพริบตาอีก

สิ่งที่นักลงทุนพวกนี้ทำก็คือ มันคอยจับสัญญาณว่ามีใครซื้อหรือขายหุ้นตัวไหน แล้วชิงส่งคำสั่งซื้อ/ขายไปตัดหน้า เพื่อกว้านซื้อหุ้นเอาไว้ก่อนหรือชิงขายหุ้นออกก่อน โดยที่สามารถทำทั้งหมดนี้ได้ในเวลาที่ว่านั่นแหละ หนึ่งในพันหรือในล้านของวินาที วิธีแบบนี้เรียกกันว่า flash trade (ส่วนที่ว่าทำไมถึงชิงตัดหน้าชาวบ้านได้ อันนี้ต้องไปอ่านเองนะครับ สนุกมาก)

ทีเด็ดของการทำแฟลช เทรดก็คือ นักลงทุนที่ถูกเทรดตัดหน้าก็ไม่รู้ตัว ไม่รู้เรื่อง (เพราะมันเกิดขึ้นเร็วมากอย่างที่ว่า) แล้วคนทำก็ได้กำไรทุกครั้งที่เทรด โดยมีการคำนวณว่า กำไรของพวกไฮ ฟรีเควนซี่ เทรดดิ้ง เฟิร์มพวกนี้จะตกอยู่ที่ประมาณวันละ ๑๖๐ ล้านเหรียญ ต่อวันนะครับ นี่เฉพาะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ประเทศเดียว ปีนึงเทรดกันกี่วันก็คูณเพิ่มเข้าไป

ทีนี้พอสืบจนรู้แล้วว่าเรื่องราวมันเป็นไงมาไง ก็มีความพยายามที่จะแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งตลาดหุ้นใหม่ขึ้นมา (สหรัฐฯ มีตลาดหุ้นหลายแห่ง ใครอยากตั้งก็ตั้งได้ถ้าผ่านข้อกำหนดที่ทางการตั้งเอาไว้) ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะระบบเดิมที่เป็นอยู่ทุกคนที่เกี่ยวข้องล้วนได้ประโยชน์กันหมด ตั้งแต่ตัวไฮ ฟรีเควนซี่ เทรดดิ้ง เฟิร์ม บรรดาโบรกเกอร์ ไปจนถึงตลาดหุ้น (ซึ่งอยู่ในฐานะบริษัทที่ต้องทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น) ส่วนคนเสียประโยชน์มีแค่นักลงทุนฝ่ายเดียว

รายละเอียดมากกว่านี้อยากให้ลองอ่านดู สนุกมาก ได้ความรู้เพียบ แต่ถ้าไม่มีพื้นเรื่องตลาดหุ้นมาก่อนอาจมีงง ๆ อยู่บ้าง

เล่มนี้แนะนำเลย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้ ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสมาเกิดในบ้านเรา รู้ไว้ก่อนจะได้เป็นการเตรียมตัวสู้ศึกในวันข้างหน้าครับ

รีวิวหนังสือ : คดีเจ็ดแพะ & คดีศพล่องหน – นิยายนักสืบจากนักเขียนสองซีไรต์

คดีเจ็ดแพะ : วินทร์ เลียววาริณ

หลังจากจบเล่มที่ ๑๓ (ตามล่านาซี) ทะลุเป้าที่ตั้งใจเอาไว้เป็นที่เรียบร้อย ผมก็หยิบ Flash Boys มาตั้งท่าจะอ่าน ตามที่เคยเล่าไว้ว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่ท่านนึงแนะนำว่า เล่มนี้ดี อ่านเถอะ!! (เล่าไว้ในโพสต์นี้ครับ) เปิดอ่านไปได้สักสิบหน้าเหมือนมันล้ามาจากการอ่านเล่มยาวก็เลยวางไว้ก่อน เปลี่ยนไปหยิบรวมเรื่องสั้นชุดพุ่มรัก พานสิงห์ ของพี่วินทร์ เลียววาริณ ที่เพิ่งสั่งซื้อมาเปิดอ่านก่อนดีกว่า เล่มนี้ชื่อว่า คดีเจ็ดแพะ

เกริ่นกันนิดนึงสำหรับคนที่ไม่เคยอ่านเรื่องชุดพุ่มรัก พานสิงห์

พุ่มรัก นี่เป็นนักร้องเพลงลูกทุ่งนะครับ เป็นคนอีสาน เว้าอีสานกันเลยล่ะ แต่แกมีความสามารถพิเศษในด้านการสืบสวนคดีต่าง ๆ ก็เลยถูกตำรวจตามตัวมาช่วยไขคดีโน้นคดีนี้อยู่เป็นประจำ ตั้งแต่คดีใหญ่จำพวกฆาตกรรม จี้ ปล้น ไปจนถึงคดีอย่างลักเล็กขโมยน้อย จนดูเหมือนจะกลายเป็นงานหลักของแกไปแล้วด้วยซ้ำ จุดเด่นอีกประการของแกที่ต่างจากนักสืบดัง ๆ ของเมืองนอกอย่างเชอร์ล็อก โฮล์มส์ หรือ ปัวโรต์ ก็คือ พี่แกมีอารมณ์ขันและความกวน (อวัยวะเบื้องล่าง) อย่างล้นเหลือ

สำหรับคดีเจ็ดแพะ นี่เป็นกรณีที่ผู้ช่วยสาวของพุ่มรักถูกจับตัวไป และคนร้ายสั่งให้พุ่มรักไขคดีทั้งหมดเจ็ดคดีด้วยกัน ซึ่งแต่ละคดีจริง ๆ ก็จับตัวผู้ก่อเหตุได้แล้วและศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว แต่คนร้ายมีเหตุที่เชื่อได้ว่า คนที่ถูกลงโทษทั้งเจ็ดคดีที่ว่าเป็น “แพะ” โดยที่คนร้ายตัวจริงยังลอยนวลอยู่ หน้าที่ของพุ่มรักในครั้งนี้คือการสืบหาตัวคนร้ายที่แท้จริงของทั้งเจ็ดคดี

โดยเมื่อไขคดีได้หนึ่งคดี คนร้ายก็จะส่งข้อมูลสถานที่ที่จับตัวผู้ช่วยของพุ่มรักมาให้ และเมื่อรวมข้อมูลที่ได้จากทั้งเจ็ดคดีแล้วก็จะรู้ได้ว่าผู้ช่วยถูกจับตัวอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น ถ้าพุ่มรักอยากได้ตัวผู้ช่วยกลับคืนมาก็ต้องไขคดีให้สำเร็จทั้งเจ็ดคดี พลาดไม่ได้เลย

ทั้งเจ็ดคดีในเล่มนี้คือที่ว่าของชื่อ คดีเจ็ดแพะ ซึ่งก็มีตั้งแต่คดีฆาตกรรม คดีฆ่าพระ คดีลักพาตัวเด็ก ฯลฯ ซึ่งแต่ละคดีมีความซับซ้อน ซ่อนเงื่อนแตกต่างกัน อ่านไปก็คิดตามไปด้วยแล้วลุ้นตอนท้ายว่า ไอ้ที่เราคิดมันจะใช่มั้ย

หลังจากที่พุ่มรักไขคดีสำเร็จทั้งเจ็ดคดีเป็นที่เรียบร้อย พี่วินทร์ยังมีบทส่งท้ายให้อ่านต่ออีกหนึ่งบท ขอไม่บอกล่วงหน้าว่าเป็นอะไร แต่บอกได้ว่า ต้องอ่านนะครับ

คดีศพล่องหน : วินทร์ เลียววาริณ

จบจากคดีเจ็ดแพะ ผมหยิบคดีศพล่องหน มาอ่านต่อเลยเพื่อความต่อเนื่อง เล่มนี้เนื้อเรื่องไม่ได้เกี่ยวเนื่องกันทั้งเล่มเหมือนเล่มที่แล้ว แต่เป็นคดีแยกกันไปเจ็ดคดี เปิดมาด้วยคดีที่เป็นชื่อเล่ม คือ คดีศพล่องหน จากนั้นก็เป็นเรื่องอื่น ๆ ทั้งคดีฆาตกรรม ตามหาคนหาย แล้วก็ตามรอยคนเจ้าชู้

สำหรับเล่มนี้ผมคิดว่าเนื้อเรื่องด้อยกว่าเล่มแรกอยู่พอสมควร ระหว่างที่อ่านมีความรู้สึกว่าหลายคดีมันเฉย ๆ อ่านแล้วไม่ได้รู้สึกว่า โห!! หรือ เฮ้ย เจ๋งว่ะ!! เหมือนเล่มก่อน ๆ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกว่า นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะการจะคิดพล็อตเรื่องแนวนักสืบแต่ละเรื่องให้คม ให้หักมุม ให้มันซับซ้อนไปซะทุกเรื่องมันหนักหนาสาหัสอยู่มาก ถือว่าอ่านเพลิน ๆ ได้อยู่นะครับ

 

คดีเจ็ดแพะ
ผู้เขียน : วินทร์ เลียววาริณ
สำนักพิมพ์ : ๑๑๓
ราคา : ๑๙๕ บาท

คดีศพล่องหน
ผู้เขียน : วินทร์ เลียววาริณ
สำนักพิมพ์ : ๑๑๓
ราคา : ๒๑๐ บาท

 

หมายเหตุ : โพสต์นี้ตั้งใจว่าจะเขียนตั้งแต่ก่อนสิ้นปี นี่ลากยาวมาจนจะสิ้นเดือนมกราคม ไม่มีเหตุอื่นใดเลย นอกจากความขี้เกียจล้วน ๆ เลยครับ

 

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไป… 

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๘ : Gone Girl

หนังสือเล่มที่สองของปี ๒๕๕๘ : ระวังหลัง

หนังสือเล่มที่สามของปี ๒๕๕๘ : Offscreen

หนังสือเล่มที่สี่ของปี ๒๕๕๘ : กับดักฆาตกร

หนังสือเล่มที่ห้าของปี ๒๕๕๘ : แกล้ง

หนังสือเล่มที่หกของปี ๒๕๕๘ : ลวง

หนังสือเล่มที่เจ็ดของปี ๒๕๕๘ : สารวัตรเถื่อน

หนังสือเล่มที่แปด & เก้าของปี ๒๕๕๘ : แม่ลาวเลือด

หนังสือเล่มที่สิบของปี ๒๕๕๘ : สาบสูญ

หนังสือเล่มที่ ๑๑ ของปี ๒๕๕๘ : ผู้ยิ่งใหญ่

หนังสือเล่มที่ ๑๒ ของปี ๒๕๕๘ : ห้องสมควรตาย

หนังสือเล่มที่ ๑๓ ของปี ๒๕๕๘ : ตามล่านาซี