นิตยสารผู้จัดการ เมษายน ๒๕๔๙ : กานต์ ตระกูลฮุน

นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเมษายน ๒๕๔๙

สิ้นปีนี้คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี จะเกษียณอายุและส่งต่อตำแหน่งให้กับคนต่อไป หากนับจากวันที่เข้ารับตำแหน่งต่อจากคุณชุมพล ณ ลำเลียง เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๙ เท่ากับว่าคุณกานต์อยู่ในตำแหน่งนี้มาสิบปีเต็ม

นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๔๙ ขึ้นปกด้วยเรื่อง กานต์ ตระกูลฮุน SCG Culture Change นับเป็นสื่อแรกที่ได้สัมภาษณ์พิเศษคุณกานต์ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ โดยทีมงานได้ติดต่อขอสัมภาษณ์คุณกานต์ตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี ๒๕๔๘ และวางแผนจะให้เรื่องนี้ลงในฉบับมกราคมเพื่อรับกับการเข้ารับตำแหน่งพอดี แต่คุณกานต์ปฏิเสธด้วยเหตุว่า การให้สัมภาษณ์ตั้งแต่ยังไม่ได้รับตำแหน่งดูจะเป็นการไม่เหมาะสม กำหนดการดังกล่าวจึงต้องเลื่อนมาเป็นฉบับเมษายนแทน

การเข้ารับตำแหน่งของคุณกานต์ได้รับการจับจ้องมากพอดู สาเหตุสำคัญเป็นเพราะคุณกานต์เข้ามารับช่วงต่อจากคุณชุมพล ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างมากในแวดวงธุรกิจบ้านเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นผู้นำการพลิกฟื้นฐานะของเอสซีจีจากที่เรียกได้ว่า เจ๊งไปแล้ว เมื่อครั้งเจอวิกฤติต้มยำกุ้งจนกลับมามีฐานะมั่นคงได้อีกครั้ง

ประการที่สอง การเปลี่ยนผู้บริหารของเอสซีจีครั้งนี้ไม่ได้เพียงคนเดียว แต่เป็นการเปลี่ยน ยกชุด เพราะคณะจัดการชุดคุณชุมพลพร้อมใจกันเกษียณอายุก่อนกำหนดพร้อมกันทั้งคณะ เท่ากับว่าคุณกานต์ต้องเลือกขุนพลคู่กายขึ้นมาใหม่ทั้งหมด แต่ก็ไม่ถือว่าโดดเดี่ยวจนเกินไปนัก เพราะพี่ๆ ที่เกษียณไปก็ยังทำหน้าที่ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำอยู่

ในเล่มนี้ นอกจากคุณกานต์จะให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดและนโยบายการทำธุรกิจแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่ให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องครอบครัวอีกด้วย

สำหรับภาพปก ถ่ายกันที่อาคารสำนักงานใหญ่เอสซีจี ที่บางซื่อ เป็นผลงานของคุณจันทร์กลาง กันทอง ซึ่งวันนี้ก็ยังทำงานอยู่ที่เอเอสทีวี ผู้จัดการ แต่ก็มีผลงานไปปรากฎตามที่ต่างๆ รวมทั้งมีผลงานที่ชนะการประกวดด้วย

นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม ๒๕๔๘ : New era of Banking Industry

นิตยสารผู้จัดการ ฉบับกรกฎาคม ๒๕๔๘ : New era of Banking Industry

เมื่อสิบปีที่แล้ว นิตยสารผู้จัดการ ฉบับกรกฎาคม ๒๕๔๘ ทำเรื่องการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของธนาคารกสิกรไทยเป็นเรื่องจากปก

ในการทำงานต้องสัมภาษณ์กรรมการผู้จัดการและประธานของหกธุรกิจสำคัญ เพื่อนำเสนอเรื่องราวให้ครบถ้วนสมบูรณ์

สำหรับภาพปกก็เป็นภาพของกรรมการผู้จัดการและประธานของทั้งหกธุรกิจสำคัญด้วยเข่นกัน

ภาพนี้ถ่ายที่อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารกสิกรไทยริมแม่น้ำเจ้าพระยา ช่างภาพต้องเซ็ตตำแหน่งและท่ายืนของผู้บริหารทุกคนเตรียมไว้ เมื่อพร้อมแล้วจึงตามคุณปั้นมาเข้าฉากและถ่ายภาพ

สิบปีผ่านไปคนในภาพนี้หลายคนไม่ได้อยู่ที่ KBANK อีกแล้ว อาทิ

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ลาออกไปเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย และปัจจุบันเป็นประธานคณะกรรมการ ปตท.
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ลาออกไปเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเป็นประธานอนุกรรมการเตรียมความพร้อมการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ
คุณรพี สุจริตกุล ปัจจุบันเป็นเลขาธิการ สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ส่วนนิตยสารผู้จัดการ ปัจจุบันไม่ได้พิมพ์ออกมาเป็นเล่มอีกแล้ว แต่แปลงสภาพเป็นสื่อดิจิทัลตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแวดวงสื่อสารมวลชน แฟนๆ รุ่นเก่าอาจไม่ชินก็เลยไม่ได้ตามไปอ่านต่อ ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่รู้จัก ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายสำหรับนิตยสารธุรกิจฉบับนี้ครับ

สหพัฒนฯ โตแล้วแตกและแตกแล้วโต

สหพัฒนฯ โตแล้วแตกและแตกแล้วโต

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือในแนวองค์กรของผู้เขียนชาวไทยที่ผมคิดว่าดีที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่เคยมีการตีพิมพ์ออกวางจำหน่าย และที่น่าสนใจก็คือ เล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๓๓ เพิ่งครบรอบ ๒๕ ปีไปเมื่อเดือนที่แล้วนี่เองและดูเหมือนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมามีหนังสือแนวนี้เพียงไม่กี่เล่มที่ทำได้ถึงระดับนี้ (ถ้าจะมี)

คุณสมใจ วิริยะบัณฑิตกุล เขียนหนังสือเล่มนี้ขณะทำงานเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่นิตยสารผู้จัดการ (หรือที่เรียกกันติดปากว่า ผู้จัดการรายเดือน) โดยได้รับมอบหมายจากคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าสำนักผู้จัดการ ส่วนสาเหตุที่ว่า ทำไมถึงต้องทำหนังสือเล่มนี้และทำไมต้องเป็นสหพัฒนฯ นั้น คงไม่มีใครอธิบายได้ดีไปกว่าคุณสนธิที่ได้เล่าเอาไว้ในคำนำสำนักพิมพ์ตามภาพด้านล่าง

sahapat_sondhi

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ไม่เพียงบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและการเติบโตของสหพัฒนฯ เท่านั้น แต่ยังได้รวบรวมแง่มุมการดำเนินธุรกิจของสหพัฒนฯ เอาไว้อย่างรอบด้าน ทั้งการบริหารงาน บริหารคน การตลาด วัฒนธรรมองค์กร โดยไม่ได้บอกเล่าเพียงเรื่องราวของความสำเร็จ แต่ยังมีความผิดพลาดและความล้มเหลวที่เป็นบทเรียนอีกด้วย

การเปิดเผยเรื่องราวอย่างหมดเปลือกเช่นนี้ในด้านหนึ่งต้องนับถือความใจกว้างของสหพัฒนฯ เพราะตามปกติแล้วข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นความลับของธุรกิจ อีกทั้งคนทั่วไปย่อมไม่อยากเล่าถึงข้อผิดพลาดของตัวเอง

ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ค่ายผู้จัดการและคุณสมใจสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับสหพัฒนฯ ได้ว่า มีความรู้และภูมิปัญญาที่จะสามารถค้นคว้าข้อมูล กลั่นกรอง วิเคราะห์และเรียบเรียงออกมาเป็นเรื่องราวที่มีประโยชน์ได้มากกว่าการเขียนตามคำบอกเล่าเพียงอย่างเดียว

ความมั่นใจที่ว่านั้นส่วนหนึ่งน่าจะมาจากบรรณาธิการที่ปรึกษา นามว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ในห้วงเวลานั้นดร.สมคิดทำหน้าที่ที่ปรึกษาให้กับทั้งสหพัฒนฯ และผู้จัดการ อาจกล่าวได้ว่าการที่ดร.สมคิดตกลงรับบทบาทบรรณาธิการที่ปรึกษาให้กับหนังสือเล่มนี้ย่อมเป็นหลักประกันให้สหพัฒนฯ มั่นใจในหนังสือที่จะออกมาได้มากขึ้น

หากจะกล่าวถึงความสำเร็จในด้านเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ คงต้องยกคำนิยมของคุณทวี บุตรสุนทร อดีตผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ตีพิมพ์อยู่ที่ปกหลังมาให้ดูกัน

“ผมได้อ่านหนังสือของสหกรุ๊ปแล้ว ได้ความรู้มากมายหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการด้านการขายและการตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค คนเขียนคงต้องใช้เวลาในการค้นคว้านาน การดำเนินเรื่องในแต่ละบทดี อ่านจบบทหนึ่งแล้วก็ชวนให้ติดตามอยากอ่านบทต่อๆ ไป ผมเชื่อว่าจะเป็นหนังสือที่ขายดีที่สุดเล่มหนึ่ง นักการตลาดทุกคนต้องไม่พลาดที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้”

ก่อนจะจบขอปิดท้ายด้วยการอัพเดตกันหน่อยว่า ๒๕ ปีผ่านไป ผู้เกี่ยวข้องแต่ละคนเป็นยังไงกันบ้าง เริ่มที่คุณสนธิ เจ้าของโปรเจ็กต์ คนนี้ชีวิตถ้าเป็นเส้นกราฟก็ต้องบอกว่าขึ้นสุดลงสุด ผ่านยุครุ่งเรืองร่ำรวยก่อนจะพลิกมาเป็นบุคคลล้มละลายหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง ต่อมาเป็นบุคคลผู้ปลุกกระแสต้านนายกรัฐมนตรีที่เรืองอำนาจที่สุดคนหนึ่งของไทย ขยับมาเป็นผู้นำม็อบเรือนแสน ถูกลอบสังหารชนิดที่ไม่น่ารอดแต่รอด สุดๆ จริงๆ

คุณสมใจ ผู้เขียน ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ณรินณ์ทิพ เป็นเจ้าของบริษัท พีเพิล มีเดีย จำกัด ผลิตสื่อสิ่งพิมพ์และรายการโทรทัศน์ ส่วนดร.สมคิด เคยก้าวขึ้นถึงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ดูแลงานด้านเศรษฐกิจ และเคยมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

สำหรับสหพัฒนฯ เองเปลี่ยนตัวผู้นำจากนายห้างเทียม มาเป็นคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา และขยายกิจการออกไปอีกมาก ล่าสุดได้รับพระราชทานครุฑตราตั้งและจะมีพิธีอัญเชิญครุฑขึ้นประดิษฐานในวันที่ ๙ สิงหาคมที่จะถึงนี้

 

สหพัฒนฯ โตแล้วแตกและแตกแล้วโต
ผู้เขียน : สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
สำนักพิมพ์ : โครงการหนังสือผู้จัดการ
ราคา : ๕๐๐ บาท

sahapat_back