ปีนี้ตั้งใจจะอ่านหนังสือ non-fiction

หนังสือวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๗

ต่อเนื่องจากปีที่แล้วที่ผมตั้งใจเอาไว้ว่าจะอ่าน “หนังสือ” (อ่านได้จากโพสต์นี้ครับ) ซึ่งก็ทำได้เกินกว่าเป้าที่ตั้งเอาไว้เล็กน้อย คือ อ่านไปได้ทั้งหมด ๑๕ เล่มจากที่ตั้งเป้าเอาไว้ ๑๒ เล่ม แต่พอนั่งดูรายการหนังสือที่อ่านไปแล้วมี เอ๊ะ นิดนึง ก็คือ ถ้าตัด Offscreen ที่เป็นนิตยสารออกไปแล้ว (จริง ๆ มีนิตยสารเล่มอื่นอีก แต่ไม่เอามานับรวม) ที่เหลือเป็นนิยายทั้งนั้นเลย จะเป็นผลงานของนักเขียนไทยหรือต่างชาติก็แล้วแต่ ไม่ได้ ไม่ได้ ปีนี้มันต้องท้าทายยิ่งขึ้น (แปลว่า “คึก”)

ผมก็เลยตั้งเป้าว่า ปีนี้จะอ่านหนังสือ non-fiction (ไม่รู้จะเรียกยังไง ขอเรียกทับศัพท์แบบนี้แล้วกันนะครับ) เป็นหลัก ถ้าจะมีหลุดนิยายมาก็จะต้องเป็นเล่มที่พิเศษมากกกกกก กูอยากอ่านจริง ๆ อะไรแบบนี้ แล้วก็ตั้งเป้าจำนวนเอาไว้ด้วยเลยว่า อย่างน้อยต้องได้ ๑๒ เล่ม คือเฉลี่ยเดือนละเล่มเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าหนังสือประเภทนี้มันจะอ่านได้ช้ากว่านิยายก็เถอะ

จะทำได้แค่ไหน เดี๋ยวปลายปีมาสรุปอีกทีครับ

หมายเหตุ : ภาพนี่เอามาประกอบเฉย ๆ นะครับ ยังไม่ได้คิดว่าจะอ่านเล่มที่เห็นในภาพหรือเปล่านะ

 

ส่วนหนังสือที่อ่านปีที่แล้ว ๑๕ เล่ม มีอะไรบ้าง ตามรายการนี้เลยครับ

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๘ : Gone Girl

หนังสือเล่มที่สองของปี ๒๕๕๘ : ระวังหลัง

หนังสือเล่มที่สามของปี ๒๕๕๘ : Offscreen

หนังสือเล่มที่สี่ของปี ๒๕๕๘ : กับดักฆาตกร

หนังสือเล่มที่ห้าของปี ๒๕๕๘ : แกล้ง

หนังสือเล่มที่หกของปี ๒๕๕๘ : ลวง

หนังสือเล่มที่เจ็ดของปี ๒๕๕๘ : สารวัตรเถื่อน

หนังสือเล่มที่แปด & เก้าของปี ๒๕๕๘ : แม่ลาวเลือด

หนังสือเล่มที่สิบของปี ๒๕๕๘ : สาบสูญ

หนังสือเล่มที่ ๑๑ ของปี ๒๕๕๘ : ผู้ยิ่งใหญ่

หนังสือเล่มที่ ๑๒ ของปี ๒๕๕๘ : ห้องสมควรตาย

หนังสือเล่มที่ ๑๓ ของปี ๒๕๕๘ : ตามล่านาซี

หนังสือเล่มที่ ๑๔ และ ๑๕ ของปี ๒๕๕๘ : คดีเจ็ดแพะ & คดีศพล่องหน

 

หนังสือที่ CEO แนะนำ (และแจก) ให้อ่าน

แค่ทำให้คนเก่งขึ้น ๑% คุณก็จะทำงานน้อยลง ๙๙%

เมื่อวานมีโอกาสได้เข้าฟังนโยบายจากซีอีโอ และผู้เข้าร่วมฟังนโยบายทุกคนได้รับแจกหนังสือ แค่ทำให้คนเก่งขึ้น ๑% คุณก็จะทำงานน้อยลง ๙๙% (ตามภาพด้านบนครับ)

ซีอีโออธิบายว่า เมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับคนทำงานในระดับหัวหน้า อ่านแล้วชอบมาก เห็นว่าเป็นประโยชน์ก็เลยเอามาแจกให้บรรดาคนที่เข้าฟังนโยบาย (ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูง) ได้เอาไปอ่าน

ซีอีโอบอกว่า วลีเด็ดที่ประทับใจมากในเล่มนี้คือ หัวหน้าต้องเป็นคนที่ลูกน้องอยู่ด้วยแล้วรู้สึกอบอุ่น แต่ไฟลุกโชน

พอพูดจบประโยคก็มีเสียงฮืออออออออออ ทั่วทั้งห้องประชุมนะครับ ตัวผมตอนนี้ยังไม่ได้อ่านเพราะติดคิวเล่มอื่นอยู่ ถ้าอ่านแล้วจะเอามาเล่าสู่กันฟังนะครับ

โมบี้-ดิ๊ก ฉบับภาษาไทย หนังสือที่คนอ่านระดมทุนให้ทำ

mobydickbox

เมื่อวานกลับมาถึงบ้านมีพัสดุมากล่องนึงตามรูปด้านบนครับ ดูจากสติ๊กเกอร์ที่แปะอยู่บนกล่องแล้วก็อุ่นใจได้ว่าของข้างในคงไม่ใช่ระเบิดและก็พอเดาได้ว่าเป็นอะไร หลังจากเปิดกล่องออกมาก็เจอสิ่งนี้ครับ

เปิดกล่อง Moby-dick

พอแกะออกมาก็เป็นเล่มนี้

Moby-dick ฉบับภาษาไทย

ถ้าใครยังพอจำได้ ผมเคยเขียนถึงโครงการระดมทุนเพื่อดำเนินการแปลและจัดพิมพ์ “โมบี้-ดิ๊ก” ฉบับภาษาไทยมาแล้วครั้งหนึ่ง (ใครยังไม่เคยอ่าน หรืออ่านแล้วและลืมแล้ว เชิญได้ที่นี่ครับ โครงการระดมทุน โมบี้-ดิ๊ก ฉบับประชาชน) สารภาพตามตรงว่า ตอนนั้นพอโอนเงินเรียบร้อยผมลืมเรื่องนี้ไปเลย เพราะยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะทำต้นฉบับเสร็จแล้วยังต้องมีขั้นตอนการจัดพิมพ์อีก ลืมสนิทครับ

ตอนที่ร่วมลงเงินไปก็ไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ได้รู้จักอะไรกันกับทีมงานเป็นการส่วนตัวด้วย แค่อยากเห็นโมเดลใหม่ๆ ของการทำหนังสือเกิดขึ้นในบ้านเรา อยากให้สำเร็จ อยากเห็นมันหยั่งรากและเติบโตเป็นทางเลือกให้คนทำหนังสือได้มีโอกาสทำงานที่ตัวเองอยากทำ (โดยไม่เจ๊ง) และคนอ่านก็มีโอกาสได้มีส่วนร่วมสนับสนุนให้เกิดผลงานที่ตัวเองอยากอ่าน (หรือไม่อ่านก็ได้นะแต่อยากสนับสนุนให้ทำขึ้นมางี้)

การระดมทุนเพื่อจัดพิมพ์หนังสือนี่นอกจากของกลุ่มวรรณกรรมไม่จำกัดแล้วก็ยังมีของเจ้าอื่นด้วยเหมือนกัน อย่าง afterword ที่มีรูปแบบเหมือนกับ Kickstarter ของเมืองนอกแต่โฟกัสที่การระดมทุนเพื่อจัดทำหนังสืออย่างเดียวล้วนๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหนังสือหลายเล่มที่ระดมทุนผ่านทาง afterword และประสบความสำเร็จไปเป็นที่เรียบร้อย ตอนนี้ก็ยังมีอีกหลายเล่มที่ระดมทุนอยู่ ใครสนใจก็ลองคลิกไปดูได้ตามลิ้งก์ด้านบนนะครับ

สำหรับใครที่สงสัยว่า ทำไมจะต้องมาระดมทุนพิมพ์หนังสือกันด้วยล่ะ? ทุกวันนี้สำนักพิมพ์ก็มีเยอะแยะ ร้านหนังสือก็มีแทบจะในทุกห้าง ทำไมไม่เอาต้นฉบับเข้าไปคุยกับสำนักพิมพ์เลยล่ะ? อะไรทำนองนี้นะครับ ผมอยากบอกว่าสิ่งที่เห็นมันเป็นภาพลวงตานะครับและปัญหานี้ทาง afterword เขาสรุปเอาไว้ดีมากในภาพเพียงภาพเดียวที่นี่ครับ

ปิดท้ายด้วยกระดาษที่ทางทีมงานกลุ่มวรรณกรรมไม่จำกัดเขาหุ้มหนังสือมา แกะออกมาแล้วเป็นภาพนี้ครับ จะเรียกว่าเป็นโปสเตอร์ก็คงได้มั้ง

ขอให้มีความสุขกับการอ่านครับ ❤

โปสเตอร์ Moby-dick

เปลี่ยนวิธีอ่านหนังสือ

เปลี่ยนวิธีอ่านหนังสือ

เมื่อก่อนเวลาอ่านหนังสือผมจะถนอมมาก ไม่ขีด ไม่เขียน ไม่ไฮไลต์ใดๆ ทั้งสิ้น อ่านจบเล่มหนังสือยังกริ๊บ ประมาณว่าเอาไปขายเป็นหนังสือใหม่ได้เลย

แต่ช่วงสักสี่ห้าปีมานี้ ลองเปลี่ยนวิธี อ่านไปก็ขีดเส้นใต้หรือไฮไลต์ข้อความสำคัญหรือประโยคโดนๆ ไปด้วย บางทีก็จดโน้ตหรือความคิดจากการอ่านข้อความตรงนั้นเพิ่มลงไปด้วย หรือบางทีก็เป็นความคิดที่เราไม่เห็นด้วยกับคนเขียน หรือเป็นประเด็นที่สนใจแต่ต้องไปหาข้อมูลเพิ่ม

ทำอย่างนี้อ่านเสร็จหนังสือเลอะไปหมด ถามว่า เสียดายมั้ย? โคตรเสียดาย แต่คิดว่าสิ่งที่ได้กลับมาแม่มโคตรคุ้ม ความรู้ความเข้าใจและไอเดียที่ได้จากหนังสือแต่ละเล่มเพิ่มขึ้นจากแต่ก่อนเยอะมาก และถ้าวันข้างหน้าหยิบกลับมาเปิดดูใหม่ เรายังได้เห็นว่าในวันนี้เราสนใจประเด็นไหน มีมุมมองหรือความเห็นต่อเรื่องนี้ยังไง ดูได้ว่าเรามีพัฒนาการทางความคิดหรือมีวุฒิภาวะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

ที่สำคัญ หนังสือแต่ละเล่มที่อ่านจบมันกลายเป็น special edition เฉพาะตัวของเราด้วย มีเอกลักษณ์ไม่มีทางซ้ำเล่มอื่น มีเล่มเดียวในโลก ขนาดนั้น

ถ้าใครสนใจก็ลองทำดูนะฮะ ได้ผลยังไงมาเล่าสู่กันฟังบ้าง… ❤

กว่าจะมาเป็น “ปก”

เรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า Don’t judge a book by its cover ในความหมายทำนองว่าบางทีเราอาจไม่ชอบไม่ถูกใจปกหนังสือบางเล่ม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังสือเล่มนั้นจะไม่ดีหรือไม่ถูกใจเราตามไปด้วย ให้ลองหยิบอ่านดูก่อน เราอาจจะชอบหนังสือเล่มนั้นก็ได้

คำกล่าวนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวหลายครั้งก็จริงตามนั้น แต่จะเหมารวมไปถึงขนาดว่าปกหนังสือไม่มีความสำคัญก็ดูจะเกินความจริงไป คนออกแบบปกที่นั่งทำงานหลังขดหลังแข็งแก้แล้วแก้อีกกว่าจะได้ปกหนังสือที่เราเห็นกันทุกวันนี้จะพาลน้อยใจเอา เพราะเอาเข้าจริงการออกแบบปกหนังสือแต่ละเล่มก็จะต้องอิงกับเนื้อหา อารมณ์และบรรยากาศของหนังสือเล่มนั้นๆ ด้วย แล้วที่สำคัญก็คือ ยอดขายหนังสือจะดีไม่ดีส่วนหนึ่งก็อยู่ที่ปกนี่แหละ เพราะปกที่ดีต้องดึงดูดสายตาและมีความน่าสนใจมากพอที่จะชวนให้นักอ่านหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาพลิกดูให้ได้แม้ว่าจะวางอยู่ในร้านที่มีหนังสืออีกหลายร้อยหลายพันเล่มวางเรียงรายแย่งความสนใจกันอยู่ก็ตาม ถ้าได้ถึงขนาดที่ว่าเดินเข้าไปในร้านหนังสือแล้วปกเล่มนี้มันเด่นเด้งกระแทกสายตาขึ้นมาได้ตั้งแต่ก้าวแรกนั่นแหละถือว่าตอบโจทย์

เล่าเป็นตัวหนังสือแบบนี้อาจไม่เห็นภาพ ต้องดูคลิปด้านล่างที่ทาง Random House สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของโลกเขาทำขึ้นมาเพื่อให้เห็นกระบวนการออกแบบปกหนังสือ โดยใช้ Hausfrau : A Novel ของ Jill Alexander Essbaum เป็นตัวอย่าง

งานนี้ Executive Art Director ของ Random House เล่าว่า ใช้ดีไซเนอร์ห้าคน คนวาดภาพประกอบคนนึง แล้วยังมีคนออกแบบตัวอักษรอีกสองคน ออกแบบทำงานกันมากว่าจะลงตัวได้แบบที่ถูกใจทำไปทั้งหมดร้อยกว่าแบบ (เท่านั้นเอง)

ส่วนว่าปกนี้จะเข้ากับเนื้อหายังไง ขอเชิญผู้สนใจลองซื้อหามาอ่านดูแล้วมาเล่าบอกกันบ้างนะครับ

โครงการระดมทุน โมบี-ดิ๊ก ฉบับประชาชน

โครงการระดมทุน โมบี-ดิ๊ก ฉบับประชาชน

มีโครงการน่าสนใจมาบอกต่อครับ ทางกลุ่มวรรณกรรมไม่จำกัดได้ร่วมกับ Readery ร้านหนังสือออนไลน์ จัดโครงการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการแปล Moby-Dick ฉบับภาษาไทย โดยมีคุณขวัญดวง แซ่เตีย เป็นผู้แปล และคุณมนตรี ภูมี เป็นบรรณาธิการ

การระดมทุนครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายการระดมทุนเอาไว้ที่ ๕๐๐,๐๐๐ บาทถ้วน ผู้สนใจสามารถลงทุนอย่างน้อยคนละ ๗๐๐ บาท โดยจะได้รับหนังสือ Moby-Dick ฉบับภาษาไทย ปกแข็ง จำนวน ๑ เล่ม (ต่อ ๗๐๐ บาท) ได้รับหนังสือภายในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘

การระดมทุนครั้งนี้มีกำหนดถึงวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์นี้นะครับ

ผมไม่รู้จักกับใครที่กลุ่มวรรณกรรมไม่จำกัดและ Readery เป็นการส่วนตัว รวมทั้งยังไม่เคยเห็นผลงานของคุณขวัญดวง และคุณมนตรีมาก่อน แต่ผมคิดว่าโครงการนี้จะช่วยเผยแพร่วรรณกรรมคลาสสิกให้กว้างขวางขึ้นในประเทศไทย และถ้าจะรอให้มีสำนักพิมพ์ไหนใจถึงจัดพิมพ์ออกมาจำหน่ายก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอถึงเมื่อไหร่ งานนี้ก็เลยช่วยสนับสนุนและเผยแพร่ตามกำลังที่มีนะครับ

ผู้สนใจขอเชิญเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมและร่วมลงทุนได้ที่นี่ครับ

ปีนี้ตั้งใจจะอ่าน “หนังสือ”

Gone Girl

เมื่อตอนวันหยุดช่วงปลายปีที่ผ่านมาใช้เวลานั่งคิดว่าวาระของปีนี้จะเป็น อะไรดี แล้วก็นึกได้ว่าช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาผมอ่านหนังสือ (ที่เป็นเล่ม) น้อยลงมาก ถึงแม้จะซื้อในปริมาณเท่าๆ กับเมื่อก่อน แต่ก็ซื้อมาเก็บมากองเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยได้หยิบมาอ่านจริงจังมากนัก นี่ยังดีว่าปีที่แล้วกลับมาอ่านนิยายแปลได้หลายเล่ม พอคิดได้อย่างนี้ก็เลยสรุปว่า เอาล่ะวะ ปี ๒๕๕๘ นี่จะตั้งใจอ่านหนังสือเป็นจริงเป็นจัง

ผมตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะอ่านให้ได้เฉลี่ยเดือนละเล่ม ๑๒ เดือนก็ ๑๒ เล่ม ฟังแล้วดูเหมือนน้อยเนอะ แต่ต้องเผื่อเอาไว้หน่อย เพราะจะอ่านทั้งที่เป็นนิยายและ non-fiction แล้วบางเล่มก็เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งวัดจากระดับความชำนาญด้านภาษาของตัวเองแล้วคงใช้เวลาพอสมควร ก็เอามาเฉลี่ยกับเล่มที่เป็นภาษาไทย กะคร่าวๆ ว่าเดือนละเล่มนี่น่าจะเอาอยู่ (พอพิมพ์ “เอาอยู่” แล้วหน้าคนบางคนลอยมาเลยทีเดียว)

ประเดิมเดือนแรกของปีด้วย Gone Girl นิยายขายดีติดอันดับ ๑ ของ New York Times เอามาสร้างเป็นหนังก็ทำรายได้ถล่มทลาย แถมด้วยเสียงวิจารณ์ด้านบวก ก่อนจะอ่านพยายามไม่รับรู้เรื่องราวจากใครทั้งสิ้น เดี๋ยวจะสปอยล์ซะก่อน ผลจากการอ่านเก็บไปเรื่อยๆ วันละสิบยี่สิบหน้า ช่วงเสาร์-อาทิตย์ว่างๆ ก็อ่านยาวไป สำเร็จตามเป้านะ ๕๕๕ หน้า จบได้ภายในเดือนนึงพอดี (จำนวนหน้านี่ไม่ได้มุข เท่านี้จริงๆ)

เดือนกุมภาฯ นี้จะเริ่มเล่มใหม่แต่จนถึงวันนี้ยังไม่ได้เริ่มเลย มันยากอีตรงเลือกว่าจะอ่านเล่มไหนนี่แหละ รักพี่เสียดายน้อง พลิกไปพลิกมา บางเล่มหยิบมาตั้งท่าจะอ่านแล้วก็เปลี่ยนใจ

แล้วจะมาอัพเดทใหม่นะครับ