Last Issue: Health & Cuisine ฉบับ ๑๙๙ สิงหาคม ๒๕๖๐

Health & Cuisine ฉบับที่ ๑๙๙ เดือนสิงหาคม ๒๕๖๐

นิตยสาร Health & Cuisine ของบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ฉบับล่าสุดเดือนสิงหาคม ๒๕๖๐ เป็นฉบับที่ ๑๙๙ และเป็นฉบับสุดท้ายของนิตยสารฉบับนี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับแฟนนิตยสารแนวทำอาหารลักษณะนี้คงใจหายไม่น้อย เพราะเมื่อเดือนที่แล้วนิตยสาร ครัว ก็เพิ่งปิดตัวไปหลังจากที่ยืนระยะบนแผงมาได้ยาวนานถึง ๒๔ ปี

คุณเมตตา อุทกพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งนิตยสาร Health & Cuisine ระบุสาเหตุของการปิดตัวเอาไว้ในเล่มว่า

“ปัญหาใหญ่คือความนิยมของสินค้าโฆษณาที่มีทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น ทำให้หน้าโฆษณาในนิตยสาร Health & Cuisine ลดลงจนไม่คุ้มกับการทำนิตยสารต่อไป”

แต่ก็ใช่ว่า Health & Cuisine จะหายไปเลยนะครับ เพราะได้เปลี่ยนรูปจากอนาล็อกไปเป็นดิจิทัล ไปอยู่ที่เว็บไซต์ goodlifeupdate.com และที่ facebook fan page ในชื่อว่า Health & Cuisine

แฟน ๆ นิตยสารและผู้สนใจเรื่องราวอาหารและสุขภาพก็ขอเชิญติดตามกันได้ทางช่องทางใหม่ที่เขาบอกมานะครับ 😊

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/

นิตยสาร way ฉบับที่ ๑ : ตุลาคม ๒๕๔๙

นิตยสาร way ฉบับที่ ๑ เดือนตุลาคม ๒๕๔๙

สิบปีที่แล้ว หลังจากนิตยสาร a day Weekly ปิดตัวลง แต่ อธิคม คุณาวุฒิ ผู้เป็นบรรณาธิการมีความรู้สึกว่ามันยังไม่จบ ความต้องการทำนิตยสารของเขาเป็นแรงขับให้เกิดนิตยสารหัวใหม่เล่มนี้ขึ้นมา

way

ฉบับแรกออกวางแผงในเดือนตุลาคม ๒๕๔๙ โดยมีคำโปรยปกว่า MY WAY! ที่เหมือนจะบอกนัยโดยอ้อมถึงจุดยืนหรือทัศนะบางประการของนิตยสารเล่มนี้

เนื้อหาในเล่มมีทั้งที่เป็นคอลัมน์ สกู๊ป และสัมภาษณ์ ในเล่มแรกนี้บทสัมภาษณ์ใหญ่เป็นฝีมือของ วรพจน์ พันธุ์พงศ์ ที่พาผู้อ่านไปรู้จักตัวตนและความคิดของ น้อย วงพรู หรือ กฤษฎา สุโกศล แคลปป์ ที่ในวันนั้นเป็นข่าวใหญ่โตขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หลายฉบับ จากกรณีที่ไปมีเรื่องวิวาทกับร็อกเกอร์ เสก โลโซ

ส่วนสัมภาษณ์รองเป็นเจ้าพ่อบันเทิงคดี มาโนช พุฒตาล ที่มาเปิดบ้านพูดคุยกัน

สำหรับคอลัมนิสต์ในเล่มนี้เรียกได้ว่าจัดหนักสำหรับคอสายนี้ เพราะมีทั้ง ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ไชยันต์ ไชยพร สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ พิษณุ นิลกลัด โตมร ศุขปรีชา และคนอื่นอีกมาก

ก่อนจะจบ อยากให้ดูภาพและข้อความในภาพนี้ที่ยกมาจากหน้า ๒๗ สำหรับผม เปิดเจอทีแรกตอนที่จะเขียนโพสต์นี้ ต้องพลิกกลับไปดูเดือนและปีบนหน้าปกใหม่อีกรอบ ให้แน่ใจว่าไม่ใช่เล่มที่เพิ่งออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้

นิตยสาร way ฉบับที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙

ขยายดูกันชัด ๆ

นิตยสาร way ฉบับที่ ๑ เดือนตุลาคม ๒๕๔๙

หมายเหตุ : ติดตาม What We Read Blog ได้อีกหนึ่งช่องทางที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/ นะครับ

นิตยสาร Corporate Thailand ซีพีกินรวบประเทศไทย

นิตยสาร Corporate Thailand ฉบับปฐมฤกษ์ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙
นิตยสาร Corporate Thailand ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ออกวางจำหน่าย คือเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๙ นี่ก็เกือบ ๒๐ ปีแล้ว ต้องบอกว่า ตอนที่ออกมานี่เรียกเสียงฮือฮาได้มากเลยทีเดียว เพราะนอกจากเรื่องจากปกแล้ว นิตยสารฉบับนี้ยังเต็มไปด้วยคอลัมนิสต์ด้านนโยบายและเศรษฐกิจที่เรียกได้ว่าชั้นแนวหน้าที่สุดของประเทศไทยในเวลานั้น

บอกไว้ก่อนว่าแต่ละคนนี่ประวัติการทำงานล้นเหลือมาก ใครอยากรู้ไปเปิดวิกิพีเดียดูเอาเองนะฮะ ไม่ว่าจะเป็น ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ และดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เห็นชื่อแต่ละคนแล้วต้องบอกว่า ขนาดผ่านมาเกือบ ๒๐ ปียังน่าสนใจ แล้วในเวลานั้นจะขนาดไหน

ในส่วนของเรื่องจากปก ซึ่งได้ไล่เรียงและอธิบายถึงแนวคิดการทำธุรกิจของซีพี รวมถึงการขยายตัวออกไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ นอกเหนือจากธุรกิจเกษตรที่เป็นรากฐานเดิม ไม่ว่าจะเป็นสื่อสาร ค้าปลีก ค้าส่ง และปิโตรเคมี

แต่ธุรกิจของซีพีในวันนั้นกับปัจจุบันอาจต่างกันไปบ้าง เนื่องจากวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๔๐ ทำให้ซีพีต้องปรับตัว โดยจำใจตัดขายบางธุรกิจออกไปก่อนแม้รู้ว่าวันข้างหน้าธุรกิจนี้จะประสบความสำเร็จแน่นอน เช่น โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจที่กองบรรณาธิการนำมาลงไว้ก็คือ บรรดาสายสัมพันธ์ทั้งหลายของซีพี ที่มีต่อคนในภาครัฐและการเมือง ทั้งที่มีสีและไม่มีสี ความสัมพันธ์นี้น่าจะช่วยอธิบายอะไรได้หลายอย่าง

อ่านชุดเรื่องจากปกแล้วก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไมทีมงานถึงใช้คำโปรยปกว่า ซีพีกินรวบประเทศไทย

นอกจากเรื่องจากปกและคอลัมนิสต์ที่ว่ามาแล้ว ในเล่มนี้ยังมีสัมภาษณ์พิเศษอีกสองคน คือ ดร.สม จาตุศรีพิทักษ์ ผู้เป็นพี่ชายแท้ ๆ ของดร.สมคิด โดย ณ ขณะนั้นดร.สม เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย (ปัจจุบันถูกธนาคารธนชาตซื้อไปแล้ว) และหลังจากนั้นอีกเพียงปีเดียวได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

บทสัมภาษณ์อีกคนคือ เอกกมล คีรีวัฒน์ อดีตเลขาธิการคนแรกของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งพ้นจากตำแหน่งในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา เป็นบทสัมภาษณ์ที่คุณเอกกมลมาเล่าถึงชีวิตและความรู้สึกหลังพ้นจากราชการและอยู่ในระหว่างถูกฟ้องดำเนินคดี

เรื่องราวในนิตยสารเล่มนี้หากจะมองว่าเป็นข้อมูลเก่า ล้าสมัย ก็คงได้ แต่การได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ก็ช่วยให้เราเห็นภาพและเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้มากขึ้นนะครับ

สำหรับนิตยสาร Corporate Thailand ปัจจุบันปิดตัวไปแล้วครับ

 

ติดตาม What We Read Blog ทาง facebook ได้ที่ https://www.facebook.com/WhatWeReadBlog ครับ