รีวิวหนังสือ : ตามล่านาซี (The Odessa File)

ตามล่านาซี (The Odessa File)

ตามที่ได้ตั้งใจเอาไว้ว่าปีนี้จะอ่านหนังสือ (ตามที่เขียนเอาไว้ในโพสต์นี้นะครับ) แล้วกะเอาคร่าวๆ ว่าน่าจะอ่านได้เฉลี่ยเดือนละเล่ม ๑๒ เดือนก็ ๑๒ เล่ม ก็ทยอยเก็บมาเรื่อยๆ บางช่วงก็เร็ว บางช่วงก็ช้าหน่อย แล้วแต่หน้าที่การงาน (และความขี้เกียจ) เมื่อเล่มที่แล้วผมก็บรรลุจุดหมาย ๑๒ เล่มเป็นที่เรียบร้อย และคราวนี้ถือว่าทำได้เกินเป้า เป็นเล่มที่ ๑๓ ซึ่งก็คือ…

ตามล่านาซี ซึ่งแปลมาจาก The Odessa File ของ Frederick Forsyth นักเขียนชาวอังกฤษผู้ผันตัวมาจากอาชีพนักข่าว

เรื่องราวของเล่มนี้เข้าใจว่าเป็นการเอาเรื่องจริงมาแต่งเติมเพิ่มเนื้อหาและความบันเทิงเข้าไป เพราะตัวละครหลายคนมีอยู่จริง เนื้อเรื่องโดยย่อก็คือ ในวันเดียวกับที่ประธานาธิบดีเคนเนดี้ถูกลอบสังหารจนเสียชีวิต ชายชราเชื้อสายยิวคนหนึ่งที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ฆ่าตัวตายและทิ้งสมุดบันทึกเอาไว้ ซึ่งได้ตกมาอยู่ในมือของนักข่าวหนุ่มผู้เป็นตัวเอกในเรื่อง

เนื้อหาในสมุดบันทึกที่นักข่าวหนุ่มได้อ่านทำให้เขาอยู่ไม่สุข เพราะมันบอกเล่าถึงความโหดร้ายและความทุกข์ยากของการใช้ชีวิตอยู่ในค่ายนรกนาซี เป็นเรื่องราวที่ทำใจเชื่อได้ยากว่าเหตุการณ์เหล่านั้นมันเกิดขึ้นจริง ถ้าไม่ได้ฟังจากคนที่ผ่านชีวิตตรงนั้นมาจริงๆ

ในช่วงท้ายของบันทึก ชายชราเล่าว่า นาซีที่เป็นหัวหน้าค่ายนรกแห่งนั้นยังมีชีวิตอยู่แถมยังสุขสบายดี เมื่อพบว่าตนเองไม่สามารถกระชากหน้ากากนาซีและนำตัวมาลงโทษได้ ด้วยความคับแค้นใจจึงตัดสินใจฆ่าตัวตาย

หลังจากได้อ่านสมุดบันทึกแล้ว นักข่าวหนุ่มตัดสินใจที่จะตามล่าหาตัวนาซีอดีตหัวหน้าค่ายนรกผู้นี้เพื่อนำตัวมารับโทษในฐานะอาชญากรสงคราม ซึ่งทำให้เขาต้องทำอะไรหลายอย่างที่เขาไม่เคยทำ แถมยังต้องทำผิดกฎหมายและเสี่ยงต่อการถูกตามฆ่า นอกจากนี้เรื่องราวยังขยายวงออกไปเกินกว่าที่นักข่าวหนุ่มคาดคิดไว้ในตอนแรก เพราะมีมอสสาด ซึ่งเป็นหน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล กับโอเดสซา ที่เป็นหน่วยงานของนาซีโดดเข้ามาร่วมด้วย

ผู้ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตามล่าครั้งนี้ล้วนแล้วแต่มีแรงจูงใจของตัวเอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับของคนอื่น ไม่เว้นแม้แต่ตัวเอกเองที่เวลาเราอ่านไปก็จะสงสัยตงิดๆ ว่ามันจะทำไปทำไม (วะ?) จนกระทั่งมาเฉลยในตอนท้ายเรื่อง

Forsyth เขียน The Odessa File เป็นเล่มที่สอง (ออกมาในปี ๑๙๗๒ ต่อจากความสำเร็จถล่มทลายของ The Day of the Jackal ผลงานเล่มแรกที่ออกมาในปี ๑๙๗๑) โดยนอกจากจะดำเนินเรื่องตามพลอตที่ตั้งไว้ยังสอดแทรกเรื่องราวของนาซีและหน่วยงาน SS ของนาซีในยุคนั้นเอาไว้ด้วย

สนุก ลุ้นตลอดทั้งเรื่องว่าพระเอกจะตามเจอมั้ยและจะโดนตามเก็บซะก่อนมั้ย แต่ไม่ได้มาแนวแอ๊กชั่นล้างผลาญ บู๊ระห่ำแบบเจสัน บอร์น อะไรแบบนั้นนะครับ

หมายเหตุ : ผมอ่าน ตามล่านาซี ที่เป็นสำนวนแปลของคุณธนิต ธรรมสุคติ ได้ประมาณซัก ๕๐ หน้า ยอมรับว่าไม่ชินกับสำนวนที่คุณธนิตใช้ในเล่มนี้ ก็เลยไปค้นฉบับภาษาอังกฤษที่เคยซื้อเล่มมือสองเอาไว้มาอ่านต่อ อ่านติดตรงไหนค่อยหยิบของคุณธนิตมาดู ที่บอกว่าไม่ชินสำนวนที่คุณธนิตใช้นี่ก็แปลกอยู่ เพราะก่อนหน้านี้เคยอ่าน The Godfather ที่คุณธนิตแปลก็ไม่ได้รู้สึกอะไร ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นเพราะคุณธนิตแปล ตามล่านาซี เป็นเล่มแรก (หรือเล่มแรกๆ) สำนวนที่ใช้อาจจะยังไม่เข้าที่นัก ลองหยิบ The Godfather ที่คุณธนิตแปลมาเปิดดูเห็นว่าพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๒ ส่วนตามล่านาซีนี่พิมพ์ครั้งแรกปี ๒๕๑๘ ก็เลยคิดว่าน่าจะใช่

The Odessa File

The Odessa File เล่มภาษาอังกฤษที่ซื้อมือสองมา เคยเป็นหนังสือในห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมาก่อน

ตามล่านาซี
ผู้เขียน : Frederick Forsyth
ผู้แปล : ธนิต ธรรมสุคติ
สำนักพิมพ์ : มติชน (พิมพ์ครั้งที่ ๔ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๔๐)
ราคา : ๑๘๐ บาท

ตามล่านาซี (The Odessa File)

ก่อนหน้าเล่มนี้อ่านอะไรไป… 

หนังสือเล่มแรกของปี ๒๕๕๘ : Gone Girl

หนังสือเล่มที่สองของปี ๒๕๕๘ : ระวังหลัง

หนังสือเล่มที่สามของปี ๒๕๕๘ : Offscreen

หนังสือเล่มที่สี่ของปี ๒๕๕๘ : กับดักฆาตกร

หนังสือเล่มที่ห้าของปี ๒๕๕๘ : แกล้ง

หนังสือเล่มที่หกของปี ๒๕๕๘ : ลวง

หนังสือเล่มที่เจ็ดของปี ๒๕๕๘ : สารวัตรเถื่อน

หนังสือเล่มที่แปด & เก้าของปี ๒๕๕๘ : แม่ลาวเลือด

หนังสือเล่มที่สิบของปี ๒๕๕๘ : สาบสูญ

หนังสือเล่มที่ ๑๑ ของปี ๒๕๕๘ : ผู้ยิ่งใหญ่

หนังสือเล่มที่ ๑๒ ของปี ๒๕๕๘ : ห้องสมควรตาย

3 thoughts on “รีวิวหนังสือ : ตามล่านาซี (The Odessa File)

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s