เตรียมพบกับ Creativity Inc. ฉบับภาษาไทย (เดานะ)

Creativity, Inc.

คิดว่าอีกไม่นานจะมีหนังสือ Creativity Inc. ที่เขียนโดย Ed Catmull (หน้าตาตามภาพประกอบนะฮะ) ฉบับแปลภาษาไทยออกมาให้ได้อ่านกัน

ที่เดาอย่างนี้เพราะเมื่อกี๊นั่งอยู่ที่ร้านกาแฟที่นึง เห็นหญิงสาวพร้อมปากกาในมือกำลังนั่งเปิดหนังสือเล่มนี้ฉบับ hardcover พลิกไปพลิกมาเทียบกับกระดาษ A4 หนาเป็นปึกที่วางอยู่ตรงหน้า หน้าตานี่เอาจริงเอาจังมาก

อาการนี้บอกได้เลยว่า ถ้าไม่ใช่กำลังแปล ก็คงกำลัง edit อยู่ ไม่รู้ว่าสำนักพิมพ์ไหนซื้อลิขสิทธิ์มา ใครที่รออ่านเล่มนี้อยู่อดใจรอสักพักนะฮะ…

หมายเหตุ รูปประกอบนี่เป็นหนังสือของผมเองนะ ไม่ใช่ของหญิงสาวคนที่กล่าวถึง ขออภัยที่ไม่มีภาพประกอบ ไม่กล้าถ่าย กลัวโดนหาว่าโรคจิต หน้ายิ่งให้อยู่ 5555

รีวิวหนังสือ : อย่าหลอกกัน (Fool Me Once) – ใครหลอกใคร?

foolmeonce

หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานล่าสุดของ Harlan Coben ที่มีการแปลออกมาเป็นภาษาไทย โดยคุณมณฑารัตน์ ทรงเผ่า เจ้าเก่าที่แปลงานของคุณพี่ Coben มาแล้วหลายเล่ม ถ้าใครเป็นแฟนประจำก็น่าจะคุ้นเคยกันดีทั้งสไตล์คนเขียนและสำนวนคนแปล

ที่ว่าน่าจะคุ้นเคยสไตล์ของคนเขียนก็คือ อยู่ดี ๆ ตัวเอกของเรื่องมักจะมีเหตุการณ์อะไรซักอย่างหรือสองอย่างมาทำให้เสียศูนย์ โดยที่มักจะเป็นการเสียชีวิตของคนใกล้ตัว หรือบางทีเป็นเรื่องของคนใกล้ตัวที่เสียชีวิตไปสักพักแล้วแต่กลับมีอะไรมาทำให้เกิดสงสัยทำนองว่า เอ๊ะ หรือยังไม่ตาย (วะ)

จากนั้นก็เป็นช่วงตามสืบ ตามไขปริศนา ซึ่งสุดท้ายจะพาไปหาต้นเรื่องที่เป็นฆาตกรหรือจอมบงการ ที่มักจะมีปมอยู่กับเหตุการณ์อะไรซักอย่างในอดีต และที่เป็นทีเด็ดของเรื่องแนวนี้คือ ฆาตกรที่ว่าต้องเซอร์ไพรส์ คาดไม่ถึง เฉลยออกมาแล้วคนอ่านต้องร้อง ว้าว!!

ทีนี้ความยากของคนเขียนก็คือเมื่อคนอ่านรู้อยู่เต็มอกว่า มึงต้องเซอร์ไพรส์กูแน่ ๆ ก็พยายามดักทางเดาตัวฆาตกร ส่วนคนเขียนก็ต้องพยายามวางพล็อตวางปมยังไงก็ได้ให้คนอ่านเดาไม่ได้ เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกันอยู่อย่างนี้จนกว่าจะเบื่อกันไปข้างนึง

เล่มนี้ก็เหมือนกันนะฮะ

ตัวเอกของเรื่องเป็นหญิงสาว อดีตนักบินเฮลิคอปเตอร์โจมตีของกองทัพสหรัฐฯ ประสบเหตุโดนปล้นในสวนสาธารณะขณะที่อยู่กับสามีและสามีโดนยิงตาย โดยที่ก่อนหน้านี้พี่สาวก็เพิ่งโดนฆ่าในช่วงที่เธอประจำการอยู่ที่ตะวันออกกลาง

ฟังแค่นี้ก็เศร้าแทนแล้ว แต่ยัง ยังไม่พอ พี่ Coben ยังซ้ำเข้าไปอีกเมื่อจู่ ๆ สามีที่เธอเพิ่งไปงานศพมาไม่นานกลับมาโผล่ให้เห็นในกล้องวงจรปิดว่ามาเล่นกับลูกสาวตัวน้อยอยู่ในบ้าน แถมตำรวจยังมาบอกอีกว่า ผลการตรวจสอบกระสุนพบว่า ปืนที่ใช้ฆ่าสามีเธอเป็นกระบอกเดียวกับที่ฆ่าพี่สาวเธอ

ตัวเอกของเรื่องก็เลยต้องตามสืบให้รู้ว่าใครกันที่เป็นฆาตกร ซึ่งแน่นอนว่า ระหว่างนี้คนอ่านก็จะโดนถล่มด้วยข้อมูลที่ท่วมท้น ถูกดึงไปทางโน้นที ทางนี้ที ไปเจอเรื่องในอดีตของคนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง แถมด้วยความสงสัยว่า ตกลงสามีมันตายรึยัง? พร้อมกับเดาตัวฆาตกรไปเรื่อย ๆ ว่า ไอ้นี่แน่ อีกสักพักก็ เอ๊ะ หรือไอ้นี่ อีกเดี๋ยวก็ หรือจะเป็นคนนี้ (วะ)

จนกระทั่งเฉลย แล้วเราก็ร้องว่า เหยดดดดดดดดดดด กูนึกไม่ถึง

มิน่า ถึงได้มีข้อความขึ้นบนปกว่า คุณไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนลงมือ

ถ้าเป็นแฟนของ Coben ก็อ่านเถอะครับ แต่ถ้าใครยังไม่เคยอ่านงานของ Coben ก็อยากให้ลองอ่านดู เผื่อจะชอบนะฮะ

ขอให้มีความสุขกับการอ่านครับ ❤

อย่าหลอกกัน (Fool Me Once)
ผู้เขียน : Harlan Coben
ผู้แปล : มณฑารัตน์ ทรงเผ่า
สำนักพิมพ์ : แพรวสำนักพิมพ์
ราคา : ๒๘๕ บาท

fool me once

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไปแล้วบ้าง

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๙ : Flash Boys
หนังสือเล่มที่สองของปี ๒๕๕๙ : facebook โลกอันซ้อนกันอยู่
หนังสือเล่มที่สามของปี ๒๕๕๙ : The Blind Side

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/

หนังสือแนะนำสำหรับคน (เริ่ม) เล่นหุ้น ตอนที่ ๒

กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ

ตอนที่แล้วแนะนำหนังสือจากผู้เขียนที่เป็นอดีตผู้จัดการกองทุนต่างชาติไปแล้ว (อ่านได้ที่นี่ครับ หนังสือแนะนำสำหรับคน (เริ่ม) เล่นหุ้น) คราวนี้จะแนะนำหนังสือของผู้เขียนชาวไทยกันบ้าง เล่มนี้ชื่อว่า กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำ เขียนโดย เทพ รุ่งธนาภิรมย์

หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกออกมาในเดือนมีนาคม ๒๕๔๖ ด้วยยอดพิมพ์ ๑๐,๐๐๐ เล่ม ประสบความสำเร็จขายดีจนต้องพิมพ์ครั้งที่สองตามมาในเดือนสิงหาคมปีเดียวกันอีก ๑๐,๐๐๐ เล่ม ที่ขายดีขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ และถ้าใครได้ลองหยิบมาพลิกอ่านก็จะเข้าใจได้ว่า ทำไมถึงขายดี

คุณเทพเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร Corporate Thailand ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๔๗ (ภาพปกตามรูปด้านล่าง)  ว่า แนวทางการลงทุนของเขาจะเน้นไปที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลในแต่ละปี โดยอย่างน้อยควรจะได้ในอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (เพราะถ้าได้น้อยกว่าจะไปเสี่ยงทำไม ฝากเงินเอาก็ได้ ใช่มั้ย?)

ที่เป็นอย่างนี้เพราะเดิมคุณเทพก็เป็นนักลงทุนขาลุยสไตล์รายย่อย (แปลว่า แมงเม่า) ทั่วไปนั่นแหละ แต่หลังจากที่รับประทาน “ต้มยำกุ้ง” หม้อใหญ่เข้าไปในช่วงปี ๒๕๔๐ ทำให้ต้องตัดใจขายขาดทุนไปก้อนโต แกเล่าว่ายังโชคดีที่มีเงินเหลืออยู่บ้าง ก็เลยปรับตัวปรับใจ เอาใหม่ ต้องหาความรู้มากขึ้น

นิตยสาร Corporate Thailand ฉบับสิงหาคม ๒๕๔๗

ประกอบกับคุณเทพตั้งใจว่า หากเกษียณจากการทำงานก็หวังรายได้จากเงินปันผลที่จะเอามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่ต้องไปควักเนื้อเงินก้อนเงินเก็บที่มีอยู่ นี่ก็เลยเป็นเหตุผลว่า ทำไมแกถึงลงทุนโดยตั้งเป้าไปที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลในแต่ละปี

ในการหาความรู้ของคุณเทพ แกอ่านหนังสือหลายเล่มด้วยกัน และสองเล่มในนั้นคือหนังสือที่เขียนโดยคุณพี่ Peter Lynch คือ One Up On Wall Street (ที่เขียนแนะนำไปครั้งที่แล้ว อ่านได้ที่นี่) และ Beating the Street ซึ่งเป็นเล่มที่แอดวานซ์ขึ้นมาอีกหน่อย เล่มนี้รอเวลาเหมาะ ๆ จะมาแนะนำกันอีกที ใครที่อดใจไม่ไหวจะอ่านก่อนเลยก็ยิ่งดีนะฮะ (บอกแล้วว่า พี่ Lynch แกของแท้ ไม่มีโม้ ไม่ได้เขียนหนังสือเพื่อสร้างโพรไฟล์มาขายคอร์สฝึกอบรม)

หลังจากที่แกเอาวิชาความรู้ที่ได้มาไปปรับใช้เป็นแนวทางตัวเองและพิสูจน์มาแล้วว่า เออ เฮ้ย ทำได้จริงเว้ย เงินปันผลก็ได้ ราคาหุ้นก็ไม่ขาดทุน แกก็สกัดเป็นเคล็ดวิชามาเขียนเป็นหนังสือเล่มนี้นี่แหละ

จุดเด่นที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ ใช้ภาษาที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย อันนี้สำคัญ บางเล่มอ่านง่ายก็จริง แต่โคตรเข้าใจยากนะ แล้วก็เน้นตามหลักการลงทุนด้านปัจจัยพื้นฐาน ไล่เรียงเรื่องที่สำคัญไปทีละหัวข้อ โดยที่บทท้าย ๆ มีตัวอย่างการพิจารณาจริง หุ้นจริง ตัวเลขกำไรและปันผลจริง (แต่เปลี่ยนชื่อหุ้นซะนิดนึง เพื่อไม่ให้เข้าข่ายชี้นำ) เพื่อให้คนอ่านเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายขึ้น

สรุปสั้น ๆ ว่า ใครที่อยากเล่นหุ้น ใครที่เล่นหุ้นแล้วขาดทุน หรือกำไรมั่งขาดทุนมั่งแล้วแต่ดวง หาหนังสือสองเล่มที่แนะนำมาอ่านได้เลยเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรจากการเล่นหุ้นอย่างยั่งยืนนะฮะ ขนาดนั้น

และถ้าอ่านเล่มนี้จบแล้วชอบใจ อยากอ่านเล่มสองที่แอดวานซ์ขึ้น ขอเชิญเล่มนี้ครับ วิถีแห่งเซียน หุ้นห่านทองคำ จากผู้เขียนคนเดียวกัน

ขอให้โชคดีครับ ❤

กลยุทธ์หุ้นห่านทองคำติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/ ครับ

อ่านเล่มไหนดี?

What should I read next?ปกติแล้วหลังจากอ่านหนังสือจบ พอจะหยิบเล่มใหม่มาอ่านถ้าไม่ใช่เล่มต่อจากเล่มก่อนหน้าผมจะเกิดอาการ “เลือกไม่ถูก” ไม่รู้จะหยิบเล่มไหนมาอ่านดี

อาการที่เป็นก็คือ จะหยิบเล่มที่คิดว่าน่าสนใจมาพลิก ๆ ดู แล้ววาง แล้วหยิบเล่มอื่นมาพลิกดู แล้ววาง เป็นอย่างนี้วนลูปไปซักพัก จนตัดสินใจได้ว่า เอาเล่มนี้ล่ะวะ ก็จะหยิบมานั่งอ่านเป็นเรื่องเป็นราว แต่ในช่วงที่เริ่มอ่านถ้าหากสะดุด หรือเกิดอาการ เอ๊ะ ขึ้นมา ก็อาจกลับไปวนลูปที่ว่ามาได้อีก จนกว่าจะได้เล่มที่จะอ่านจริง ๆ ก็จะอ่านไปจนจบ

อาการที่เป็นแบบนี้ทำให้เสียเวลาไปไม่น้อยเหมือนกัน เอาที่เห็นชัด ๆ ก็อย่างตอนนี้ที่อ่าน The Blind Side จบไปได้สักพักแล้ว (อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ) ยังเลือกไม่ได้เลยว่าจะอ่านอะไรต่อ

กองหนังสือที่เห็นในภาพเป็นเล่มที่เลือกมาเป็นเบื้องต้นแล้วแต่ยังรอตัดสินใจขั้นสุดท้ายอีกทีว่าจะเป็นเล่มไหน เกณฑ์อย่างนึงตอนนี้ก็คือตั้งใจว่าจะอ่านเล่มเก่า ๆ ก่อนนะฮะ

อาการนี้มีใครเป็นบ้างมั้ยครับ แล้วแก้ยังไงกัน เล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ…

รีวิวหนังสือ : The Blind Side – เรื่องราวของชนชั้นที่เล่าผ่านโลกกีฬา

The Blind Side by Michael Lewis

หลังจากจบหนังสือเล่มล่าสุดของพี่ชาติ กอบจิตติ ไป (อ่านได้ที่นี่ครับ) ผมหยิบเล่มนี้มาอ่าน The Blind Side ของคุณพี่ Michael Lewis คนเดียวกับที่เขียน Flash Boys แต่เล่มนี้ออกมาก่อนหลายปีแล้ว เปิดดูที่จดไว้ถึงเห็นว่าซื้อมาตั้งแต่ปี ๕๒ นี่ปาเข้าไปปี ๕๙ แล้ว เพราะฉะนั้นอย่าแปลกใจที่เห็นข้อความบนปกว่า กำลังจะเอาไปสร้างเป็นหนัง เล่มนี้ซื้อมาตั้งแต่ก่อนสร้างหนังอีกนะฮะ

ต้องบอกก่อนว่าผมยังไม่ได้ดูหนังที่สร้างจากเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่รู้ว่าทีมงานมีการดัดแปลงบทไปจากเนื้อเรื่องแค่ไหน มีเก็บรายละเอียดประเด็นย่อยไปด้วยมั้ย ในที่นี้ก็เลยจะพูดถึงตัวหนังสืออย่างเดียวนะฮะ

พี่ Lewis เป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้น่าสนใจมากในทุกเล่มที่แกเขียน วันก่อนฟัง podcast สัมภาษณ์ Malcolm Gladwell (ซึ่งเป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องเก่งมากอีกคนนึง พี่แกสามารถเอาเรื่องยากมาย่อยให้เข้าใจได้ง่าย ๆ โคตรเทพอ่ะ) คนสัมภาษณ์ถามว่า ในความเห็นของ Gladwell ใครเป็นนักเขียนที่เล่าเรื่องได้ดี แกตอบทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยว่า Michael Lewis แกบอกว่าอยากเล่าให้ได้แบบพี่ Lewis เลยนะฮะ นี่ขนาดมือระดับ Gladwell นะ

เล่มนี้ Lewis เล่าเรื่องเด็กวัยรุ่นผิวดำยากจนคนนึงที่บังเอิญสรีระเอื้อต่อการเล่นอเมริกันฟุตบอลในตำแหน่ง Left Tackle ซึ่งเป็นตำแหน่งที่คอยระวังป้องกันด้านซ้ายของควอเตอร์แบ็ค (ผู้เปรียบเสมือนแม่ทัพในเกมรุก) และด้วยความที่ควอเตอร์แบ็คส่วนมากจะถนัดขวา เวลาเล่นก็มักจะมองไปทางด้านขวา ทำให้ด้านซ้ายเป็นมุมบอด หรือ blind side อันเป็นที่มาของชื่อหนังสือนี่เอง

ทีนี้ลำพังถ้าอยู่ของมันเองเด็กคนนี้ก็คงไปไม่ถึงไหน แต่บังเอิญมีครอบครัวอเมริกันผิวขาว ฐานะดี มีสถานภาพทางสังคมรับมาเลี้ยง ให้ที่อยู่ มีข้าวให้กิน หาเสื้อผ้าให้ใส่ ดูแลเรื่องการเรียนด้วย ทำให้ชีวิตของเด็กที่ดูแล้วไม่น่าจะไปไหนได้ไกล เพราะขนาดโตแล้วยังอ่านไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ กลับมีอนาคตขึ้นมา

ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ไม่ได้อยู่แค่เรื่องราวของเด็กหนุ่มคนนี้เท่านั้น แต่เฮีย Lewis ยังอธิบายให้เห็นถึงวิวัฒนาการของเกมบุกและเกมรับของอเมริกันฟุตบอล รวมไปถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์บางข้อของ NFL (หน่วยงานกำกับดูแลและจัดการแข่งขันอเมริกันฟุตบอล เทียบได้กับ FIFA ในกีฬาฟุตบอลนะฮะ) เพื่อให้คนอ่านเข้าใจได้ว่า ทำไมควอเตอร์แบ็คถึงมีความสำคัญมากขึ้นในเกมบุกของอเมริกันฟุตบอล และทำไมผู้เล่นในตำแหน่ง left tackle ถึงสำคัญ (และมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างมาก) ซึ่งโยงต่อมาถึงว่า ทำไมไอ้เด็กวัยรุ่นคนนี้มันถึงเป็นที่ต้องการจากมหาวิทยาลัยทั่วทั้งสหรัฐฯ

เอาแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็สนุกแล้ว แต่ Lewis ยังแฝงประเด็นรอง (หรือจริง ๆ เป็นประเด็นหลักวะ?) คือเรื่องของชนชั้นเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของ ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ระหว่างที่อ่านเรื่องราวของวัยรุ่นผิวดำคนนี้เฮีย Lewis ก็จะแทรกเรื่องของเด็กคนอื่นให้เห็นว่า ถึงจะมีศักยภาพทางกีฬาแค่ไหน โดดเด่นแค่ไหน แต่การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี รวมถึงไม่ได้รับการสนับสนุน ผลักดัน หรือไม่มีคนเปิดประตูโอกาสให้ ก็ยากที่จะก้าวไปถึงฝั่งฝันได้

อ่านไปอ่านมาเล่มนี้กลายเป็นเรื่องของประเด็นใหญ่ทางสังคมที่น่าสนใจมาก ๆ โดยที่ใช้เรื่องของวัยรุ่นผิวดำเป็นตัวเล่าเรื่อง

โดยส่วนตัวผมอ่านเล่มนี้แล้วชอบมาก ประการแรก เรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการของอเมริกันฟุตบอลที่นำมาเล่าในเล่มนี้เป็นช่วงคาบเกี่ยวกับตอนที่ผมดูกีฬานี้อยู่พอดี เวลาที่ Lewis พูดถึงโค้ชคนนั้น นักกีฬาคนนี้ ผมนึกภาพตามได้ไม่ยาก แถมที่สำคัญยังช่วยไขให้เข้าใจได้ว่า ทำไม Joe Montana ถึงเป็นควอเตอร์แบ็คที่ประสบความสำเร็จ ทำไม Steve Young ที่มาแทน Montana ก็ประสบความสำเร็จ ทั้งที่สองคนนี้ไม่ได้มีพลังแขนโดดเด่นเท่ากับควอเตอร์แบ็คคนอื่นในยุคเดียวกันเลย รวมไปถึงได้เข้าใจว่า West Coast offense ที่เห็นบ่อย ๆ เวลาอ่านบทความหรือตอนผู้บรรยายพูดถึงเนี่ย มันคืออะไร (สำหรับคนที่สนใจ เรื่องนี้อยู่ที่หน้า ๑๑๗ นะฮะ)

ประการที่สอง เรื่องราวเด็กวัยรุ่นที่เป็นตัวเอกของเรื่องนี้น่าสนใจมากว่า จะไปได้ถึงไหน เพราะ Lewis เขียนชวนให้เราติดตาม (และลุ้น) ไปตลอดว่า อุปสรรคและปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (ซึ่งมีเยอะด้วย) จะหยุดชีวิตของเด็กคนนี้เอาไว้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่

ประการที่สาม ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในสังคมและโอกาสที่ได้รับ ซึ่งส่งผลต่อชีวิตของคนแต่ละคน เรื่องนี้ไม่ต้องดูที่ไหนไกล ในประเทศไทยนี่ก็มี ข่าวคราวคนรวยทำผิดกฎหมายแต่ไม่ผิด ไม่ได้รับโทษมีอยู่บ่อยมาก ข่าวเด็กเรียนดีสอบเข้ามหาวิทยาลัยคณะดี ๆ ได้ แต่ไม่มีเงินเรียน เรื่องราวแบบนี้มีให้เห็นทุกปี และก็คงมีต่อไปอีกหลายปี

สิ่งที่ยากที่สุดในการอ่านหนังสือเล่มนี้สำหรับผมก็คือ การหักห้ามใจที่จะไม่เสิร์ชอินเทอร์เน็ตดูว่าชีวิตเด็กคนนี้ตอนนี้เป็นยังไง เพราะถ้าเสิร์ชดูนี่เท่ากับว่ารู้ตอนจบเลย เหมือนอ่านนิยายฆาตกรรมสืบสวนสอบสวนแต่ดันรู้ก่อนซะแล้วว่าใครเป็นคนฆ่า ความสนุกของการลุ้นระหว่างที่อ่านหมดกันพอดี ถ้าใครจะอ่านเล่มนี้ผมแนะนำไว้ก่อนเลยว่า อย่าเสิร์ชดูเด็ดขาด

สำหรับคนที่กลัวว่าไม่ได้ดูอเมริกันฟุตบอล ไม่รู้จักอเมริกันฟุตบอลแล้วจะอ่านไม่สนุก ไม่ต้องกลัวครับ อ่านแค่พอให้เข้าใจภาพรวมก็ยังสนุกได้ครับ

ขอให้มีความสุขกับการอ่านครับ ❤

 

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไปแล้วบ้าง

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๙ : Flash Boys
หนังสือเล่มที่สองของปี ๒๕๕๙ : facebook โลกอันซ้อนกันอยู่

ติดตาม What We Read Blog อีกหนึ่งช่องทางได้ที่ https://www.facebook.com/whatwereadblog/

What We Read: เดียร์

Dear

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : เดียร์ (twitter: @ailadear)

อาชีพ : International Marketing officer

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ที่บ้านฝึกให้อ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ มันก็เลยกลายเป็นนิสัยติดตัวมาตลอด เวลาเข้าร้านหนังสือจะอยู่ได้เป็นชั่วโมง มีความสุขกับการหยิบเล่มนั้นเล่มนี้มาดู เรื่องการจัดสรรเวลาในการอ่าน ถ้าเป็นเมื่อก่อนตอนทำงานอยู่กรุงเทพฯ จะใช้เวลาช่วงระหว่างไป-กลับจากบ้าน-ที่ทำงานในการอ่านหนังสืออยู่บ่อยๆ เพราะต้องนั่งรถไฟใต้ดินหลายสถานี พอออกมาจากเมืองหลวง ช่วงเวลาแบบนั้นก็หายไปแล้ว เดี๋ยวนี้ก็จะพยายามอ่านหนังสือเท่าที่จะทำได้ ไปร้านกาแฟก็หยิบหนังสือพิมพ์ นิตยสารที่เค้าวางๆ ไว้มาอ่าน ก่อนนอนก็หยิบหนังสือมาอ่าน คือพยายามให้มันแทรกซึมเป็นกิจกรรมประจำวันของเราไป เดี๋ยวนี้มีนิสัยใหม่เพิ่มมาอีกอย่างคือ หยิบหนังสือธรรมะ หนังสือสวดมนต์มาอ่านด้วย

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
เคยมีคนรู้จักคนนึงเค้าบอกว่าทำไมเราต้องอ่านหนังสือให้จบทีละเล่ม อ่านสองเล่มพร้อมๆ กันไม่ได้เหรอ เราก็เออ จริงด้วย เดี๋ยวนี้เราเลยอ่านหนังสือสองเล่มไปพร้อมๆ กัน คนอื่นว่าไงไม่รู้นะ แต่เราว่ามันก็สนุกดี คล้ายๆ สลับโหมดไปมา

เล่มนึงที่อ่านอยู่ตอนนี้ก็ Message in a Bottle ของ Nicholas Sparks เนื้อเรื่องก็ฟรุ้งฟริ้งมาก

น่าจะรู้กันอยู่แล้ว หญิงสาววิ่งริมหาดแล้วบังเอิญไปเจอจดหมายรักในขวดแก้วที่ชายหนุ่มเขียนถึงภรรยาที่จากไป นางก็ตกหลุมรักชายหนุ่มคนนั้นเข้าซะอย่างนั้น คือจริงๆ เคยอ่านแล้ว แต่วันก่อนไปรื้อเจอ ก็เลยหยิบมาอ่านใหม่ อยากรู้ว่ามาอ่านอีกทีตอนอายุเท่านี้จะอินมั้ย คือเราเชื่อว่าการอ่านหนังสือแต่ละเล่มในช่วงอายุที่ต่างกันมันให้ความรู้สึกทางจิตใจต่างกันนะ

Message in a Bottle

กับอีกเล่ม Like a Virgin เล่มนี้อยากอ่านเพราะชอบ Sir Richard Branson เค้าเป็นคนที่เจ๋ง กล้าได้กล้าเสีย เนื้อหาในหนังสือส่วนใหญ่ก็เป็นการหยิบเอาประสบการณ์ทำธุรกิจของตัวเองมาเล่า ทั้งเรื่องวิสัยทัศน์การทำงาน หลักการบริหาร การเป็นนักคิด การมีความเป็นนักคิดเป็นต้นทุนในชีวิตนี่มันก็ได้เปรียบไปแล้วระดับนึง คือคิดอย่างเดียวไม่พอต้องทำด้วย

Like A Virgin

เวลาอ่านหนังสือแบบนี้แล้วรู้สึกฮึกเหิม มันทำให้เราไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาตัวเอง พออ่านแล้วรู้สึกว่าถ้าเราได้ทำงานกับคนเก่งๆ นี่ชีวิตมันดีนะ คืออ่านแล้วก็อยากสมัครงานกับบริษัทนี้เลย

หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร
A day : Human Ride ฉบับ Portland

Human Ride : Portland

คือถ้าคนที่เป็นแฟน Human Ride ก็คงรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นนิตยสารสำหรับคนรักจักรยาน เราไม่ได้อินกับกิจกรรมนี้เท่าไหร่หรอก แต่เราได้ยินถึง Portland มาซักพักแล้วว่ามันเวรี่ Hipster แถมยังเป็นสวรรค์ของคนปั่นจักรยานอีก เกิดอยากรู้จัก เลยสอยมาอ่าน

เออ เวรี่สนุก I love Portland.

(จะบอกว่า ผมเองไปเห็นทวีตของเดียร์ว่า เล่มนี้โอเค สนุกดี ก็เลยไปซื้อมาอ่านบ้าง สรุปได้ว่า การอ่านเป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งนะครับ – Buak Bangbuathong)

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร
หันไปมองชั้นวางหนังสือแล้วก็ อืม น่าจะเป็น The Kite Runner

The Kite Runner

คือซื้อมานานมาก จากร้านหนังสือมือสองที่ไหนซักแห่ง เคยอ่านไปได้ซักสองสามบท แล้วก็หยุดอ่านไป เนื้อเรื่องมันหนัก เกี่ยวกับเด็กผู้ชายสองคนเป็นเพื่อนกัน มีสงครามเป็นฉากหลัง มันไม่ได้อ่านเอาเพลินไง เลยรู้สึกว่าต้องใช้พลังในการอ่าน แต่ก็คิดว่าจะหยิบมาอ่านใหม่ให้จบให้ได้!

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
เราขอเสนอ Eat Pray Love ตอนนั้นซื้อมาเพราะได้ยินว่าจะเป็นหนัง ไอ้เราก็อยากอ่านหนังสือก่อนจะดูหนัง ก็สั่งซื้อจากร้านหนังสือมือสองออนไลน์ กะว่าอ่านขำๆ อ่านไป มันใช่เลย ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกคนเขียนจะเล่าจากชีวิตจริงของเค้าด้วย

จริงๆ คนเราควรค้นพบตัวเองให้ได้ก่อน ควรจะใช้ชีวิตกับตัวเอง รู้จักตัวเองให้มากที่สุด ก่อนที่จะไปเติมเต็มชีวิตใคร คือไม่งั้นจะกลายเป็นรู้ไปหมดเลยเรื่องคนอื่น แต่กลับไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร การได้ทำอะไรคนเดียว ออกเดินทางคนเดียว มันสอนให้เราเผชิญหน้าและรับมือกับสิ่งเหล่านั้นโดยลำพัง แต่มันทำให้เราเปลี่ยนไปในทางที่ดี ชีวิตจะได้ไม่ต้องมัวแต่กลัว ยิ่งได้ไปเจอเพื่อนใหม่ๆ ซึมซับวัฒนธรรมใหม่ๆ มันเปิดโลกเราไปเลย

ตอนอ่านเล่มนี้เป็นจังหวะที่ไปได้ไปใช้ชีวิตอยู่ออสเตรเลีย เลยรู้สึกว่าเรื่องราวในหนังสือกับสิ่งที่เราเจอ ณ ขณะนั้นมัน connect กัน คนอื่นอ่านแล้วอาจจะไม่อินก็ได้ แต่เราคิดว่ามันก็เป็นหนังสือที่อยากแนะนำให้อ่านนะ

What We Read: อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

โอม

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ

อาชีพ : นักเขียน, แฟนพันธุ์แท้วรรณกรรมซีไรต์ ปี ๒๕๕๕

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ผมจะต้องอ่านหนังสือทุกวัน โดยแบ่งเวลาในการอ่านหนังสือเป็นสองอย่าง คือ จะอ่านหนังสือเกี่ยวการเรียนและการทำงานในตอนกลางวันที่ว่างจากกิจธุระต่างๆ และจะอ่านหนังสืออ่านเล่นอื่นๆ ที่สนใจในตอนก่อนนอนทุกคืน

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
กำลังอ่าน พม่ารำลึก ของ จอร์จ ออร์เวลล์ เป็นหนังสือที่ผมอยากอ่านมานาน และเคยพยายามอ่านภาษาอังกฤษ แต่ยังอ่านได้ไม่เท่าไหร่ ล่าสุดเพิ่งมีแปลเป็นภาษาไทย และผมเพิ่งซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือ ซื้อมาก็อ่านเลยทันที เนื้อหาเกี่ยวกับพม่าในช่วงที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ผู้เขียนเล่าเรื่องจากประสบการณ์ที่เขาเคยเป็นตำรวจในพม่ายุคสมัยนั้น

พม่ารำลึก

หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
เพิ่งอ่านหนังสือ อ่านแล้ว อ่านเล่า ของ ศรีดาวเรือง จบไป เป็นหนังสือที่รวมบทความเล่าเรื่องเกี่ยวกับหนังสือเก่าและหนังสือหายากหลายเล่ม หลากหลายเรื่องราว ทั้งเกี่ยวกับชีวประวัติ ความทรงจำของบุคคล รวมถึงหนังสือวรรณกรรม ผมเคยอ่านมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นบทความในวารสาร เมื่อมารวมเป็นเล่มแล้วอ่านใหม่ ก็ยังรู้สึกว่าอ่านสนุกและได้ความรู้เป็นอย่างยิ่ง

อ่านแล้วอ่านเล่า

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
 การสอบความของสุนัขตนหนึ่ง เขียนโดย ฟรันซ์ คาฟคา ที่อยากอ่านเพราะผมชอบผู้เขียน คือ คาฟคา ที่สำคัญไปกว่านั้น นี่คือ หนังสือรวมงานเขียนที่ตีพิมพ์หลังคาฟคาตาย เป็นงานที่คาฟคาบอกให้เพื่อนเอาไปเผาทิ้ง แต่เพื่อนไม่ยอมเผา และเอามาตีพิมพ์ ถ้าเพื่อนของคาฟคา เชื่อตามที่คาฟคาสั่ง เราคงไม่มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้

การสอบความของสุนัขตนหนึ่ง

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
มีหนังสือนวนิยายจีนอยู่เล่มหนึ่งซึ่งผมชอบมากๆ และมักจะแนะนำให้ทุกคนอ่าน นั่นคือเรื่อง พี่กับน้อง ของ หยูหัว เป็นนวนิยายที่ผมรู้สึกว่าอ่านแล้วครบเครื่อง สนุก ทะลึ่ง และเศร้าสลด รวมถึงยังมองเห็นภาพสะท้อนของสังคมจีนได้อย่างน่าสนใจ เรียกได้ว่า เป็นนวนิยายในดวงใจของผมเลยทีเดียว ดังนั้น ผมคิดว่า ผมควรแนะนำหนังสือในดวงใจของผมให้กับคนอื่นได้อ่านด้วยเช่นกัน

พี่กับน้อง

นิตยสาร Offscreen ฉบับที่ ๖

offscreen 6

ตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ว่าปีนี้จะอ่าน “หนังสือ” ตามที่ได้เขียนเอาไว้ในโพสต์นี้ ล่าสุดผมปิดจบหนังสือเล่มที่สามของปีไปเป็นที่เรียบร้อย เล่มนี้จริงๆ เป็นนิตยสารนะครับ ก็คือ Offscreen เล่ม ๖

ผมได้เคยเขียนเล่าถึงนิตยสาร Offscreen เอาไว้แล้วที่โพสต์นี้ (หากใครอยากรู้รายละเอียดลองคลิกไปอ่านดูก่อนได้ แต่เล่าคร่าวๆ ก็คือ  เป็นนิตยสารเกี่ยวกับคนในแวดวงเว็บดีไซน์และ app developer นะครับ) สำหรับเล่มนี้รายละเอียดด้านในมีบทสัมภาษณ์ให้อ่านกันจุใจ ตั้งแต่ผู้ก่อตั้ง VSCO แอพแต่งภาพยอดนิยม มีผู้ก่อตั้งร่วมของ The Verge บลอกไอทีชื่อดัง (แต่ตอนนี้ย้ายค่ายไปอยู่ที่ Bloomberg เป็นที่เรียบร้อยแล้ว) ยังมีผู้บริหารหญิงของ Tumblr ที่เป็นคนดูงานตลาดต่างประเทศ โดยที่ต้องเดินทางไปมาระหว่างเบอร์ลินและนิวยอร์กอยู่เป็นประจำ ฯลฯ

ส่วนคอลัมน์เล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยลดความหนักของเนื้อหาในเล่ม และยังช่วยผ่อนคลายสายตาด้วยภาพสวยๆ ก็ยังมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาพบรรยากาศออฟฟิศบริษัทไอทีชื่อดังหลายแห่ง ภาพโต๊ะทำงานของคนในแวดวงนี้ (ซึ่งเท่าที่เห็นส่วนมากจะไม่ขาดแก้วกาแฟเลยนะ)

บอกได้ว่า ถ้าสนใจเรื่องราวพวกนี้จะรู้สึกจุใจมาก อ่านแล้วที่เสียดายมีอยู่อย่างเดียวคือ ยังไม่มีวางในร้านหนังสือเมืองไทย ต้องสั่งเข้ามาจากเว็บของ Offscreen โดยตรง ถ้ามีร้านไหนเอามาวางขายจะขอบคุณมากครับ

What We Read: กนกวรรณ บัวงาม

Kanokwan

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : กนกวรรณ บัวงาม

อาชีพ : บรรณารักษ์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ปกติไม่ได้จัดสรรเวลาการอ่านหนังสือเท่าไหร่ ถ้าช่วงไหนว่าง อยู่บ้านไม่ได้มีกิจกรรมก็จะหยิบหนังสือเล่มเก่าๆ ที่เคยชอบอ่านมาอ่านใหม่ แล้วแต่ว่าช่วงนั้นอยู่ในอารมณ์ไหน ช่วงเหนื่อยๆ อยากหาเรื่องสนุกๆ อ่านก็หยิบวรรณกรรมเยาวชนมาอ่าน ที่ชอบหยิบมาอ่านมากบ่อยมาก คือ เรื่อง นิกกับพิม กับ เรื่อง ปุลากง ชอบมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ เพราะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสมัยเรียนมัธยม อย่าง นิกกับพิม ที่ชอบเพราะเป็นเรื่องที่ใช้ตัวละครเอกเป็นสุนัขเล่าเรื่องแทนที่จะเป็นพระเอก นางเอกเหมือนเรื่องอื่นๆ หรือ อย่างปุลากง ก็ยังคิดถึงภาพคุณเข้มอยู่เสมอ และชื่นชมคนที่ทำงานในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะครูในโรงเรียนที่ต้องเสียสละตัวเองมากๆ

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
ตอนนี้กำลังอ่านหนังสือเรื่อง การเดินสู่อิสรภาพ ของ อ.ประมวล เพ็งจันทร์ เล่มนี้เคยอ่านจบไปรอบหนึ่งแล้วค่ะ แต่เอากลับมาอ่านซ้ำอีกรอบ เพราะช่วงนี้อยากหาแรงบันดาลใจให้ตัวเอง การเดินสู่อิสรภาพ เล่มนี้เป็นเรื่องราวการเดินทางจากจังหวัดเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย ของอาจารย์ประมวลเอง ด้วยวิธีการเดินด้วยเท้า ผ่านหมู่บ้าน ผ่านชุมชนต่างๆ ซึ่งอาจารย์มีความตั้งใจเพื่อค้นหาตัวเอง และมีการตั้งกฎของการเดินทางครั้งนี้ จะไม่ใช้เงินเลย ถ้าเป็นคนปกติธรรมดาคงไม่กล้าที่จะคิดหรือทำเรื่องแบบนี้ ซึ่งในแต่ละจังหวะของการเดินทางอาจารย์ประมวลจะเล่าถึงความรู้สึกและมุมมองจากสิ่งที่เห็น จากสิ่งที่ได้รับจากการเดินทาง ทั้งจากคน และสิ่งรอบๆ ตัว มันช่วยให้เรามองชีวิตและคนที่อยู่รอบๆ เราได้ลึกซึ้งมากขึ้น เป็นหนังสือที่ชอบมากๆ ค่ะ

walktofreedom

หนังสือที่อ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
หนังสือที่เพิ่งอ่านจบไป คือ เรื่อง The Notebook หรือ ปาฏิหาริย์บันทึกรัก ของ นิโคลัส สปาร์กส์ (Nicholas Sparks) เป็นเรื่องความรักของ โนอาห์ และ แอลลี ที่ซาบซึ้งมากๆ เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า ความรักมีพลังที่จะทำให้คนคนหนึ่งทำอะไรก็ได้เพื่อคนที่เขารัก โนอาห์ครองคู่กับแอลลี มานานจนสุดท้ายแอลลีป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ถึงขนาดจำอะไรไม่ได้เลย แต่โนอาห์ก็ยังดูแลแอลลีอยู่ไม่ห่าง และพยายามใช้สื่อคือ สมุดบันทึก เล่าเรื่องราวความรักในสมัยวัยรุ่นให้แอลลีฟังทุกๆ วันโดยไม่เบื่อ และมีความหวังอยู่เสมอว่าจะมีปาฏิหาริย์ให้แอลลีจำเขาได้ มันมีทั้งความโรแมนติกและชวนให้หดหู่ ถ้าเราต้องเจอกับเหตุการณ์อย่างนี้จะทำยังไง เราจะหาคนรักที่ทำได้เหมือนโนอาห์ไหม อันนี้แอบคิดไว้ในใจ

thenotebook

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
ตอนนี้ยังไม่มีหนังสือที่ตั้งใจจะอ่านจริงๆ จังค่ะ ช่วงนี้กำลังศึกษาเรื่องการทำขนม ก็ได้แต่เปิดดูหนังสือหาสูตรทำขนม แล้วค้นทางอินเทอร์เน็ตไปเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ซื้อหนังสือ a day เล่ม bread issue ตั้งแต่เดือนที่แล้ว กะว่าจะหาเวลาว่างอ่านสักที ช่วงนี้กำลังอยากหัดทำขนมเค้ก ขนมปัง จริงๆ จังๆ พอดีเห็นเล่มนี้แล้วสะดุดตา ได้เปิดผ่านแล้วมีเรื่องราวเกี่ยวกับขนมปังและขนมเค้กต่างๆ น่าสนใจดีค่ะ

adaybread

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
ถ้าคนไหนช่วงนี้รู้สึกท้อกับหลายๆ เรื่อง เบื่อสังคม เบื่องาน เบื่อคน อยากหาแรงบันดาลใจ อยากให้ลองอ่านหนังสือ การเดินสู่อิสรภาพ ของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ดูนะคะ เพราะหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ได้เห็นมุมมองที่ดีๆ ของคน หรือสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว บางเรื่องมันสะเทือนใจมากๆ เช่น การไม่มีที่นอน หรือการนอนกับหมาขี้เรื้อนในวัด มันสะเทือนใจจนต้องร้องไห้ แต่ที่ร้องไห้มันไม่เหมือนกับการอ่านนิยายที่เราอินไปกับเรื่องนั้นๆ ตามจินตนาการของนักเขียน แต่เป็นเรื่องเล่าและการเดินทางของอาจารย์ที่เกิดขึ้นจริงๆ และเป็นความรู้สึกจริงๆ ที่อาจารย์เล่าให้ฟัง อยากให้ลองหามาอ่านกันดูค่ะ

What We Read: นพพร พวงสมบัติ

Nopphorn

ซีรี่ย์ What We Read (ซึ่งเป็นไอเดียที่เป็นที่มาของบลอก What We Read นี้) ต้องการจะนำเสนอการอ่านของผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจและอาจทำให้นักอ่านได้รู้จักหนังสือที่น่าสนใจมากขึ้นครับ

ชื่อ-นามสกุล : นพพร พวงสมบัติ

อาชีพ : นักวิเคราะห์นโยบายและแผน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ก่อนจะเล่าเรื่องการอ่าน ขอขอดเกล็ดตัวเองนิดนึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนที่โดนคำถามเรื่องการอ่านนี่ก็นึกย้อนมาสงสัยตัวเองเหมือนกันว่า “เฮ้ย! ทำไมกูอ่านหนังสืออย่างนี้วะครับ” เลยนึกย้อนไปถึงสมัยเด็กๆ เพราะคิดว่าเรื่องราวสมัยนู้นมันคงมีส่วนทำให้เราเป็นอย่างทุกวันนี้นี่แหละ ที่บ้านเป็นครอบครัวข้าราชการระดับล่างๆ มีหนังสือในบ้านก็ไม่มากอะไร แต่ผมจะสนใจไปทำไมเพราะโลกของเด็กคือการออกไปวิ่งเล่นซนกับเพื่อนข้างนอก เล่นดีดลูกแก้ว โยนหุ่น ปีนต้นไม้ ฯลฯ อะไรกันไป หนังสือที่อยู่ในบ้านหากพอจะมีเวลาอ่านผ่านตาบ้าง ก็เป็นพวกหนังสือของพ่อกับแม่ที่ได้อภินันทนาการจากการทำงานหรือใช้ทำงาน ตำรับอาหารนานาชาติ ของแม่นี่เป็นเล่มนึงเลยที่นั่งอ่านมาตั้งแต่เด็ก เคยมีเอามาลองทำขนมกินกันเองด้วย…แต่ไม่สำเร็จเพราะเมนูอาหารนานาชาติไม่เหมาะกับอุปกรณ์ในครัวไทยสไตล์ Local เรื่องที่จำขึ้นใจเรื่องนึงคือ เมนูยำผ้าขี้ริ้ว ก็แบบสงสัยมากประสาเด็กๆ ว่า “เฮ้ย! ผ้าขี้ริ้วที่กูใช้ถูบ้านนี่เอามากินได้ด้วยเหรอวะเนี่ย เอาเหอะใครจะกินก็กิน…กูคนนึงล่ะที่จะไม่กิน” กว่าจะรู้ว่า “ผ้าขี้ริ้ว” ที่ว่าเป็นชิ้นส่วนเครื่องในของวัวก็โตจนนั่งกระดกเหล้ากับเพื่อนแล้วมีผ้าขี้ริ้วลวกจิ้มวางแนมอยู่ข้างวงเหล้าแล้ว อีกเล่มคือหนังสือสุขภาพอะไรซักอย่างที่จดจำเอาท่าโยคะมาฝึกเล่นส่วนตัว โดยเฉพาะท่าศพอาสนะที่เซียนมาก ทำแล้วหลับยาวเลย

ด้วยความที่ไม่ได้เป็นครอบครัวมีตังค์อะไรมาก หนังสือเลยดูเหมือนจะเป็นของใช้ฟุ่มเฟือยขึ้นมาทันที ซื้อหนังสือมาอ่านจึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีอยู่ในหัว แบบว่าถ้ามีตังค์กูซื้อของเล่นก่อน…ฮ่าฮ่าฮ่า นอกจากหนังสือเรียนที่ต้องอ่านสอบแล้ว หนังสือที่ต้องถือว่าเป็นการอ่านแบบนักอ่านในสมัยเด็ก ก็มีมาจากหนังสืออ่านนอกเวลาที่ครูบังคับให้อ่านนั่นแหละ กับหนังสือในห้องสมุดที่ต้องเอามาทำรายงานส่งครู และแม้ว่าโตมาจะชอบไปเดินเล่นที่ร้านหนังสือใหญ่ประจำจังหวัดอยู่บ่อยๆ แต่โซนที่ไปเดินดูกลับเป็นแผนกเครื่องเขียน ส่วนหนังสือเล่มที่ยอมควักกระตังซื้อมาลองอ่านบ้าง จำได้ว่าเป็นพ๊อคเกตบุ๊คชื่อดัง ต่วยตูน เพราะดูชื่อแล้วท่าทางจะมีเรื่องสนุกกับภาพการ์ตูนเยอะ…เออ! ดูมันสิครับ

โตมาจนเข้ามหาวิทยาลัยผมยังหลงระเริงกับการเฮฮาไปเรื่อยเปื่อย ไม่รู้จักโลกแห่งการอ่านอะไรเลย รู้จักชื่อนักเขียนบ้างก็เพราะเคยได้ยินหรืออ่านข่าวคราวในหนังสือพิมพ์-ดูทีวีเท่านั้น เรื่องจะตามอ่านน่ะเรอะ…ไม่มีซะหรอก ก็เชื่อมั้ยเล่าว่าวันที่ได้ย้ายเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อนรักชวนเดินเข้าร้านหนังสือดอกหญ้าท่าพระจันทร์ ผมก็ไม่รู้จะเลือกอ่านอะไร จนเพื่อนมันเลือกหนังสือชุดสามก๊กฉบับวณิพกไปได้ ๓-๔ เล่มแล้วก็จะกลับกันแล้ว สุดท้ายผีห่าก็ดลใจให้ผมหยิบ ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นไซส์พ๊อกเกตบุ๊กพื้นสีเทา มีภาพผู้หญิงผู้ชายตัวสีแดงยืนชี้ไปในท้องฟ้า ไอ้ที่หยิบขึ้นมาก็เพราะคิดว่ามันน่าจะเป็นหนังสือแนว Thriller สมกับชื่อ ปีศาจ เท่านั้นแหละ ไม่ได้คิดเป็นอื่นเล้ย หยิบมานอนอ่านเล่นที่คณะรุ่นพี่ยังแซวว่า “แหม! หัวก้าวหน้าเชียวนะมึง” ก็ไม่ได้ get (เชี่ย) อะไรเลยครับ บอกกลับแค่ว่า “เฮ้ย! พี่ผมอ่านมาเกือบจะครึ่งเล่มแล้วนี่ยังไม่เห็นมีปีศาจซักตัวเลยครับพี่” …ดูเอาเหอะว่าผมนี่แม่งหน่อมแหน้มเรื่องการอ่านขนาดไหน

วันที่ผลักให้ผมดูเหมือนจะเข้าสู่โลกการอ่านอย่างจริงจัง (หมายถึงอ่านในแบบของผม..ไม่ได้เทียบกับใคร) คือ หลังจากวันที่มหาวิทยาลัยสั่งทัณฑ์บนผมไว้จนกว่าจะจบการศึกษาตั้งแต่ปลายๆ ปีที่สอง ผลของการโดนทัณฑ์บนเลยทำให้ผมต้องออกไปจากเวทีกิจกรรมนักศึกษาที่ทำอยู่ (และใช้เวลามากกว่าในห้องเรียน) ผนวกกับวิชาที่เรียนก็ต้องอ่านหนังสือเยอะพอควร ก็เลยได้ฤกษ์เข้าไปฝังตัวในห้องสมุดตั้งแต่นั้น อ่านหนังสือเรียนเบื่อ ก็หาหนังสือนู่นนี่นั่นอ่าน อ่านเล่มนี้เลยเถิดต่อไปถึงเล่มนั้น เพื่อนนักอ่านเปรยๆ ว่าเล่มนั้นดีก็ลองไปหยิบมาอ่านมั่ง อ่านเองตีความเอง เข้าใจเอง อ่านไม่เข้าใจลองไปหาหนังสือวิจารณ์อ่านเพิ่มเติมบ้างว่าที่ว่าดีนั้นยังไง…เอ้อ! ถึงพอได้รู้เลาๆ ว่าโลกหนังสือและวรรณกรรมมันเป็นอย่างนี้เอง

อินโทรกันพอหอมปากหอมคอก็จะขอกลับมาตอบปัญหาดังนี้

คุณจัดสรรเวลาสำหรับการอ่านอย่างไร?
ไม่ได้จัดสรรจริงจัง แต่พยายามอ่านทุกครั้งที่ว่างจากการงานจิปาถะ ชดเชยการอ่านในวัยเด็กที่เอาเวลาไปบ้าพลังอยู่อย่างเดียว พอดีเป็นคนที่ถ้าได้อ่านแล้วมันสนุก ก็จะตะบี้ตะบันอ่านทุกครั้งที่มีเวลา เคยอ่านนิยายจีนจนกระทั่งเพื่อนบ้านเคยแซวว่า มึงสำเร็จวิทยายุทธ์ขั้นไหนแล้ว แต่ปกติคือจะพยายามอ่านหนังสือ ๑ – ๒ บทก่อนนอน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องพยายามสร้างวินัยฝ่ายดีให้กับตัวเองบ้าง อีกเรื่องที่รู้สึกคืออ่านก่อนนอนนี่เหมือนเป็นการชะลอตัวเองให้นิ่งลง เหมือนสวดมนต์อะไรอย่างนั้นข้อสุดท้ายคือพยายามทำเป็นตัวอย่างให้ไอ้ตัวเล็กในบ้านดูว่า “ก่อนนอนเอ็งไม่ต้องเล่นเกมได้มั้ยเนี่ยเฮ้ย”

ตอนนี้คุณกำลังอ่านหนังสือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
ด้วยความที่อ่านหนังสือเรื่อยเปื่อยไร้รูปแบบ และก็พยายามใฝ่ดีอยู่บ้าง..ว่างั้น เลยมีหนังสือที่กำลังอ่านกองไว้ในที่ต่างๆ ให้ใกล้มือ ๒ – ๓ เล่ม เล่มที่อ่านๆ อยู่ช่วงเวลาพักระหว่างวัน คือ เพลงของพอล —หนังสือรวมบทวิจารณ์เพลงของพอล เฮง จากหน้าหนังสือพิมพ์มติชน เป็นคอลัมน์ที่แนะนำเพลงในอัลบั้มของศิลปินต่างๆ

PaulSong

อีกเล่มนึงคือ ไอ้หนูซามูไรวิถีแห่งนักรบ —หนังสือเยาวชนที่เขียนโดยฝรั่งเล่าเรื่องซามูไร แปลโดยคนไทยนามปากกว่า “ธารพายุ” พอดีก่อนหน้านี้อ่านวรรณกรรมเยาวชนเล่มนึงชื่อ หอบช้างหนีสุดแผ่นดิน ที่แปลโดยผู้ใช้นามปากกาเดียวกัน ก็เลยค่อนข้างเชื่อมั่นในคุณภาพของหนังสือที่ผู้แปลเลือกมาและสำนวนการแปลที่อ่านสนุก

Samurai

อีกเล่มนึงที่อ่านเป็นยานอนหลับก่อนนอน คือ ไวโอลินของไอน์สไตน์ —เป็นบันทึกข้อเขียนทัศนะเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ สังคมและดนตรีของวาทยากรที่สนใจฟิสิกส์ ผู้เขียนชื่อโจเซฟ อีเกอร์ ตัวโปรยหนังสือที่เขียนความในใจของไอน์สไตน์ที่ว่า “หากไม่ได้เป็นนักฟิสิกส์ผมคงเป็นนักดนตรี” ผมว่าโจเซฟ อีเกอร์คงรำพึงในทางกลับกันว่า “ถ้าไม่ได้เป็นนักดนตรี ผมคงเป็นนักฟิสิกส์” เหมือนกัน ก็คงจะน่าสนุกดีสำหรับผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์ แต่คนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องฟิสิกส์และดนตรีก็ยังจะได้เห็นเรื่องราวบันทึกสังคมในมิติวิทยาศาสตร์และดนตรีได้เพลินอยู่บ้าง แล้วถ้าเผื่อสนใจสนุกกับทฤษฎีฟิสิกส์และประวัติศาสตร์ดนตรี เล่มนี้ก็น่าจะเป็นเชื้อปะทุที่พอใช้ได้เล่มนึง —ทั้งสามเล่มได้มาจากแผงหนังสือลดราคาในวาระต่างๆ แบบว่าอ่านอะไรก็ได้ข้อให้ไม่แพงนักก็พอ.. ฮ่าฮ่า

Einstein
หนังสือที่คุณอ่านจบเล่มล่าสุดคือเล่มไหน? เนื้อหาเกี่ยวกับอะไร?
หนังสือเล่มที่เพิ่งอ่านจบ คือ หูหาเรื่อง ของเผ่าจ้าว กำลังใจดี หนังสือรวมบทวิจารณ์ศิลปิน-ดนตรีในรูปของเรื่องสั้น ได้มาจากกองหนังสือข้างเคียงกันกับหนังสือที่กำลังอ่านอยู่ จะว่าไปหยิบหนังสือวิจารณ์บันเทิงมาอ่านนี่ก็ดูจะมีเหตุผลลึกๆ อยู่บ้าง คือสมัยเรียนหนังสือนี่มีโอกาสได้อ่านนิตยสารสีสัน เป็นประจำ ก็ได้ใช้ข้อมูลจากสีสัน ในการไปดูหนังฟังเพลงอะไรไปเรื่อยเปื่อย แต่พอชีวิตเข้าสู่วัยทำงานนี่เหมือนจะฟังเพลงอะไรน้อยลง พื้นที่ที่อยู่ก็มีการฟังเพลงอะไรต่างไปจากสมัยเรียน ก็เลยไม่ค่อยได้ติดตามสนใจอะไร ฟังเพลงไปตามกระแสที่เปิดๆ กันเท่านั้น พอเห็นหนังสือแนววิจารณ์เพลงก็ลองหยิบมาอ่านดูบ้างว่าช่วงที่ผ่านๆ มานี่มันมีอะไรที่เราพลาดไปหรือเปล่า ซึ่งก็ดูจะได้ความรู้อะไรเพิ่มเติมมามากกว่าราคาที่จ่ายไปพอควร ตอนนี้เลยมีโอกาสกลับไปหาเพลงในยูทูบจากศิลปินและอัลบั้มที่แนะนำไว้ในหนังสือมาฟังระหว่างทำงานอยู่บ้าง

หนังสือที่คุณตั้งใจจะอ่านเป็นเล่มต่อไป? เพราะอะไร?
ที่จริงหนังสือที่ตั้งใจจะอ่าน ก็คือกองหนังสือที่ไปซื้อมาอ่านแล้วยังไม่ได้อ่านนั่นแหละ มีหลายเล่มมากซึ่งบางเล่มก็อ่านๆ ไปแล้วแต่มีอะไรมาขัดจังหวะทำให้อ่านไม่จบซะที ถ้าจะให้เลือกเอามาซักเล่มก็น่าจะเป็น รุกสยามในนามของพระเจ้า เป็นวรรณกรรมขนาดยาวเขียนยั่วล้อประวัติศาสตร์ไทยในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยใช้ข้อมูลจากบันทึกจดหมายเหตุมาอ้างอิงประกอบด้วย มันสนุกก็ตรงนี้แหละ ตรงที่มันเป็นประวัติศาสตร์นิพนธ์มุมกลับที่เล่นตลกเอากับวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของคนในประวัติศาสตร์ไทย เล่มนี้อ่านไปได้พอควรแล้ว แต่ไปสะดุดความใหญ่ของหนังสือเลยทำให้เอาไปอ่านที่ไหนไม่ค่อยสะดวก ต้องอ่านไปวางไปจนสุดท้ายวางไปมากกว่าอ่านไป เลยไม่จบซักที ถ้าให้แถมอีกเล่มที่คิดจะอ่าน ก็คือเรื่อง สามก๊ก นี่แหละครับ เผอิญช่วงนึงมีโอกาสได้อ่าน โจโฉนายกตลอดกาล ของหม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เลยมีแรงกระตุ้นให้อยากกลับไปอ่านสามก๊กที่วางอยู่บนชั้นหนังสือในบ้านมานานแล้ว

Naraya

หนังสือเล่มไหนที่คุณอ่านจบแล้วและอยากแนะนำให้คนอื่นได้อ่าน พร้อมเหตุผล
สำหรับคนที่เพิ่งมาหัดอ่านหนังสือตอนโตอย่างผม ถ้าให้เลือกหนังสือที่อ่านจบแล้วอยากแนะนำให้คนอื่นอ่านต่อ ก็เป็นร้อยล่ะครับ เพราะชั่วโมงการบินด้านการอ่านน้อยเหลือเกิน คืออ่านเจออะไรดีนิดนึงก็ดีไปหมดทั้งเล่มเลยนั่นแหละ แต่ถ้าจะมีให้เลือกมาบ้างเท่าที่นึกออกก็จะมี

ติสตูนักปลูกต้นไม้ —วรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องของเด็กชายผู้มีมืออันวิเศษสามารถปลูกต้นไม้ให้งอกงามได้อย่างอัศจรรย์ แต่นอกจากต้นไม้ที่ติสตูปลูกแล้วเด็กน้อยยังปลูกความรักในหัวใจของผู้คนด้วย

โต๊ะก็คือโต๊ะ —เรื่องเล่าสำหรับเด็กที่น่าจะมี “วาทกรรม” เยอะที่สุดในโลกนี้ละ เล่มนี้อ่านตอนที่มีโอกาสกลับเข้าชั้นเรียนในช่วงที่โลกสังคมศาสตร์กำลังเข้าสู่ยุคโพสต์ และมีโอกาสรู้จักโรลองด์ บาร์ท (Roland Barthes) ซึ่งได้สร้างความเชื่อชุดใหม่ในหัวผมว่า เฮ้ย!…“อเมริกาไม่มีจริง”

ภูเขาวิหารและโดมแห่งศิลา —ข้อเขียนของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันเป็นรากฐานความขัดแย้งของยูดาห์ คริสต์และอิสลามในเขตตะวันออกกลางผ่านศาสนสถานอันเป็นที่เคารพร่วมกันของทั้งสามศาสนา เล่มนี้มาโนช พุฒตาล บุตรของฯ ยังเอ่ยปากว่าถ้าจะมีหนังสือซักเล่มที่เขียนเพื่อทำความเข้าใจความสัมพันธ์ (ขัดแย้ง) ของยิว-คริสต์-อิสลาม ก็น่าจะเป็นหนังสือเล่มนี้นี่แหละ

Dome

ผมเพียงแต่จะบอกว่า —รวมบทบรรณาธิการคัดสรร บ.ก.นิตยสารจีเอ็ม คุณปกรณ์  พงศ์วราภา คือ ถ้าเคยอ่านข้อเขียนในเว็บประเภทสิ่งที่ควรรู้ก่อนตาย สิ่งที่ควรรู้เมื่อวัย ๔๐ รู้งี้ตั้งใจเรียนตั้งแต่เด็กแล้ว ฯลฯ อะไรประมาณนี้ คือเฮียปกรณ์เค้าเขียนบอกไว้เมื่อปีมะโว้แล้วเว้ยเฮ้ย คือแกไม่ได้เขียนอะไรพรรค์อย่างนั้นจริงๆ หรอกนะครับ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่แกเขียนนี่แกได้มาจากประสบการณ์การใช้ชีวิตของแกเองนั่นแหละ และก็ถ่ายทอดด้วยคำง่ายๆ เพื่อบอกคน “หนุ่ม” รุ่นต่อๆ ไปว่า…นะชีวิตมันเป็นของมันอย่างนี้เว้ยเฮ้ยหนุ่มสาว จงใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ที่เหลือก็ไปหาอ่านเอาเองละกัน

Pakorn

จิมกระดุม —เริ่มจากจิมกระดุมกับลูคัสคนขับหัวรถจักร และต่อเนื่องไปยัง จิมกระดุมกับ 13 ป่าเถื่อน คือถ้าจะมีอะไรที่สื่อถึงคุณค่าของ Positive Thinking ล่ะก็ จิมกระดุมนี่คือหนึ่งในเรื่องราวนั้น

Jim

ขุมทรัพย์ที่ปลายฝัน (The Alchemist) —-เขียนโดยเปาโล โคเอโย (Paulo Coellho) นักเขียนชาวบราซิล แปลโดย อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เอาแค่ชื่อคนแปลก็คาดหวังได้ว่าท่านจะเชื้อเชิญให้เราออกไปค้นพบ ”ปัญญา” สมกับที่ท่านเป็นโต้โผของโครงการจัดพิมพ์หนังสือและตำรา “คบไฟ” เรื่องเล่าของเด็กหนุ่มที่ออกท่องไปในดินแดนทะเลทราย ซึ่งจะนำเราไปเรียนรู้ ค้นหาความหมายของชีวิตและ….ฯลฯ

PauloCoellho

ส่งท้าย….ผมเคยอ่านหนังสือจนเกือบเชื่อว่า You are what you read หรือแบบว่า “เฮ้ย! ถ้าคุณมึงอยากรู้จักผมก็เอาหนังสือที่ผมอ่านไปอ่านดู แล้วคุณจะรู้ว่าผมเป็นยังไง” คือ ที่ต้องบอกว่า “เกือบ” นั่นก็เพราะผมเจอมากับตัวเองว่าเพื่อนที่มันนั่งอ่านหนังสือเล่มเดียวกับเราอยู่ มันยังคิดไม่เหมือนกันเลยว่ะเฮ้ย มันก็น่าจะใช่อยู่เหมือนกันนิครับ เราถูกหล่อหลอมเติบโตขึ้นมาต่างกัน วิถีในการรับรู้เข้าใจโลกก็ต่างกัน การตีความสารที่วิ่งพล่านในโลกนี้ก็คงต่างกันไป นะไม่งั้นเราก็คงไม่เถียงกันเรื่องประชาธิปไตยกันจนเอาเป็นเอาตายหน้าดำคร่ำเครียดจนต้องมีคนมาคืนความสุขให้เราอย่างทุกวันนี้

เราไม่ได้ดีเลวเก่งแย่ถ้าไม่หรือเคยอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้หรือเล่มไหนๆ หนังสือมันรับใช้ผู้เขียนแค่เมื่อมันเขียนจบพิมพ์เป็นเล่มเท่านั้นแหละ ส่วนที่ว่ามันจะรับใช้ผู้อ่านอย่างไร ก็เป็นเรื่องของผู้อ่านแต่ละคนจะเลือกตามแนวทางของตนเอง ยังไงก็…ขอให้มีความสุขในการอ่านหนังสือที่คุณเลือกเรื่อยไปขอรับ