What We Read: พรชัย แสนยะมูล (กุดจี่)

พรชัย แสนยะมูล (กุดจี่)

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

หมายเหตุ : ขอขอบคุณ คุณกนกวรรณ บัวงาม บรรณารักษ์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำหรับการสัมภาษณ์ครั้งนี้

 

ชื่อ-นามสกุล : พรชัย แสนยะมูล (กุดจี่)

อาชีพ : นักเขียน

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ไม่ได้จัดสรรขนาดนั้นครับ เพราะผมไม่ใช่เจ้าของหมู่บ้านจัดสรร (ฮา) การอ่านหนังสือ หรือการเขียนหนังสือก็เหมือนกับการใช้ชีวิตประจำวัน ผมต้องนอนทุกวัน ตื่นทุกวัน ทานอาหารทุกวัน เข้าห้องน้ำปลดทุกข์ ฉี่ ทุกวัน อ่านและเขียนทุกวัน แต่การอ่านและการเขียนจะไม่เหมือนกับการตื่น การทานข้าว การนอน ที่ค่อนข้างมีเวลาตายตัว มีเวลามากก็จะอ่านวรรณกรรมเป็นเล่ม มีเวลาว่างไม่มากก็จะอ่านนิตยสารเป็นคอลัมน์ๆ ไป ครับ ทำเช่นนี้มาหลายปีแล้ว จนการอ่านการเขียนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันแล้ว แม้สายตาจะเริ่มสั้น เอียง ก้ำกึ่งยาวเกินกู่กลับ (ฮา) แต่สายใยที่ผมมีต่อตัวหนังสือยังยืนยาวต่อไป เป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวคนเขียนกับตัวหนังสือที่ค่อนข้างอธิบายยาก (ฮา)

เมื่อเธอรักตัวเองเธอจะรักการอ่าน เมื่อเธอรักคนอื่นเธอจะรักการเขียน เป้ สีน้ำ เคยกล่าวไว้เช่นนั้น สำหรับผม – ผมรักทั้งตัวเอง ผมรักทั้งคนอื่น เพราะฉะนั้น ผมจึงหลายใจ (ฮา) หนังสือไม่ได้บอกให้เรามีหลายใจต่อคนรัก แต่หนังสือบอกให้เรามีหลายใจต่อหนังสือ กล่าวคือ อ่านหนังสือหลายๆ แนวเข้าไว้ จะได้เข้าใจชีวิตครับ ทั้งชีวิตเขาและชีวิตเรา

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
ฉันกับฬา ปลาเตโร เป็นวรรณกรรมสเปนอันเลื่องชื่อของนักเขียนรางวัลโนเบล นามว่า ‘ฆวน รามอน ฆิเมเนซ’ อ่านยังไม่จบครับ ปกติผมชอบอ่านกวีนิพนธ์อยู่แล้ว มีศิลปินแห่งชาติท่านหนึ่ง (อ.สถาพร ศรีสัจจัง) ท่านได้อ่านกวีนิพนธ์เรื่อง นิธาร ของผม ท่านบอกว่าท่านชอบในภาษาที่บริสุทธิ์ และท่านยังแนะนำว่า กุดจี่ ควรจะไปหา ฉันกับฬา ปลาเตโร มาอ่าน ดูซิว่า ‘ร้อยกรองในรูปแบบร้อยแก้ว’ เป็นเช่นไร อ่านไปยังไม่ถึงครึ่งเล่ม ใจจึงยังบอกไม่ได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่ไม่ได้ตื่นเต้นนะ เมื่อไม่ตื่นเต้นกับภาษาและไม่หวือหวากับเรื่องราว มันก็เลยไม่ถึงขั้นต้องอ่านรวดเดียวจบ…แต่ ต้องอ่านให้จบ! เอาไว้ว่างเมื่อไหร่จะมาอ่านต่อครับ

นิธาร

นิธาร ผลงานกวีนิพนธ์ของ พรชัย แสนยะมูล (กุดจี่)

ปลาเตโร่

หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
กาลครั้งหนึ่งสอนให้รู้ว่า ของ ‘นิ้วกลม’ กับกวีนิพนธ์เรื่อง เงาไม่มีเงา ของ ‘นายทิวา’ ของ ‘นิ้วกลม’ นี่ เล่มนี้อ่านตอนแรกหงุดหงิด เพราะผู้เขียนเขียนนิทานด้วยรูปแบบของกาพย์กลอน ที่หงุดหงิดเพราะ สัมผัสไม่ได้ สัมผัสผิดเยอะมาก อ่านๆ ไปถึงครึ่งเล่มก็เลยขจัดความหงุดหงิดออกไปโดยคิดเข้าข้างคนเขียนว่า ‘นิ้วกลมคงตั้งใจจะไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์’ จากนั้น ความสนุกก็เกิดขึ้น เมื่อเรามุ่งตรงไปยังเนื้อหาและจินตนาการที่นิ้วกลมนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ นิ้วกลมจะเคืองไหมเนี่ยเมื่อกุดจี่ตบหัวแล้วลูบตูด (ฮา) ถ้าเคืองก็เคืองคนสัมภาษณ์ก็แล้วกันนะ (ฮา)

กาลครั้งหนึ่งสอนให้รู้ว่า

อีกเล่ม เงาไม่มีเงา ของ ‘นายทิวา’ เป๊ะมากในแง่ของฉันทลักษณ์ เป็นบทกวีแฝงธรรมะ สะกิดสะเกาให้เราได้มองสังคมแล้วย้อนดูตนเอง แม้มุมมองจะไม่ใหม่แต่ก็ได้มุมมองของธรรมะที่ลุ่มลึกไม่น้อยครับ

เงาไม่มีเงา

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร
ผู้คนแห่งมหานครดับลิน ว่ากันว่า เป็นรวมเรื่องสั้นเพียงชุดเดียวในชีวิตของ ‘เจมส์ จอยซ์’ ครับ

Dubliners

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
ข้อนี้ นึกนาน อ่านเยอะ ชอบเยอะ ตามแต่ละช่วงวัยของชีวิต ตั้งแต่ผลงานของ คาลิล ยิบราน, เฮอร์มาน เฮสเส, มิลาน คุนเดอรา, ประภาส ชลศรานนท์, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, ไพวรินทร์ ขาวงาม, บินหลา สันกาลาคีรี, พิบูลศักดิ์ ละครพล, ปะการัง, ศุ บุญเลี้ยง,โน้ต อุดม ฯลฯ จำไม่หวาดไม่ไหว ถึงยังไงอย่าลืมอ่านงานของกุดจี่นะครับ (ฮา) เอาเป็นว่า ผมยกหนังสือ พระไตรปิฎก (ฉบับที่ทำให้ง่ายแล้ว อ.วศิน อินทสระ เรียบเรียง) ให้อ่านแล้วกัน เพราะอะไรน่ะเหรอ เพราะเราเกิดมาเป็นชีวิต และสักวันเราต้องตายอย่างไรล่ะครับ ผมอยากให้กัลยาณมิตรเป็นผู้หลุดพ้น อย่างน้อยก็หลุดพ้นจากความเกลียดชัง ครับ

What We Read: เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

Kriengkrai
ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : เกรียงไกร พรพิพัฒน์กุล

อาชีพ : นักข่าวต่างประเทศ (จีน) ASTV ผู้จัดการ

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
เวลาอ่านหนังสือของผมก็จะมีทั้งแบบไปยืนอ่านในร้านเลย (^^) mindmap เอา ระหว่างรอรับลูก และแบบสอง ด้วยความที่หนังสือส่วนใหญ่ที่ซื้ออ่านจะเป็นหนังสือความรู้ มากกว่า บันเทิง มันเลยไม่ต้องอ่านต่อเนื่องรวดเดียว ถึงอ่านรวดเดียว ก็จำไม่ได้อยู่ดี (หงึก) บางเล่มพิเศษนี่ อ่านกันเป็นปี เช่น The Monocle Guide to Better Living ฯลฯ … ส่วนถ้าเป็นหนังสือที่อ่านรวดเดียวจบก็มีครับ คือแบบตีตั๋วดูหนังเลยนะ คืนวันเสาร์จัดไป นั่งเก้าอี้เอน น้ำ ขนมพร้อม ๓ ชั่วโมง อิ่มเลย เช่น ลำนำกระเทียม (มั่วเหยียน)

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
Ernest Hemingway Selected Letters ๑๙๑๗-๑๙๖๑

หนังสือเล่มนี้ กำลังอ่าน (เรื่อยๆ มาสิบกว่าปีแล้ว) ซื้อจากแผงหนังสือมือสองมาเกือบ ๒ ทศวรรษแล้ว ตอนนั้นซื้อเพราะอยากฝึกเขียนจดหมายภาษาอังกฤษ ไม่ได้จะวรรณกรรมกับเค้าเลย (ประมาณลงคอร์สเขียนจดหมายกับนักเขียนโนเบลมากกว่า) แต่พออ่านๆ ไป … ก็ติดเลย! ‘รวมจดหมายของเฮมิงเวย์’ นักข่าว นักประพันธ์นวนิยายและนักเขียนเรื่องสั้นชาวอเมริกัน นี้ เป็นการรวมจดหมายที่เขาเขียนถึงคนนั้นคนนี้ เกือบ ๖๐๐ ฉบับ ตลอดช่วงชีวิตการทำงานและความสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตของเขา (ประมาณอายุ ๑๗ จนกระทั่งเสียชีวิตวัย ๖๑ ปี) คือตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนก้าวสู่สุดยอด แล้วก็โรยลาลับไป

hemingway
หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
เต๋าเต็กเก็ง
(เต๋าเต๋อจิง, Tao Te Ching, 道德經) เป็นหนังสือเล่มล่าสุดที่อ่าน (จริงๆ ล่าสุด เพราะเป็นหนังสือที่อ่านประจำมากกว่า ๓ – ๔ วัน อ่านทีนึง บทจะสั้นๆ อ่านแค่ย่อหน้าเดียวยังไหว และก็พอจะตีความคิดเอง (เออเอง) ไปได้เรื่อยๆ… อย่างตอนที่ สารคดี “Finding Vivian Maier: คลี่ปริศนาภาพถ่ายวิเวียน ไมเออร์” ฉายในไทย! ทำให้รู้จัก งานถ่ายภาพแนวสตรีทยุคทศวรรษ ๕๐ – ๖๐ ระดับยอดฝีมือของวิเวียน ไมเออร์ สตรีโนเนมฯ ที่ตลอดชีวิตเธอยึดอาชีพเป็นพี่เลี้ยงเด็ก และไม่ยอมให้ใครได้เห็นรูปที่เธอถ่าย จนกระทั่งจากโลกนี้ไป จึงค่อยมีผู้ประมูลกล่องเก็บภาพที่เธอทิ้งไว้ มาเผยแพร่ในภายหลัง

เรื่องนี้ผมนี่คิดถึงเต๋า ในเรื่อง โนเนมฯ เลย – ในโลกมีอะไรอีกมากมายที่ยังไม่ถูกพบเจอ หรือบัญญัติชื่อ ยังมีผู้รู้มากมาย ที่ไม่เคยสอนฯ มีนักเขียนยิ่งใหญ่ที่ไม่พิมพ์หนังสือสักเล่ม วิเวียน ผู้เก็บภาพถ่ายฯ ไว้เพียงในลิ้นชัก ก็เหมือนกัน … ‘เต๋า ที่มีชื่อที่เรียกขานได้ ยังมิใช่ชื่ออันยั่งยืน … เพราะ “ไร้ชื่อ” จึงเป็นต้นกำเนิดแห่งฟ้าดิน … ประโยคนี้ ทำผมคิดนานเลยเนี่ย

(ปล. เต๋าเต็กเก็ง เป็นคัมภีร์ที่เล่าจื๊อแต่งขึ้นเมื่อประมาณ ๖๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช มีเนื้อหากล่าวถึงธรรมชาติและปรัชญาในเรื่องโลกและชีวิต)

tao
หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร
ปฏิจจสมุปบาทกับอานาปานสติ
(พุทธทาสภิกขุ)

เช่นกัน…ด้วยรู้สึกตัวเองว่า ตั้งแต่จำความได้ (น่าจะตั้งแต่อายุ ๑๑ ขวบเป็นต้นมา) เราไม่เคยมีชีวิตแบบ ‘อยู่ ณ ตรงนั้น เวลานั้น’ เลย คือ พอเลยอายุวัยเด็กมานี่ ก็จะเป็นชีวิตแบบจริงมั่ง คิดมั่ง ฝันมั่ง อุปาทานมั่ง แถมยังไม่รู้ตัว ไม่รู้ทันกระแสวงจรเกิด-ดับ ครั้งแล้วครั้งเล่า ของความคิดที่กระพริบอยู่ในหัวตลอดเวลา (ไม่ความคิดที่หนึ่ง ก็ความคิดที่ ๒-๓-๔) ว่ากันที่จริง คือไม่เคยสัมผัสชีวิตตรงๆ ณ ตรงนั้นๆ แบบไร้ปรุงแต่งเจือปนอย่างเด็กเล็กๆ อีกเลย

จริงๆ ไม่กล้าคุยเรื่องธรรมะ ตามความเข้าใจน้อยนิดของผม ‘ปฏิจจสมุปบาท’ อธิบายถึงปฏิกริยาลูกโซ่พฤติแห่งความคิด ที่เกิดขึ้นเป็นลำดับๆ อาศัยเป็นปัจจัยส่งต่อกันจนครบวงจรสารพัดแห่งเครียด คร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัสบนกองสมมติเสมือนจริง HD ถ้าเราหยุดปฏิกริยาลูกโซ่นี้ไม่ได้ เราก็ไม่เคยสัมผัส มีหรือเห็นชีวิตตามความเป็นจริงเลย (มีเห็นชีวิตตามความคิดไปอย่างเดียว)

ส่วน ‘อานาปานสติ’ คืออุปกรณ์เบรคสำคัญ สามารถฝึกเพื่อหยุดวงล้อปฏิจจสมุปบาท ที่หมุนเร็วรอบจัด ก่อนที่มันจะครบวงจรกลายเป็นตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ …

dhamma
หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
อาจจะเฉพาะตัว และฮาวทูไปหน่อยครับ ที่จะแนะนำใคร (นอกจากลูกเรา) The Greatest Secret in the World, Og Mandino (ภิรมย์ พุทธรัตน์ แปล, เล่มนี้ซื้อเมื่อปี ๒๕๒๕ เพิ่งจะหยิบเสนอขายกับลูกที่กำลังวัยรุ่น เหตุผลคือ … ตอนเราวัยรุ่น (๓๐ ฝ่าปีก่อน) รู้ตัวเลยต้องเผชิญหน้ากับความคิด ความรู้สึกของตัวเองอย่างไร้ประสบการณ์ … ‘ความรู้สึก นึกคิด’ มันแรงงส์ พอที่ทำให้คนดีๆ ก็บ้าได้ … ทำร้ายตัวเองก็ได้ ทำร้ายคนอื่นก็ได้ … หนังสือเล่มนี้ มาในเวลาที่เรา เด็ก ๑๕ ขวบ กำลังต้องการพอดี

๑๐ บท ในเล่มนี้ จัดกระบวนความคิดบางอย่างในเวลาที่สำคัญที่สุดของผม ไม่ว่าจะเป็น ‘ชะตากรรมของคนมาจากนิสัย / ความรักความจริงใจ มีอานุภาพ / อุตสาหะคือหยาดฝนทำลายขุนเขา /เราไม่ได้เกิดมาโดยบังเอิญ / ใช้ชีวิตราววันสุดท้าย / เท่าทันวัฎฎะของอารมณ์ / หัวเราะคือ คุณสมบัติพิเศษของมนุษย์ / น้อมระลึกถึงพลังสรรพสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเรา ฯลฯ

thegreatestsecret

What We Read: เดียร์

Dear

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : เดียร์ (twitter: @ailadear)

อาชีพ : International Marketing officer

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ที่บ้านฝึกให้อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ มันก็เลยกลายเป็นนิสัยติดตัวมาตลอด เวลาเข้าร้านหนังสือจะอยู่ได้เป็นชั่วโมง มีความสุขกับการหยิบเล่มนั้นเล่มนี้มาดู เรื่องการจัดสรรเวลาในการอ่าน ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนทำงานอยู่กรุงเทพฯ จะใช้เวลาช่วงระหว่างไป-กลับจากบ้าน-ที่ทำงานในการอ่านหนังสืออยู่บ่อยๆ เพราะต้องนั่งรถไฟใต้ดินหลายสถานี พอออกมาจากเมืองหลวง ช่วงเวลาแบบนั้นก็หายไปแล้ว เดี๋ยวนี้ก็จะพยายามอ่านหนังสือเท่าที่จะทำได้ ไปร้านกาแฟก็หยิบหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่เค้าวางๆ ไว้มาอ่าน ก่อนนอนก็หยิบหนังสือมาอ่าน คือพยายามให้มันแทรกซึมเป็นกิจกรรมประจำวันของเราไป เดี๋ยวนี้มีนิสัยใหม่เพิ่มมาอีกอย่างคือ หยิบหนังสือธรรมะ หนังสือสวดมนต์มาอ่านด้วย

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
เคยมีคนรู้จักคนนึงเค้าบอกว่าทำไมเราต้องอ่านหนังสือให้จบทีละเล่ม อ่านสองเล่มพร้อมๆ กันไม่ได้เหรอ เราก็เออ จริงด้วย เดี๋ยวนี้เราเลยอ่านหนังสือสองเล่มไปพร้อมๆ กัน คนอื่นว่าไงไม่รู้นะ แต่เราว่ามันก็สนุกดี คล้ายๆ สลับโหมดไปมา

เล่มนึงที่อ่านอยู่ตอนนี้ก็ Message in a Bottle ของ Nicholas Sparks เนื้อเรื่องก็ฟรุ้งฟริ้งมาก

น่าจะรู้กันอยู่แล้ว หญิงสาววิ่งริมหาดแล้วบังเอิญไปเจอจดหมายรักในขวดแก้วที่ชายหนุ่มเขียนถึงภรรยาที่จากไป นางก็ตกหลุมรักชายหนุ่มคนนั้นเข้าซะอย่างนั้น คือจริงๆ เคยอ่านแล้ว แต่วันก่อนไปรื้อเจอ ก็เลยหยิบมาอ่านใหม่ อยากรู้ว่ามาอ่านอีกทีตอนอายุเท่านี้จะอินมั้ย คือเราเชื่อว่าการอ่านหนังสือแต่ละเล่มในช่วงอายุที่ต่างกันมันให้ความรู้สึกทางจิตใจต่างกันนะ

Message in a Bottle

กับอีกเล่ม Like a Virgin เล่มนี้อยากอ่านเพราะชอบ Sir Richard Branson เค้าเป็นคนที่เจ๋ง กล้าได้กล้าเสีย เนื้อหาในหนังสือส่วนใหญ่ก็เป็นการหยิบเอาประสบการณ์ทำธุรกิจของตัวเองมาเล่า ทั้งเรื่องวิสัยทัศน์การทำงาน หลักการบริหาร การเป็นนักคิด การมีความเป็นนักคิดเป็นต้นทุนในชีวิตนี่มันก็ได้เปรียบไปแล้วระดับนึง คือคิดอย่างเดียวไม่พอต้องทำด้วย

Like A Virgin

เวลาอ่านหนังสือแบบนี้แล้วรู้สึกฮึกเหิม มันทำให้เราไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเอง พออ่านแล้วรู้สึกว่าถ้าเราได้ทำงานกับคนเก่งๆ นี่ชีวิตมันดีนะ คืออ่านแล้วก็อยากสมัครงานกับบริษัทนี้เลย

หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
A day : Human Ride ฉบับ Portland

Human Ride : Portland

คือถ้าคนที่เป็นแฟน Human Ride ก็คงรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นนิตยสารสำหรับคนรักจักรยาน เราไม่ได้อินกับกิจกรรมนี้เท่าไหร่หรอก แต่เราได้ยินถึง Portland มาซักพักแล้วว่ามันเวรี่ Hipster แถมยังเป็นสวรรค์ของคนปั่นจักรยานอีก เกิดอยากรู้จัก เลยสอยมาอ่าน

เออ เวรี่สนุก I love Portland.

(จะบอกว่า ผมเองไปเห็นทวีตของเดียร์ว่า เล่มนี้โอเค สนุกดี ก็เลยไปซื้อมาอ่านบ้าง สรุปได้ว่า การอ่านเป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งนะครับ – Buak Bangbuathong)

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร
หันไปมองชั้นวางหนังสือแล้วก็ อืม น่าจะเป็น The Kite Runner

The Kite Runner

คือซื้อมานานมาก จากร้านหนังสือมือสองที่ไหนซักแห่ง เคยอ่านไปได้ซักสองสามบท แล้วก็หยุดอ่านไป เนื้อเรื่องมันหนัก เกี่ยวกับเด็กผู้ชายสองคนเป็นเพื่อนกัน มีสงครามเป็นฉากหลัง มันไม่ได้อ่านเอาเพลินไง เลยรู้สึกว่าต้องใช้พลังในการอ่าน แต่ก็คิดว่าจะหยิบมาอ่านใหม่ให้จบให้ได้!

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
เราขอเสนอ Eat Pray Love ตอนนั้นซื้อมาเพราะได้ยินว่าจะเป็นหนัง ไอ้เราก็อยากอ่านหนังสือก่อนจะดูหนัง ก็สั่งซื้อจากร้านหนังสือมือสองออนไลน์ กะว่าอ่านขำๆ อ่านไป มันใช่เลย ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกคนเขียนจะเล่าจากชีวิตจริงของเค้าด้วย

จริงๆ คนเราควรค้นพบตัวเองให้ได้ก่อน ควรจะใช้ชีวิตกับตัวเอง รู้จักตัวเองให้มากที่สุด ก่อนที่จะไปเติมเต็มชีวิตใคร คือไม่งั้นจะกลายเป็นรู้ไปหมดเลยเรื่องคนอื่น แต่กลับไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร การได้ทำอะไรคนเดียว ออกเดินทางคนเดียว มันสอนให้เราเผชิญหน้าและรับมือกับสิ่งเหล่านั้นโดยลำพัง แต่มันทำให้เราเปลี่ยนไปในทางที่ดี ชีวิตจะได้ไม่ต้องมัวแต่กลัว ยิ่งได้ไปเจอเพื่อนใหม่ๆ ซึมซับวัฒนธรรมใหม่ๆ มันเปิดโลกเราไปเลย

ตอนอ่านเล่มนี้เป็นจังหวะที่ไปได้ไปใช้ชีวิตอยู่ออสเตรเลีย เลยรู้สึกว่าเรื่องราวในหนังสือกับสิ่งที่เราเจอ ณ ขณะนั้นมัน connect กัน คนอื่นอ่านแล้วอาจจะไม่อินก็ได้ แต่เราคิดว่ามันก็เป็นหนังสือที่อยากแนะนำให้อ่านนะ

What We Read: อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

โอม

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

อาชีพ : นักเขียน, แฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมซีไรต์ ปี ๒๕๕๕

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ผมจะต้องอ่านหนังสือทุกวัน โดยแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือเป็นสองอย่าง คือ จะอ่านหนังสือเกี่ยวการเรียนและการทำงานในตอนกลางวันที่ว่างจากกิจธุระต่างๆ และจะอ่านหนังสืออ่านเล่นอื่นๆ ที่สนใจในตอนก่อนนอนทุกคืน

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
กำลังอ่าน พม่ารำลึก ของ จอร์จ ออร์เวลล์ เป็นหนังสือที่ผมอยากอ่านมานาน และเคยพยายามอ่านภาษาอังกฤษ แต่ยังอ่านได้ไม่เท่าไหร่ ล่าสุดเพิ่งมีแปลเป็นภาษาไทย และผมเพิ่งซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือ ซื้อมาก็อ่านเลยทันที เนื้อหาเกี่ยวกับพม่าในช่วงที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ผู้เขียนเล่าเรื่องจากประสบการณ์ที่เขาเคยเป็นตำรวจในพม่ายุคสมัยนั้น

พม่ารำลึก

หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
เพิ่งอ่านหนังสือ อ่านแล้ว อ่านเล่า ของ ศรีดาวเรือง จบไป เป็นหนังสือที่รวมบทความเล่าเรื่องเกี่ยวกับหนังสือเก่าและหนังสือหายากหลายเล่ม หลากหลายเรื่องราว ทั้งเกี่ยวกับชีวประวัติ ความทรงจำของบุคคล รวมถึงหนังสือวรรณกรรม ผมเคยอ่านมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นบทความในวารสาร เมื่อมารวมเป็นเล่มแล้วอ่านใหม่ ก็ยังรู้สึกว่าอ่านสนุกและได้ความรู้เป็นอย่างยิ่ง

อ่านแล้วอ่านเล่า

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
 การสอบความของสุนัขตนหนึ่ง เขียนโดย ฟรันซ์ คาฟคา ที่อยากอ่านเพราะผมชอบผู้เขียน คือ คาฟคา ที่สำคัญไปกว่านั้น นี่คือ หนังสือรวมงานเขียนที่ตีพิมพ์หลังคาฟคาตาย เป็นงานที่คาฟคาบอกให้เพื่อนเอาไปเผาทิ้ง แต่เพื่อนไม่ยอมเผา และเอามาตีพิมพ์ ถ้าเพื่อนของคาฟคา เชื่อตามที่คาฟคาสั่ง เราคงไม่มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้

การสอบความของสุนัขตนหนึ่ง

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
มีหนังสือนวนิยายจีนอยู่เล่มหนึ่งซึ่งผมชอบมากๆ และมักจะแนะนำให้ทุกคนอ่าน นั่นคือเรื่อง พี่กับน้อง ของ หยูหัว เป็นนวนิยายที่ผมรู้สึกว่าอ่านแล้วครบเครื่อง สนุก ทะลึ่ง และเศร้าสลด รวมถึงยังมองเห็นภาพสะท้อนของสังคมจีนได้อย่างน่าสนใจ เรียกได้ว่า เป็นนวนิยายในดวงใจของผมเลยทีเดียว ดังนั้น ผมคิดว่า ผมควรแนะนำหนังสือในดวงใจของผมให้กับคนอื่นได้อ่านด้วยเช่นกัน

พี่กับน้อง

What We Read: กนกวรรณ บัวงาม

Kanokwan

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : กนกวรรณ บัวงาม

อาชีพ : บรรณารักษ์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ปกติไม่ได้จัดสรรเวลาการอ่านหนังสือเท่าไหร่ ถ้าช่วงไหนว่าง อยู่บ้านไม่ได้มีกิจกรรมก็จะหยิบหนังสือเล่มเก่าๆ ที่เคยชอบอ่านมาอ่านใหม่ แล้วแต่ว่าช่วงนั้นอยู่ในอารมณ์ไหน ช่วงเหนื่อยๆ อยากหาเรื่องสนุกๆ อ่านก็หยิบวรรณกรรมเยาวชนมาอ่าน ที่ชอบหยิบมาอ่านมากบ่อยมาก คือ เรื่อง นิกกับพิม กับ เรื่อง ปุลากง ชอบมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เพราะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสมัยเรียนมัธยม อย่าง นิกกับพิม ที่ชอบเพราะเป็นเรื่องที่ใช้ตัวละครเอกเป็นสุนัขเล่าเรื่องแทนที่จะเป็นพระเอก นางเอกเหมือนเรื่องอื่นๆ หรือ อย่างปุลากง ก็ยังคิดถึงภาพคุณเข้มอยู่เสมอ และชื่นชมคนที่ทำงานในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะครูในโรงเรียนที่ต้องเสียสละตัวเองมากๆ

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
ตอนนี้กำลังอ่านหนังสือเรื่อง การเดินสู่อิสรภาพ ของ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ เล่มนี้เคยอ่านจบไปรอบหนึ่งแล้วค่ะ แต่เอากลับมาอ่านซ้ำอีกรอบ เพราะช่วงนี้อยากหาแรงบันดาลใจให้ตัวเอง การเดินสู่อิสรภาพ เล่มนี้เป็นเรื่องราวการเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย ของอาจารย์ประมวลเอง ด้วยวิธีการเดินด้วยเท้า ผ่านหมู่บ้าน ผ่านชุมชนต่างๆ ซึ่งอาจารย์มีความตั้งใจเพื่อค้นหาตัวเอง และมีการตั้งกฎของการเดินทางครั้งนี้ จะไม่ใช้เงินเลย ถ้าเป็นคนปกติธรรมดาคงไม่กล้าที่จะคิดหรือทำเรื่องแบบนี้ ซึ่งในแต่ละจังหวะของการเดินทางอาจารย์ประมวลจะเล่าถึงความรู้สึกและมุมมองจากสิ่งที่เห็น จากสิ่งที่ได้รับจากการเดินทาง ทั้งจากคน และสิ่งรอบๆ ตัว มันช่วยให้เรามองชีวิตและคนที่อยู่รอบๆ เราได้ลึกซึ้งมากขึ้น เป็นหนังสือที่ชอบมากๆ ค่ะ

walktofreedom

หนังสือที่อ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
หนังสือที่เพิ่งอ่านจบไป คือ เรื่อง The Notebook หรือ ปาฏิหาริย์บันทึกรัก ของ นิโคลัส สปาร์กส์ (Nicholas Sparks) เป็นเรื่องความรักของ โนอาห์ และ แอลลี ที่ซาบซึ้งมากๆ เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า ความรักมีพลังที่จะทำให้คนคนหนึ่งทำอะไรก็ได้เพื่อคนที่เขารัก โนอาห์ครองคู่กับแอลลี มานานจนสุดท้ายแอลลีป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ถึงขนาดจำอะไรไม่ได้เลย แต่โนอาห์ก็ยังดูแลแอลลีอยู่ไม่ห่าง และพยายามใช้สื่อคือ สมุดบันทึก เล่าเรื่องราวความรักในสมัยวัยรุ่นให้แอลลีฟังทุกๆ วันโดยไม่เบื่อ และมีความหวังอยู่เสมอว่าจะมีปาฏิหาริย์ให้แอลลีจำเขาได้ มันมีทั้งความโรแมนติกและชวนให้หดหู่ ถ้าเราต้องเจอกับเหตุการณ์อย่างนี้จะทำยังไง เราจะหาคนรักที่ทำได้เหมือนโนอาห์ไหม อันนี้แอบคิดไว้ในใจ

thenotebook

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
ตอนนี้ยังไม่มีหนังสือที่ตั้งใจจะอ่านจริงๆ จังค่ะ ช่วงนี้กำลังศึกษาเรื่องการทำขนม ก็ได้แต่เปิดดูหนังสือหาสูตรทำขนม แล้วค้นทางอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ซื้อหนังสือ a day เล่ม bread issue ตั้งแต่เดือนที่แล้ว กะว่าจะหาเวลาว่างอ่านสักที ช่วงนี้กำลังอยากหัดทำขนมเค้ก ขนมปัง จริงๆ จังๆ พอดีเห็นเล่มนี้แล้วสะดุดตา ได้เปิดผ่านแล้วมีเรื่องราวเกี่ยวกับขนมปังและขนมเค้กต่างๆ น่าสนใจดีค่ะ

adaybread

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
ถ้าคนไหนช่วงนี้รู้สึกท้อกับหลายๆ เรื่อง เบื่อสังคม เบื่องาน เบื่อคน อยากหาแรงบันดาลใจ อยากให้ลองอ่านหนังสือ การเดินสู่อิสรภาพ ของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ดูนะคะ เพราะหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ได้เห็นมุมมองที่ดีๆ ของคน หรือสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว บางเรื่องมันสะเทือนใจมากๆ เช่น การไม่มีที่นอน หรือการนอนกับหมาขี้เรื้อนในวัด มันสะเทือนใจจนต้องร้องไห้ แต่ที่ร้องไห้มันไม่เหมือนกับการอ่านนิยายที่เราอินไปกับเรื่องนั้นๆ ตามจินตนาการของนักเขียน แต่เป็นเรื่องเล่าและการเดินทางของอาจารย์ที่เกิดขึ้นจริงๆ และเป็นความรู้สึกจริงๆ ที่อาจารย์เล่าให้ฟัง อยากให้ลองหามาอ่านกันดูค่ะ

What We Read: นพพร พวงสมบัติ

Nopphorn

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : นพพร พวงสมบัติ

อาชีพ : นักวิเคราะห์นโยบายและแผน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ก่อนจะเล่าเรื่องการอ่าน ขอขอดเกล็ดตัวเองนิดนึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนที่โดนคำถามเรื่องการอ่านนี่ก็นึกย้อนมาสงสัยตัวเองเหมือนกันว่า “เฮ้ย! ทำไมกูอ่านหนังสืออย่างนี้วะครับ” เลยนึกย้อนไปถึงสมัยเด็กๆ เพราะคิดว่าเรื่องราวสมัยนู้นมันคงมีส่วนทำให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้นี่แหละ ที่บ้านเป็นครอบครัวข้าราชการระดับล่างๆ มีหนังสือในบ้านก็ไม่มากอะไร แต่ผมจะสนใจไปทำไมเพราะโลกของเด็กคือการออกไปวิ่งเล่นซนกับเพื่อนข้างนอก เล่นดีดลูกแก้ว โยนหุ่น ปีนต้นไม้ ฯลฯ อะไรกันไป หนังสือที่อยู่ในบ้านหากพอจะมีเวลาอ่านผ่านตาบ้าง ก็เป็นพวกหนังสือของพ่อกับแม่ที่ได้อภินันทนาการจากการทำงานหรือใช้ทำงาน ตำรับอาหารนานาชาติ ของแม่นี่เป็นเล่มนึงเลยที่นั่งอ่านมาตั้งแต่เด็ก เคยมีเอามาลองทำขนมกินกันเองด้วย…แต่ไม่สำเร็จเพราะเมนูอาหารนานาชาติไม่เหมาะกับอุปกรณ์ในครัวไทยสไตล์ Local เรื่องที่จำขึ้นใจเรื่องนึงคือ เมนูยำผ้าขี้ริ้ว ก็แบบสงสัยมากประสาเด็กๆ ว่า “เฮ้ย! ผ้าขี้ริ้วที่กูใช้ถูบ้านนี่เอามากินได้ด้วยเหรอวะเนี่ย เอาเหอะใครจะกินก็กิน…กูคนนึงล่ะที่จะไม่กิน” กว่าจะรู้ว่า “ผ้าขี้ริ้ว” ที่ว่าเป็นชิ้นส่วนเครื่องในของวัวก็โตจนนั่งกระดกเหล้ากับเพื่อนแล้วมีผ้าขี้ริ้วลวกจิ้มวางแนมอยู่ข้างวงเหล้าแล้ว อีกเล่มคือหนังสือสุขภาพอะไรซักอย่างที่จดจำเอาท่าโยคะมาฝึกเล่นส่วนตัว โดยเฉพาะท่าศพอาสนะที่เซียนมาก ทำแล้วหลับยาวเลย

ด้วยความที่ไม่ได้เป็นครอบครัวมีตังค์อะไรมาก หนังสือเลยดูเหมือนจะเป็นของใช้ฟุ่มเฟือยขึ้นมาทันที ซื้อหนังสือมาอ่านจึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีอยู่ในหัว แบบว่าถ้ามีตังค์กูซื้อของเล่นก่อน…ฮ่าฮ่าฮ่า นอกจากหนังสือเรียนที่ต้องอ่านสอบแล้ว หนังสือที่ต้องถือว่าเป็นการอ่านแบบนักอ่านในสมัยเด็ก ก็มีมาจากหนังสืออ่านนอกเวลาที่ครูบังคับให้อ่านนั่นแหละ กับหนังสือในห้องสมุดที่ต้องเอามาทำรายงานส่งครู และแม้ว่าโตมาจะชอบไปเดินเล่นที่ร้านหนังสือใหญ่ประจำจังหวัดอยู่บ่อยๆ แต่โซนที่ไปเดินดูกลับเป็นแผนกเครื่องเขียน ส่วนหนังสือเล่มที่ยอมควักกระตังซื้อมาลองอ่านบ้าง จำได้ว่าเป็นพ๊อคเกตบุ๊คชื่อดัง ต่วยตูน เพราะดูชื่อแล้วท่าทางจะมีเรื่องสนุกกับภาพการ์ตูนเยอะ…เออ! ดูมันสิครับ

โตมาจนเข้ามหาวิทยาลัยผมยังหลงระเริงกับการเฮฮาไปเรื่อยเปื่อย ไม่รู้จักโลกแห่งการอ่านอะไรเลย รู้จักชื่อนักเขียนบ้างก็เพราะเคยได้ยินหรืออ่านข่าวคราวในหนังสือพิมพ์-ดูทีวีเท่านั้น เรื่องจะตามอ่านน่ะเรอะ…ไม่มีซะหรอก ก็เชื่อมั้ยเล่าว่าวันที่ได้ย้ายเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อนรักชวนเดินเข้าร้านหนังสือดอกหญ้าท่าพระจันทร์ ผมก็ไม่รู้จะเลือกอ่านอะไร จนเพื่อนมันเลือกหนังสือชุดสามก๊กฉบับวณิพกไปได้ ๓-๔ เล่มแล้วก็จะกลับกันแล้ว สุดท้ายผีห่าก็ดลใจให้ผมหยิบ ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นไซส์พ๊อกเกตบุ๊กพื้นสีเทา มีภาพผู้หญิงผู้ชายตัวสีแดงยืนชี้ไปในท้องฟ้า ไอ้ที่หยิบขึ้นมาก็เพราะคิดว่ามันน่าจะเป็นหนังสือแนว Thriller สมกับชื่อ ปีศาจ เท่านั้นแหละ ไม่ได้คิดเป็นอื่นเล้ย หยิบมานอนอ่านเล่นที่คณะรุ่นพี่ยังแซวว่า “แหม! หัวก้าวหน้าเชียวนะมึง” ก็ไม่ได้ get (เชี่ย) อะไรเลยครับ บอกกลับแค่ว่า “เฮ้ย! พี่ผมอ่านมาเกือบจะครึ่งเล่มแล้วนี่ยังไม่เห็นมีปีศาจซักตัวเลยครับพี่” …ดูเอาเหอะว่าผมนี่แม่งหน่อมแหน้มเรื่องการอ่านขนาดไหน

วันที่ผลักให้ผมดูเหมือนจะเข้าสู่โลกการอ่านอย่างจริงจัง (หมายถึงอ่านในแบบของผม..ไม่ได้เทียบกับใคร) คือ หลังจากวันที่มหาวิทยาลัยสั่งทัณฑ์บนผมไว้จนกว่าจะจบการศึกษาตั้งแต่ปลายๆ ปีที่สอง ผลของการโดนทัณฑ์บนเลยทำให้ผมต้องออกไปจากเวทีกิจกรรมนักศึกษาที่ทำอยู่ (และใช้เวลามากกว่าในห้องเรียน) ผนวกกับวิชาที่เรียนก็ต้องอ่านหนังสือเยอะพอควร ก็เลยได้ฤกษ์เข้าไปฝังตัวในห้องสมุดตั้งแต่นั้น อ่านหนังสือเรียนเบื่อ ก็หาหนังสือนู่นนี่นั่นอ่าน อ่านเล่มนี้เลยเถิดต่อไปถึงเล่มนั้น เพื่อนนักอ่านเปรยๆ ว่าเล่มนั้นดีก็ลองไปหยิบมาอ่านมั่ง อ่านเองตีความเอง เข้าใจเอง อ่านไม่เข้าใจลองไปหาหนังสือวิจารณ์อ่านเพิ่มเติมบ้างว่าที่ว่าดีนั้นยังไง…เอ้อ! ถึงพอได้รู้เลาๆ ว่าโลกหนังสือและวรรณกรรมมันเป็นอย่างนี้เอง

อินโทรกันพอหอมปากหอมคอก็จะขอกลับมาตอบปัญหาดังนี้

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ไม่ได้จัดสรรจริงจัง แต่พยายามอ่านทุกครั้งที่ว่างจากการงานจิปาถะ ชดเชยการอ่านในวัยเด็กที่เอาเวลาไปบ้าพลังอยู่อย่างเดียว พอดีเป็นคนที่ถ้าได้อ่านแล้วมันสนุก ก็จะตะบี้ตะบันอ่านทุกครั้งที่มีเวลา เคยอ่านนิยายจีนจนกระทั่งเพื่อนบ้านเคยแซวว่า มึงสำเร็จวิทยายุทธ์ขั้นไหนแล้ว แต่ปกติคือจะพยายามอ่านหนังสือ ๑ – ๒ บทก่อนนอน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องพยายามสร้างวินัยฝ่ายดีให้กับตัวเองบ้าง อีกเรื่องที่รู้สึกคืออ่านก่อนนอนนี่เหมือนเป็นการชะลอตัวเองให้นิ่งลง เหมือนสวดมนต์อะไรอย่างนั้นข้อสุดท้ายคือพยายามทำเป็นตัวอย่างให้ไอ้ตัวเล็กในบ้านดูว่า “ก่อนนอนเอ็งไม่ต้องเล่นเกมได้มั้ยเนี่ยเฮ้ย”

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
ด้วยความที่อ่านหนังสือเรื่อยเปื่อยไร้รูปแบบ และก็พยายามใฝ่ดีอยู่บ้าง..ว่างั้น เลยมีหนังสือที่กำลังอ่านกองไว้ในที่ต่างๆ ให้ใกล้มือ ๒ – ๓ เล่ม เล่มที่อ่านๆ อยู่ช่วงเวลาพักระหว่างวัน คือ เพลงของพอล —หนังสือรวมบทวิจารณ์เพลงของพอล เฮง จากหน้าหนังสือพิมพ์มติชน เป็นคอลัมน์ที่แนะนำเพลงในอัลบั้มของศิลปินต่างๆ

PaulSong

อีกเล่มนึงคือ ไอ้หนูซามูไรวิถีแห่งนักรบ —หนังสือเยาวชนที่เขียนโดยฝรั่งเล่าเรื่องซามูไร แปลโดยคนไทยนามปากกว่า “ธารพายุ” พอดีก่อนหน้านี้อ่านวรรณกรรมเยาวชนเล่มนึงชื่อ หอบช้างหนีสุดแผ่นดิน ที่แปลโดยผู้ใช้นามปากกาเดียวกัน ก็เลยค่อนข้างเชื่อมั่นในคุณภาพของหนังสือที่ผู้แปลเลือกมาและสำนวนการแปลที่อ่านสนุก

Samurai

อีกเล่มนึงที่อ่านเป็นยานอนหลับก่อนนอน คือ ไวโอลินของไอน์สไตน์ —เป็นบันทึกข้อเขียนทัศนะเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ สังคมและดนตรีของวาทยากรที่สนใจฟิสิกส์ ผู้เขียนชื่อโจเซฟ อีเกอร์ ตัวโปรยหนังสือที่เขียนความในใจของไอน์สไตน์ที่ว่า “หากไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์ผมคงเป็นนักดนตรี” ผมว่าโจเซฟ อีเกอร์คงรำพึงในทางกลับกันว่า “ถ้าไม่ได้เป็นนักดนตรี ผมคงเป็นนักฟิสิกส์” เหมือนกัน ก็คงจะน่าสนุกดีสำหรับผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์ แต่คนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องฟิสิกส์และดนตรีก็ยังจะได้เห็นเรื่องราวบันทึกสังคมในมิติวิทยาศาสตร์และดนตรีได้เพลินอยู่บ้าง แล้วถ้าเผื่อสนใจสนุกกับทฤษฎีฟิสิกส์และประวัติศาสตร์ดนตรี เล่มนี้ก็น่าจะเป็นเชื้อปะทุที่พอใช้ได้เล่มนึง —ทั้งสามเล่มได้มาจากแผงหนังสือลดราคาในวาระต่างๆ แบบว่าอ่านอะไรก็ได้ข้อให้ไม่แพงนักก็พอ.. ฮ่าฮ่า

Einstein
หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
หนังสือเล่มที่เพิ่งอ่านจบ คือ หูหาเรื่อง ของเผ่าจ้าว กำลังใจดี หนังสือรวมบทวิจารณ์ศิลปิน-ดนตรีในรูปของเรื่องสั้น ได้มาจากกองหนังสือข้างเคียงกันกับหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ จะว่าไปหยิบหนังสือวิจารณ์บันเทิงมาอ่านนี่ก็ดูจะมีเหตุผลลึกๆ อยู่บ้าง คือสมัยเรียนหนังสือนี่มีโอกาสได้อ่านนิตยสารสีสัน เป็นประจำ ก็ได้ใช้ข้อมูลจากสีสัน ในการไปดูหนังฟังเพลงอะไรไปเรื่อยเปื่อย แต่พอชีวิตเข้าสู่วัยทำงานนี่เหมือนจะฟังเพลงอะไรน้อยลง พื้นที่ที่อยู่ก็มีการฟังเพลงอะไรต่างไปจากสมัยเรียน ก็เลยไม่ค่อยได้ติดตามสนใจอะไร ฟังเพลงไปตามกระแสที่เปิดๆ กันเท่านั้น พอเห็นหนังสือแนววิจารณ์เพลงก็ลองหยิบมาอ่านดูบ้างว่าช่วงที่ผ่านๆ มานี่มันมีอะไรที่เราพลาดไปหรือเปล่า ซึ่งก็ดูจะได้ความรู้อะไรเพิ่มเติมมามากกว่าราคาที่จ่ายไปพอควร ตอนนี้เลยมีโอกาสกลับไปหาเพลงในยูทูบจากศิลปินและอัลบั้มที่แนะนำไว้ในหนังสือมาฟังระหว่างทำงานอยู่บ้าง

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
ที่จริงหนังสือที่ตั้งใจจะอ่าน ก็คือกองหนังสือที่ไปซื้อมาอ่านแล้วยังไม่ได้อ่านนั่นแหละ มีหลายเล่มมากซึ่งบางเล่มก็อ่านๆ ไปแล้วแต่มีอะไรมาขัดจังหวะทำให้อ่านไม่จบซะที ถ้าจะให้เลือกเอามาซักเล่มก็น่าจะเป็น รุกสยามในนามของพระเจ้า เป็นวรรณกรรมขนาดยาวเขียนยั่วล้อประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยใช้ข้อมูลจากบันทึกจดหมายเหตุมาอ้างอิงประกอบด้วย มันสนุกก็ตรงนี้แหละ ตรงที่มันเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์มุมกลับที่เล่นตลกเอากับวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของคนในประวัติศาสตร์ไทย เล่มนี้อ่านไปได้พอควรแล้ว แต่ไปสะดุดความใหญ่ของหนังสือเลยทำให้เอาไปอ่านที่ไหนไม่ค่อยสะดวก ต้องอ่านไปวางไปจนสุดท้ายวางไปมากกว่าอ่านไป เลยไม่จบซักที ถ้าให้แถมอีกเล่มที่คิดจะอ่าน ก็คือเรื่อง สามก๊ก นี่แหละครับ เผอิญช่วงนึงมีโอกาสได้อ่าน โจโฉนายกตลอดกาล ของหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เลยมีแรงกระตุ้นให้อยากกลับไปอ่านสามก๊กที่วางอยู่บนชั้นหนังสือในบ้านมานานแล้ว

Naraya

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
สำหรับคนที่เพิ่งมาหัดอ่านหนังสือตอนโตอย่างผม ถ้าให้เลือกหนังสือที่อ่านจบแล้วอยากแนะนำให้คนอื่นอ่านต่อ ก็เป็นร้อยล่ะครับ เพราะชั่วโมงการบินด้านการอ่านน้อยเหลือเกิน คืออ่านเจออะไรดีนิดนึงก็ดีไปหมดทั้งเล่มเลยนั่นแหละ แต่ถ้าจะมีให้เลือกมาบ้างเท่าที่นึกออกก็จะมี

ติสตูนักปลูกต้นไม้ —วรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องของเด็กชายผู้มีมืออันวิเศษสามารถปลูกต้นไม้ให้งอกงามได้อย่างอัศจรรย์ แต่นอกจากต้นไม้ที่ติสตูปลูกแล้วเด็กน้อยยังปลูกความรักในหัวใจของผู้คนด้วย

โต๊ะก็คือโต๊ะ —เรื่องเล่าสำหรับเด็กที่น่าจะมี “วาทกรรม” เยอะที่สุดในโลกนี้ละ เล่มนี้อ่านตอนที่มีโอกาสกลับเข้าชั้นเรียนในช่วงที่โลกสังคมศาสตร์กำลังเข้าสู่ยุคโพสต์ และมีโอกาสรู้จักโรลองด์ บาร์ท (Roland Barthes) ซึ่งได้สร้างความเชื่อชุดใหม่ในหัวผมว่า เฮ้ย!…“อเมริกาไม่มีจริง”

ภูเขาวิหารและโดมแห่งศิลา —ข้อเขียนของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันเป็นรากฐานความขัดแย้งของยูดาห์ คริสต์และอิสลามในเขตตะวันออกกลางผ่านศาสนสถานอันเป็นที่เคารพร่วมกันของทั้งสามศาสนา เล่มนี้มาโนช พุฒตาล บุตรของฯ ยังเอ่ยปากว่าถ้าจะมีหนังสือซักเล่มที่เขียนเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ (ขัดแย้ง) ของยิว-คริสต์-อิสลาม ก็น่าจะเป็นหนังสือเล่มนี้นี่แหละ

Dome

ผมเพียงแต่จะบอกว่า —รวมบทบรรณาธิการคัดสรร บ.ก.นิตยสารจีเอ็ม คุณปกรณ์  พงศ์วราภา คือ ถ้าเคยอ่านข้อเขียนในเว็บประเภทสิ่งที่ควรรู้ก่อนตาย สิ่งที่ควรรู้เมื่อวัย ๔๐ รู้งี้ตั้งใจเรียนตั้งแต่เด็กแล้ว ฯลฯ อะไรประมาณนี้ คือเฮียปกรณ์เค้าเขียนบอกไว้เมื่อปีมะโว้แล้วเว้ยเฮ้ย คือแกไม่ได้เขียนอะไรพรรค์อย่างนั้นจริงๆ หรอกนะครับ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่แกเขียนนี่แกได้มาจากประสบการณ์การใช้ชีวิตของแกเองนั่นแหละ และก็ถ่ายทอดด้วยคำง่ายๆ เพื่อบอกคน “หนุ่ม” รุ่นต่อๆ ไปว่า…นะชีวิตมันเป็นของมันอย่างนี้เว้ยเฮ้ยหนุ่มสาว จงใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ที่เหลือก็ไปหาอ่านเอาเองละกัน

Pakorn

จิมกระดุม —เริ่มจากจิมกระดุมกับลูคัสคนขับหัวรถจักร และต่อเนื่องไปยัง จิมกระดุมกับ 13 ป่าเถื่อน คือถ้าจะมีอะไรที่สื่อถึงคุณค่าของ Positive Thinking ล่ะก็ จิมกระดุมนี่คือหนึ่งในเรื่องราวนั้น

Jim

ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน (The Alchemist) —-เขียนโดยเปาโล โคเอโย (Paulo Coellho) นักเขียนชาวบราซิล แปลโดย อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เอาแค่ชื่อคนแปลก็คาดหวังได้ว่าท่านจะเชื้อเชิญให้เราออกไปค้นพบ ”ปัญญา” สมกับที่ท่านเป็นโต้โผของโครงการจัดพิมพ์หนังสือและตำรา “คบไฟ” เรื่องเล่าของเด็กหนุ่มที่ออกท่องไปในดินแดนทะเลทราย ซึ่งจะนำเราไปเรียนรู้ ค้นหาความหมายของชีวิตและ….ฯลฯ

PauloCoellho

ส่งท้าย….ผมเคยอ่านหนังสือจนเกือบเชื่อว่า You are what you read หรือแบบว่า “เฮ้ย! ถ้าคุณมึงอยากรู้จักผมก็เอาหนังสือที่ผมอ่านไปอ่านดู แล้วคุณจะรู้ว่าผมเป็นยังไง” คือ ที่ต้องบอกว่า “เกือบ” นั่นก็เพราะผมเจอมากับตัวเองว่าเพื่อนที่มันนั่งอ่านหนังสือเล่มเดียวกับเราอยู่ มันยังคิดไม่เหมือนกันเลยว่ะเฮ้ย มันก็น่าจะใช่อยู่เหมือนกันนิครับ เราถูกหล่อหลอมเติบโตขึ้นมาต่างกัน วิถีในการรับรู้เข้าใจโลกก็ต่างกัน การตีความสารที่วิ่งพล่านในโลกนี้ก็คงต่างกันไป นะไม่งั้นเราก็คงไม่เถียงกันเรื่องประชาธิปไตยกันจนเอาเป็นเอาตายหน้าดำคร่ำเครียดจนต้องมีคนมาคืนความสุขให้เราอย่างทุกวันนี้

เราไม่ได้ดีเลวเก่งแย่ถ้าไม่หรือเคยอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้หรือเล่มไหนๆ หนังสือมันรับใช้ผู้เขียนแค่เมื่อมันเขียนจบพิมพ์เป็นเล่มเท่านั้นแหละ ส่วนที่ว่ามันจะรับใช้ผู้อ่านอย่างไร ก็เป็นเรื่องของผู้อ่านแต่ละคนจะเลือกตามแนวทางของตนเอง ยังไงก็…ขอให้มีความสุขในการอ่านหนังสือที่คุณเลือกเรื่อยไปขอรับ

What We Read: อำนาจ ลิมป์บรรจงกิจ

Amnaj

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : อำนาจ ลิมป์บรรจงกิจ

อาชีพ : Senior Graphic Designer ที่ Car Thailand Magazine

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
การจัดสรรเวลาอ่านหนังสือของผม คือแค่ถ้าว่างเมื่อไหร่ก็จะอ่าน ส่วนใหญ่จะเป็นก่อนนอน ก่อนทำงานหรือว่าเวลาตอนรอที่หน้าโรงหนัง แต่ถ้าจะมีเวลาได้อ่านจริงจังแบบต่อเนื่องน่าจะเป็นก่อนนอนของทุกๆ วัน นิตยสารบ้าง พ็อกเก็ตบุ๊คบ้างแล้วแต่ว่าช่วงนั้นๆ จะสนใจอะไร

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
หนังสือที่อ่านในตอนนี้คือนิตยสาร คิด (Creative Thailand) ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เนื้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่มีส่วนช่วยในการผลักดันเศรษฐกิจไทย ที่จัดทำโดย TCDC

คิด

หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
หนังสือที่อ่านจบเล่มล่าสุดคือ ฤทธิ์มีดสั้น นวนิยายกำลังภายใน บทประพันธ์ของโกวเล้ง แปลโดย ว. ณ เมืองลุง

ฤทธิ์มีดสั้นเป็นเรื่องราวของลี้คิมฮวง อดีตบัณฑิตหน้าบัลลังค์ฮ่องเต้ที่สืบทอดความยิ่งใหญ่ระดับ ๗ บัณฑิต ๓ ถ้ำฮวย ที่ตัวเอกของเราก็เก่งและฉลาดขนาดเป็น ๑ ในถ้ำฮวยที่ว่า และมีเพื่อนสนิทชื่อว่า อาฮุย (ฉบับ น. นพรัตน์ออกเสียงเป็น อาเฟย) แต่เพราะแกเป็นคนมากน้ำใจแบบที่ว่ามิตรภาพย่อมมาก่อนเสมอจนลืมนึกถึงตัวเอง…ชีวิตก็เลยต้องระทมชนิดกู่ไม่กลับ เพราะแกถือคติอภัยให้ทุกคนยกเว้นอภัยให้ตัวเอง

ฤทธิ์มีดสั้น

หนังสือชุดนี้เป็น ๓ เล่มจบ และมีการออกแบบรูปเล่มให้เหมือนตำราโบราณแบบในหนังจีนเลยช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่านดีนักแล

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
หนังสือที่ตั้งใจจะอ่านเล่มต่อไป คือ The Name of The Rose (สมัชชาแห่งดอกกุหลาบ) ผลงานของ Umberto Eco แปลโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์ เคยถูกทำเป็นภาพยนตร์มาแล้วเมื่อปี ๑๙๘๖ เรื่องราวเกี่ยวกับการสืบสวนคดีฆาตกรรมโดยบาทหลวงชาวอังกฤษตามติดด้วยลูกศิษย์ เหตุการณ์ในเรื่องมีแค่ ๗ วัน ส่วนหนังสือก็มีถึง ๗๐๐ กว่าหน้า พร้อมด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคกลาง และเรื่องราวเชิงปรัชญา (นี่มัน Sherlock Holmes แบบฉบับวาติกันเลยนะ Davinci Code ยังมาทีหลังเลย) ความจริงเป็นหนังสือที่พี่ชายคนโตซื้อไว้นานแล้ว ตอนนี้ไม่ทราบว่าหายไปไหน แต่ยังฝังใจว่าจะต้องอ่านให้ได้ คงต้องไปหาซื้อมาอ่านและเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวซะแล้ว

The name of Rose (Old Cover)

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
เล่มนี้ผมอ่านมานานมากแล้วตั้งแต่เริ่มทำงานใหม่ๆ  คือ แล่เนื้อ เถือหนัง เล่มแรก โดย ประชา สุวีรานนท์ เป็นหนังสือรวบรวมบทวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ไม่ธรรมดา ลึกซึ้ง สอนในเรื่องการตีความภาพยนตร์อย่างมีชั้นเชิง ที่ร่วมสมัยไม่มีเชย แม้ว่าจะเป็นการรวบรวมบทความจากนิตยสารสารคดี เมื่อปี ๒๕๓๕-๒๕๓๙ แต่ที่ผมได้อ่านคือเล่มที่พิมพ์ครั้งที่ ๒ ปี ๒๕๔๐ รับรองว่าการชมภาพยนตร์ของใครก็ตามที่ได้อ่านจะเปลี่ยนไปไม่ใช่แค่ดูหนังแล้วสนุกไม่สนุก ดีหรือไม่ดี จะตีความได้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา คุณจะเข้าใจอุปนิสัยและสิ่งที่เป็นลายเซ็นเฉพาะของผู้กำกับคนนั้นๆ กันเลยทีเดียว

แล่เนื้อเถือหนัง

What We Read: กุศลิน ศิริสนธิ

Kusalin
ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : กุศลิน ศิริสนธิ

อาชีพ : บรรณาธิการเว็บไซต์รีวิวร้านอาหาร OpenRice.com

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ส่วนใหญ่ชอบอ่านหนังสือช่วงก่อนนอน เพราะรู้สึกว่าเป็นเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง บรรยากาศเงียบๆ ทำให้มีสมาธิ บางทีนอนไม่หลับก็จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านเพื่อให้หลับ แต่ถ้าเจอหนังสือดีๆ ก็จะกลายเป็นว่าอ่านหนังสือจนไม่ได้นอนแทน 555 หรือถ้าเสาร์อาทิตย์ไหนมีเวลาว่างๆ ชิลล์ๆ ก็จะหยิบหนังสือไปนั่งอ่านในร้านกาแฟบ้างเหมือนกัน (แอบมีไลฟ์สไตล์ฮิปสเตอร์เบาๆ) ถ้าไม่ได้มีหนังสือที่อ่านค้างไว้หรือกำลังติดพันเล่มไหนเป็นพิเศษ เวลาออกไปร้านกาแฟก็จะดูนิตยสารน่าสนใจที่มีในร้านมาอ่าน ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเลือกอ่านนิตยสารแฟชั่น ท่องเที่ยว และอาหาร ตามปกที่ตัวเองสนใจแต่ด้วยความที่ทำงานเขียนคอนเทนต์ออนไลน์ ต้องมีไอเดียเพื่อเป็น output เยอะ บางครั้งก็จะนั่งอ่านนิตยสารอาหารต่างๆ ในเวลาทำงานเหมือนกัน เวลาที่คิดงานไม่ออก ไม่มีไอเดีย เริ่มตัน ก็จะหยิบนิตยสารอาหารมาอ่านค่ะ รวมถึงพวก Free Copy ต่างๆ ที่เจอแล้วเก็บมาด้วย

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
อยากบอกว่าเป็นคนอ่านหนังสือตามอารมณ์มากกกกก หัวเตียงจึงเต็มไปด้วยหนังสือหลายเล่มที่อ่านค้างไว้ คือบางทีเราอารมณ์ชิลล์ๆ ก็อยากอ่านอะไรเบาสมอง วันไหนเครียดก็อยากอ่านอะไรเหงาๆ วันไหนจริงจังก็อยากอ่านหนังสือจริงจังเสียดสีสังคมการเมืองตอนนี้มีอ่านค้างอยู่ ๓ เล่ม คือ อยากให้ลมหนาวหวนมาอีกครั้ง โดย อภิชาติ เพชรลีลา เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว โดย jirabell และ 1984 โดย George Orwell (พูดว่ากำลังอ่านเล่มนี้จะโดนเรียกไปปรับทัศนคติมั้ยเนี่ย แฮ่…) เล่มแรกได้รู้จักจากเพื่อนที่เรียนจบจาก ม.ช. คนนึง ช่วงก่อนหน้านี้ในเฟซบุคฮิตแท็คเพื่อนเพื่อแนะนำ ๑๐ หนังสือในดวงใจของแต่ละคน เราอ่านคำแนะนำที่เพื่อนเขียนไว้ว่าชอบเล่มนี้เพราะอะไรก็ประทับใจ เลยไปซื้อมาอ่านบ้าง

winter

เป็นเรื่องราวชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มนึงผ่านมุมมองการเล่าเรื่องของตัวเอกที่ชื่อ ธันวา อ่านมาได้เกือบๆ ครึ่งเล่มแล้ว ช่วงเวลาในเรื่องน่าจะเป็นยุคเดียวกับที่เราเองเรียนอยู่มหาวิทยาลัยศิลปากรทับแก้วเหมือนกัน จึงค่อนข้างประทับใจเพราะวิถีชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆ ใกล้เคียงกันมาก  ทั้งเรื่องการเรียน การรับน้อง ชีวิตเด็กหอ ความรักวัยใส แล้วก็เมืองเชียงใหม่ในสมัยนั้น ส่วนตัวหลงเสน่ห์เชียงใหม่อยู่เป็นทุนเดิม ไปเที่ยวเกือบทุกปี ก็เลยจะพอนึกออกว่าย่านไหนอยู่ตรงไหน ก็เลยทำให้ยิ่งสนุกกับเล่มนี้ไปใหญ่ อีกอย่างที่ชอบคือ มีรูปวาดสีน้ำมันสวยๆ ประกอบแต่ละบทให้เห็นภาพอยู่ตลอดเรื่องด้วย ช่วงนี้เลยมุ่งมั่นอ่านเล่มนี้เป็นพิเศษ พยายามอ่านให้จบอยู่

สำหรับเล่มนี้เป็นความเรียงสั้นๆ ๕๐ เรื่อง พูดถึงเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวันธรรมดาๆ นี่ล่ะ ความเหงา ความสูญเสีย ความทรงจำวัยเด็ก อ่านไปก็จะรู้สึกเหมือนนั่งคุยกับเพื่อนถึงเรื่องคนนู้นคนนี้ที่เคยรู้จัก อะไรทำนองนั้น

wearenotalone

จริงๆ ที่ซื้อเล่มนี้มาอ่านเพราะตามทวิตเตอร์ของคนเขียนมาก่อน @jirabell คือรู้สึกว่าเป็นผู้ชายที่มีประเด็นความคิดที่มีเสน่ห์ดี และหลายๆ เรื่องในเล่มนี้ก็แตกประเด็นมาจากทวีตที่เราเคยเห็นผ่านตามาแล้วนี่ล่ะ เหมือนเป็นการขยายความทวีตอีกที แต่เหตุที่อ่านได้ไม่จบซักที เพราะบางทีฟิลในความเรียงมันเหงาๆ อ่านรวดเดียวหลายๆ เรื่องมันก็จะทำให้จิตใจห่อเหี่ยวไปด้วย ก็เลยเอาไว้อ่านเวลาเบื่อๆ เรื่องสองเรื่องก่อนนอนมากกว่า

สุดท้าย หนังสือต้องห้ามแห่งยุคสมัย จริงๆ อ่านมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดการรัฐประหารแล้วนะ แต่ยังอ่านไม่จบซักที อ่านๆ หยุดๆ เพราะเนื้อหาค่อนข้างเครียด อ่านแล้วต้องคิดตามเยอะ และหนังสือค่อนข้างหนา เลือกอ่านฉบับแปลไทยเพราะอยากดูสำนวนการแปลด้วยว่าดีงามมั้ย เพราะเล่มนี้ถือว่าเป็นงานขึ้นหิ้งเลยเรื่องการใช้คำที่สื่อความหมายหลายนัย ซึ่งเท่าที่อ่านสำนวนแปลฉบับนี้ทำได้ดีมากทีเดียว แปลได้เป็นธรรมมชาติและสื่อนัยยะได้ดี

1984

เนื้อหาของหนังสือเกี่ยวกับยุคสมัยหนึ่งที่ผู้ปกครองหรือ Big Brother (พี่เบิ้ม) มีอำนาจสูงสุดต่อทุกชีวิตในสังคม สามารถส่องกล้องดูความประพฤติของทุกคนได้ตลอดเวลา ห้ามทุกคนแสดงออกทางความคิด ต้องทำตามตารางชีวิตที่ทางการขีดเส้นและเขียนบทบาทมาแล้ว ห้ามแม้กระทั่งการมีความรักหรือการมีอารมณ์สุนทรีต่างๆ เรื่องราวเล่าผ่านมุมมองของ วินสตัน ผู้ชายที่คิดจะกบฎเพราะไม่อยากตกอยู่ภายใต้การควบคุมของพี่เบิ้มอีกต่อไป เขาพยายามจดบันทึก และยังได้ทำผิดกฎอย่างมหันต์ด้วยการลักลอบมีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่หญิงของพรรคแรงงานที่มีความคิดหัวกบฏเช่นเดียวกัน

สำหรับเล่มนี้คิดไว้ว่าถ้าอ่านเล่มแรกจบแล้ว จะมาอ่านต่อให้จบเป็นเล่มต่อไป

หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
จริงๆ หนังสือที่อ่านจบเป็นเล่มล่าสุดเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นตาหวานเพ้อฝัน เพราะชอบอ่านเวลาเครียดๆ ทำให้เราเหมือนหลุดไปจากโลกความเป็นจริงได้ชั่วคราว แต่ถ้าเป็นหนังสือจริงจัง เรื่องล่าสุดที่อ่านจบคือ ความไม่เรียบของความรัก โดย ฮิโรมิ คาวาคามิ

lovebump

เป็นเรื่องสั้นโดยนักเขียนญี่ปุ่น เนื้อหาเป็นเรื่องความรักที่ผิดหวังในรูปแบบต่างๆ (ดูจากชื่อก็น่าจะเดาได้ไม่ยาก) อารมณ์เวลาอ่านมันก็เลยจะ เหงา เศร้า ซึม ซะมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของเล่มนี้ รวมถึงเรื่องสั้นญี่ปุ่นหลายๆ เรื่องที่เคยอ่าน คือ ถึงจะเศร้าแต่ก็แฝงด้วยความสุข อ่านจบแล้วมันเลยรู้สึกเต็มตื้น รู้สึกว่า เออ เจอเรื่องแบบนี้มันก็เศร้าแหละ แต่มันก็เป็นความทรงจำที่ดี ใครชอบอ่านเรื่องสั้นแนะนำเลย

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
อย่างที่บอกไปแล้วว่าอ่าน 1984 ค้างไว้ ก็ตั้งใจจะกลับมาอ่านเล่มนี้ให้จบเป็นลำดับถัดไป ยิ่งสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ก็ยิ่งอยากกลับมาอ่าน ไม่ได้อ่านเพื่อนจะลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลหรืออะไร แต่อ่านเพื่อสะท้อนมุมมองทางการเมืองต่างๆ วิเคราะห์เปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน และดูสำนวนการแปลไปพร้อมๆ กันด้วย

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะแต่ละคนก็คงชอบหนังสือคนละแนว แต่ถ้าจะให้แนะนำหนังสือที่น่าจะมีประโยชน์กับทุกคนก็ขอเลือก Tuesdays with Morrie โดย Mitch Albom

tuesdaywithmorrie

จะสังเกตว่าเล่มที่มีเป็นแบบที่ซีรอกซ์มาจากหนังสือจริง เพราะนี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่ใช้เรียนสมัยมหา’ลัย ทุกวันนี้ยังรู้สึกขอบคุณอาจารย์ที่เลือกเล่มนี้มาให้นักศึกษาที่กำลังอยู่ในวัยคะนองอ่าน

เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้เขียนและครูมอร์รี่ ผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (โรคที่ช่วงปีที่แล้วทุกคนลุกขึ้นมาทำ Ice Bucket Challenge เพื่อรณรงค์กันนั่นล่ะ) เนื้อหาของหนังสือเป็นสิ่งที่เขาและครูมอร์รี่ได้เรียนรู้จากช่วงสุดท้ายของชีวิตของครูก่อนที่ครูจะเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าว

การอ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เราค้นพบว่า การเรียนรู้ที่จะตายคือแนวทางในการใช้ชีวิตที่ดีที่สุด  นั่นก็คือ เมื่อเราตระหนักถึงความจริงที่ว่าคนเราเนี่ยมันสามารถตายไปได้ทุกเมื่อ เราก็จะรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต อะไรคือสิ่งที่เราควรใส่ใจ อะไรคือสิ่งที่เราควรเลือกทำ จะได้ไม่มัวแต่ยึดติดกับอะไรโง่ๆ แล้วต้องมาเสียดายหรือเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

จริงๆ เนื้อหาและแนวคิดต่างๆ ในเล่มนี้เป็นแนวคิดแบบพุทธมากๆ แต่อ่านแล้วไม่รู้สึกว่าน่าเบื่อเหมือนอ่านหนังสือธรรมะ และก็ไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดหลักการการทำดีมากมายด้วย อ่านแล้วจะมีความคิดขึ้นมาได้เองว่าเราควรใช้ชีวิตให้มีสติ

เล่มนี้แนะนำสำหรับคนที่อยากฝึกอ่านภาษาอังกฤษด้วยนะ เพราะผู้เขียนเลือกเล่าเรื่องด้วยภาษาง่ายๆ เข้าใจง่าย มีศัพท์เกี่ยวกับโรคที่ยากนิดหน่อย แต่รูปประโยคอื่นๆ เหมาะกับคนเริ่มอ่านภาษาอังกฤษทีเดียว

What We Read: เอกวสา สุขส่ง

Eakwasa

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้น โดยมีตอนนี้เป็นตอนแรกครับ

ชื่อ-นามสกุล :  เอกวสา สุขส่ง (ดาว)

อาชีพ : นักข่าวนิตยสารธุรกิจการตลาดรายเดือน

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
เมื่อว่างจากการปิดเล่ม ประมาณช่วง ๒ อาทิตย์แรกของเดือน ตอนนั้นจะมีเวลาชิลๆ ให้หยิบหนังสือมาอ่านได้สบายๆ ส่วนใหญ่จะอ่านตอนเย็นหลังจากกลับบ้านกับวันเสาร์ อาทิตย์ ถ้าไม่ได้ออกไปทำธุระที่ไหนก็ใช้เวลาอ่านได้ทั้งวัน ถ้าเล่มไหนสนุกอ่านเพลินๆ ใช้เวลาไม่กี่วันก็อ่านจบ แต่ถ้าเป็นช่วงปิดเล่มอยู่จะขอเว้นการอ่านหนังสือไปสักพักใหญ่ๆ เคลียร์งานจบค่อยเจอกัน

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
กำลังอ่าน Love a Lot is Not Enough มากกว่าแค่คำว่า “รัก” อยู่ เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คของเพื่อนสมัยเรียนปริญญาโทเขียนขึ้นมา ชื่อ “หนึ่ง” และ “เดียว” ทั้งสองคนเป็นคู่รักที่รู้จักกันมานานกว่า ๑๖ ปี ทำธุรกิจด้านความรักด้วยกันมา ๙ ปี แต่งงานกันมาแล้ว ๗ ปี และปัจจุบันมีลูกสาวด้วยกันหนึ่งคนอายุ ๖ เดือน ชื่อว่า “คนนี้” โดยทั้งคู่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ความรักและการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันออกมาเป็นข้อๆ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่ามีอีกหลายคำและหลายข้อสำคัญ ที่สามารถนำมาใช้กับชีวิตคู่ของทุกคนได้ เพื่อความรักและความเข้าใจที่ยืนยาว

loveisnotenough

ไม่ว่าจะเป็น… ๑. เวลาทะเลาะกันให้รีบคิดว่าพรุ่งนี้ก็ลืมแล้วว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร ให้รีบคืนดีกัน ๒. อย่าเบื่อที่จะรับสาย เพราะมันดีกว่าไม่มีใครโทรเข้ามา ๓. ไม่มองบ้างไม่พูดบ้างทำให้ความรักยืนยาวขึ้น ๔. ความรักไม่ใช่เกมส์กีฬาอย่ามัวแต่หาคนชนะหรือแพ้ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะเป็นผู้แพ้ทั้งคู่ ๕. เมื่อคนหนึ่งพูดอีกคนต้องฟัง

และยังมีอีกหลายข้อที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับตัวเอง เพราะปกติแล้วจะชอบอ่านแต่หนังสือแปลแนวสืบสวน สอบสวน กับแฟนตาซีเป็นส่วนใหญ่ พออ่านเล่มนี้แล้วรู้สึกว่านำมาใช้ในชีวิตจริงได้ และเหมาะกับทุกคน

หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
เล่มที่อ่านจบไปล่าสุดคือ สนิท ชิด เชือด (Sharp Objects) ของ Gillian Flynn ผู้แต่งคนเดียวกับเรื่อง Gone Girl อันโด่งดังทั้งในรูปแบบหนังสือและภาพยนตร์ เป็นแนวลึกลับ สอบสวน โดยมีคามิลล์ พริกเกอร์ นักข่าวสาวจากชิคาโกเป็นตัวเดินเรื่อง เธอถูกส่งไปทำข่าวฆาตกรรมเด็กนักเรียนที่เมืองเล็กๆ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอที่จากมานานกว่า ๑๐ ปี ภายในเมืองเล็กๆ ที่ดูน่าจะปลอดภัยกลับแฝงเรื่องราวและเบื้องหลังบางอย่างที่น่าสะพรึงไว้มากมาย

sharpobjects

ที่น่าสนใจคือตัวละครทุกตัวดูเหมือนคนมีปมและช่างน่าสงสัยไปหมดว่าใครคือฆาตกรตัวจริง ตอนแรกเดาไว้แล้วว่ามีคนสำคัญของคามิลล์คนนึงเป็นฆาตรกรแน่ๆ แต่สุดท้ายก็หักมุม และมีหลายอย่างที่ซับซ้อนกว่าที่คาดเดาไว้มาก ผู้เขียนวางพล็อตไว้ได้น่าติดตามและหักมุมสุดๆ แม้ว่าเมื่อเทียบกับ Gone Girl แล้ว ระดับความซับซ้อนของเรื่องนี้ยังถือว่าเบากว่าเยอะมากกกกกกกก แต่ก็ไม่น่าผิดหวังสำหรับคอนิยายแนวนี้

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
มีหนังสือเล่มนึงที่ซื้อไว้เพื่อเตรียมอ่านตอนว่างๆ แล้ว ชื่อ Six Years สาปสูญ เขียนโดย ฮาร์ลาน โคเบน ซึ่งมีผลงานออกมาหลายเล่มแล้ว และแน่นอนว่ายังเป็นแนวลึกลับ ซับซ้อน ซ่อนปม เช่นเคย เพราะเป็นแนวที่ชอบมาก อีกเรื่องที่สนใจคือ Fifty Shades of Grey อันโด่งดัง บอกเลยว่าอ่านตามกระแส ยังไม่ได้ดูหนังว่าเป็นไง แต่ได้ยินจากคนที่เคยมาหลายคนบอกว่าหนังสือแซ่บกว่าเยอะ งานนี้ต้องลอง อิอิ

sixyears

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
ถ้าเป็นแนวที่สามารถนำกลับมาใช้ในชีวิตจริงได้คงแนะนำ Love a Lot is Not Enough มากกว่าแค่คำว่า “รัก” แม้จะยังอ่านไม่จบดีแต่ก็ได้ข้อคิดในการดำเนินชีวิตคู่มาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของแฟนหรือคนรักก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ ส่วนคนที่โสดก็ใช่ว่าจะอ่านไม่ได้ เพราะมีบางข้อที่เหมาะกับคนโสดเหมือนกัน หรือจะอ่านไว้เพื่อเตรียมรับมือกับความรักใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคตก็ยังได้

ส่วนใครที่ชอบแนวแฟนตาซีขอแนะนำ The Hunger Games ทั้ง ๓ เล่ม ถึงจะเป็นนิยายแฟนตาซีแต่ก็มีทั้งแอกชั่น ดราม่า และการเมืองแทรกอยู่ด้วย จึงออกโทนดาร์กๆ หน่อย ไม่ใช่แนวแฟนตาซีเพ้อฝัน บางคนดูในโรงอาจจะไม่อิน แต่ถ้าอ่านหนังสือแล้วบอกเลยว่าสนุกกว่ามาก เปิดโลกจินตนาการได้กว้างไกลสุดๆ ส่วนตัวแล้วไปดูในโรงก่อนในภาคแรกจากนั้นก็ติดใจเลยซื้อมาอ่านทีเดียว ๓ เล่มรวดจบแบบมาราธอน ฟินๆ กันไป